xs
xsm
sm
md
lg

ความมืดไม่อาจกั้นแสงสว่างแห่งจินตนาการ...ปั้นฝันเด็กตาบอดสู่ทางแห่ง "นักวิทยาศาสตร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"Imagination is more important than knowledge" จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ หากคำกล่าวของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” เป็นจริง ย่อมหมายความว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมองเห็นเพียงอย่างเดียว และนั่นเป็น”ความหวัง”ให้คนตาบอดที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีกำลังใจที่จะทำความฝันให้เป็นความจริง

ด้วยประกายความคิดเล็กๆ ทำให้ ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และบริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย) จำกัด ได้จัด”ค่ายนักวิทยาศาสตร์ตาบอดรุ่นเยาว์” (Science for all) ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนที่มีความพิการทางสายตา แต่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ให้ได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกับเยาวชนปกติ และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาต่อในสายวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป

ทั้งนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 40 คน ประกอบด้วยเยาวชนที่มีความพิการทางสายตาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากทั่วประเทศ 20 คน และเยาวชนที่สายตาปกติ ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีอีก 20 คน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และร่วมเรียนรู้ไปกับเยาวชนที่มีความพิการทางสายตาด้วย

สำหรับภายในค่ายฯประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้มากมาย อาทิ การบรรยายพิเศษ โดย อ.วีระแมน นิยมพล อาจารย์จากวิทยาลัยราชสุดา รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุปตระกุล ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ดร.โอซาโตะ นักวิทยาศาสตร์ผู้พิการทางสายตาชาวญี่ปุ่น จบการศึกษาแพทยศาสตร์ กิจกรรมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กิจกรรมเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่นโลกแห่งกลิ่น.โลกของเสียง และโลกชีววิทยา และกิจกรรมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ต่างๆ

คนตาบอดมีทางเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ นักวิทยาศาสตร์อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า ความรู้ย่อมสำคัญกว่าข้อมูล และสิ่งที่สำคัญกว่าความรู้คือ จินตนาการ ดังนั้น ต่อให้คนอื่นสั่งสมข้อมูลมากเท่าไหร่ แต่ไม่คิดต่อก็เป็นเพียงข้อมูลขยะที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่เกิดระเบิดทางความคิด หรือที่เรียกว่า จินตนาการ” นายมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าว

นายมณเฑียร ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเรียนว่า เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการทดลอง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับคนตาบอดในการมองเห็น ดังนั้น เมื่อถึงชั่วโมงที่ต้องทำการทดลองวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อนๆในกลุ่มที่มีสายตาปกติ เขาจึงขอทำหน้าที่เป็นผู้จดบันทึกผลการทดลองในกลุ่ม พร้อมทั้งขอให้เพื่อนช่วยอธิบายภาพที่ปรากฏในการทดลองวิทยาศาสตร์ โดยที่เขาก็จินตนาการภาพตามจากการบอกเล่าของเพื่อน

จริงๆสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์อยู่ที่การมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือไม่ เพราะช่องว่างที่คนตาบอดสามารถทำได้คือ การคิดต่อเมื่อทราบผลการทดลอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนปกติมองข้าม เพราะจะหยุดเพียงการมองเห็นด้วยตาเปล่า จุดนี้จึงเป็นช่องว่างที่คนตาบอดสามารถเจาะได้ เมื่อทราบผลการทดลองวิทยาศาสตร์”

ด้าน อ.วีระแมน แสดงความเห็นว่า เมืองไทยควรขยายโลกการเรียนรู้ให้คนตาบอดได้มีโอกาสเรียนสายวิทย์เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนตาบอดมักถูกแนะนำให้เรียนเฉพาะสายศิลป์ภาษา ซึ่งเป็นการปิดกั้นมากเกินไป พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ในวัยเรียนว่า ในสมัยที่เขาสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็ตั้งใจจะสมัครเรียนสายวิทย์ เพราะชอบ แต่กลับถูกถามจากคนรับสมัครว่า จะเรียนได้อย่างไร ซึ่งต่างกับต่างประเทศที่ไม่ถามว่าคนตาบอดจะเรียนอย่างไร แต่เขาจะถามว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง

ผมอยากให้สถาบันการศึกษามองที่คะแนนและผลงานของคนตาบอดมากกว่าสภาพร่างกายของเขา เพราะถ้าเขาอยากทำ อยากเรียนรู้ เขาทำได้ สำหรับคนที่ตาบอดถ้าสนใจที่จะเรียนก็อย่าท้อ ถ้ามีใครแนะนำว่าอย่าเรียนสายวิทย์เลย เพราะมันยาก ก็ขอให้อย่าท้อ ควรตัดสินใจเรียนเลย อย่าไปคิดว่ามันเป็นอุปสรรค”

ขณะที่ ดร.โอซาโตะ ยอมรับว่า การที่มองไม่เห็นเป็นอุปสรรคในการเรียนคณะแพทยศาสตร์ เช่น เวลาตรวจเยี่ยมคนไข้ก็ต้องอาศัยเพื่อน เวลาสอบก็มีปัญหาในการอ่าน ไม่สามารถมองเห็นภาพต่างๆจากกล้องจุลทรรศน์ ได้เอง จึงต้องให้อาสาสมัครช่วยอธิบายภาพ ยิ่งฟิล์มเอกซเรย์ หากผู้อธิบายไม่มีความรู้เพียงพอก็จะทำให้เขาได้ข้อมูลไม่ครบ ดังนั้น สิ่งที่ยากในการเรียน คือการทำความเข้าใจกับภาพ

“อย่างไรก็ดี ความพิการทางสายตาช่วยให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้แตกต่างจากคนสายตาปกติ โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต เราต้องพยายามทำให้คนไข้เปิดใจ และการที่เรามองไม่เห็นเขาก็อาจจะทำให้เขาเชื่อใจไว้ใจเรามากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดที่เราได้เปรียบมากกว่าคนสายตาปกติ ดังนั้น จึงอยากให้คนตาบอดคิดว่า เราจะใช้ความสามารถพิเศษในแบบฉบับของเราให้ต่างกับคนอื่นได้อย่างไร”

ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงโอกาสที่เยาวชนที่พิการทางสายตาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ว่า ต้องขึ้นอยู่องค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ความสามารถ ซึ่งเขาเชื่อว่าเยาวชนมี และโอกาสและความพร้อมของสังคมที่จะให้การสนับสนุน ซึ่งทั้ง 2 อย่างสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลต้องให้ความสนใจและสังคมต้องช่วยเหลือกัน

“เยาวชนที่พิการทางสายตาต้องมีการพัฒนาจินตนาการและมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูล เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เด็กอาจต้องลงมือทำเอง แต่ต้องใช้ข้อมูลที่มีคนทำและนำมาศึกษาวิเคราะห์ต่อยอด ซึ่งเยาวชนสามารถทำได้ เพราะเด็กที่พิการทางสายตาจะมีความสนใจมากกว่าเด็กทั่วๆไป อย่างไรก็ดี สังคมไทยยังคงปิดโอกาสให้ผู้ที่พิการทางสายตาอยู่ในขอบเขตที่จำกัด จึงควรเปิดกว้าง โดยให้สิทธิในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน”ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

น.ส.สร้อยเพชร จิตเปลื่อง หรือ”น้องสร้อย” นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม เพราะสนใจกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ภายในค่าย ที่ชอบการทดลอง เพราะทำให้รู้สึกตื่นเต้น ได้วิเคราะห์ อีกทั้งในชั่วโมงเรียนก็ได้ทดลองร่วมกับเพื่อนๆรู้สึกสนุก และอาจารย์ก็สอนให้เป็นพิเศษด้วย

“หนูอยากเรียนสายวิทย์เพราะชอบวิทยาศาสตร์ แต่หนูไม่อยากเรียนศิลป์ภาษา เพราะคนตาบอดมักถูกแนะนำให้เรียนศิลป์ภาษา เขาบอกสายวิทย์สำหรับคนตาบอดมันยาก มันเรียนไม่ได้ แต่หนูชอบเรียนเกี่ยวกับฟิสิกส์ อนาคตอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะชอบการค้นคว้า ทดลอง ส่วนปัญหาในการมองเห็น คิดว่าไม่เป็นอุปสรรค เพราะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้อาศัยความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีจินตนาการด้วย”

นายณัฐพงษ์ ดาศรี หรือ”น้องเสือ” นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เขาสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เช่น เรื่องชั้นบรรยากาศ และดวงดาว เพราะมีโอกาสได้ฟังสารคดีบ่อยๆทำให้รู้สึกว่า เรื่องดาราศาสตร์มีความลึกลับ น่าค้นหา ที่มาเข้าค่ายก็คาดหวังที่จะได้ความรู้เพิ่มเติมนอกจากที่เรียนมา และจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับไอที และเทคโนโลยีต่างๆด้วย

“อนาคตผมอยากเรียนสายวิทย์คณิต ส่วนที่มีคนพูดว่าคนตาบอดไม่ควรเรียนสายวิทย์ เพราะยาก แต่ก่อนจะเห็นด้วย แต่พอมาฟังอาจารย์ท่านบรรยายในค่าย ก็รู้สึกว่าเราสามารถเรียนได้ เพราะไม่ใช่มีเพียงการทดลองอย่างเดียว ยังมีทฤษฎีเนื้อหาต่างๆที่ต้องเรียนรู้ จึงคิดว่าน่าจะทำได้ ส่วนปัญหาด้านสายตาก็ยอมรับเป็นอุปสรรค เพราะมองไม่เห็น แต่การที่เราไปเรียนก็ต้องมีเพื่อน ตรงนี้คิดว่าถ้าเรามีเพื่อนก็คงไม่ยากที่เรียน เพราะเพื่อนก็คงช่วยเหลือเราเวลาทำการทดลอง

น.ส.จุฑารัตน์ คำสอด “น้องปลาย” นักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะผ่านการคัดเลือกได้มาเข้าค่าย แต่พอสอบติดก็ดีใจมาก เพราะมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มานานแล้ว คิดว่าการที่มองไม่เห็นไม่เป็นอุปสรรคที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพราะในชั่วโมงเรียนต้องมีการแบ่งกลุ่มในห้องเรียน และได้ทำหน้าที่จดผลการทดลองตามที่เพื่อนบอก พร้อมทั้งใช้จินตนาการคิดตาม พอได้มาเข้าค่ายและฟังการบรรยายก็รู้สึกมีกำลังใจที่จะทำความฝันให้เป็นจริง

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเยาวชนผู้พิการทางสายตาที่มีความฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ และคาดหวังที่จะได้รับโอกาสจากสังคม และความช่วยเหลือจากเพื่อนที่มีร่างกายปกติ หากสังคมเปิดโอกาสในการเรียนรู้และยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนผู้พิการเหล่านี้ การเป็น"นักวิทยาศาสตร์ตาบอด"จะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝันสำหรับพวกเขาอีกต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น