กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดึง 2 ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งรายใหญ่ จรดปากกาลงนามใช้อาร์เอฟไอดี ส่งออกกุ้งไทย ให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ เลี่ยงปัญหาสินค้าโดนตีกลับ กระทรวงเกษตรฯ ชี้ ถ้าได้ผลดี จะขยายต่อไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่น
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมประมง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท จันทบุรี โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมกุ้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และอาร์เอฟไอดี วันนี้ (26 ต.ค.) โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานการลงนาม
ดร.ประวิช กล่าวว่า อุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย การนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และอาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification: RFID) มาใช้ในการตรวจสอบจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทย และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าได้ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่อง มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบและระบบเฝ้าระวังที่ได้มาตรฐานและให้ข้อมูลได้ถูกต้องรวดเร็วสำหรับการดำเนินการหากเกิดกรณีที่ต้องตรวจสอบสารตกค้างหรือสารปนเปื้อนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าการเกษตรของไทย
ระบบนี้จึงทำให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเกิดความมั่นใจต่อสินค้ากุ้งไทย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารของโลก ดังนโยบายครัวของโลก (Kitchen of the World) ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงการก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ดังที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง
ต่อประเด็นการนำระบบอาร์เอฟไอดีมาใช้งานจริง เขากล่าวว่า ระบบดังกล่าวซึ่งมีการวิจัยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2545 นั้นจะกล่าวว่าพัฒนาได้รวดเร็วก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าช้าไม่ทันใจ เพราะกติกาการแข่งขันของโลกการค้ามีความหลากหลายมากขึ้นจนแทบตามไม่ทัน
ต่อมา นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กุ้งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศลำดับต้นๆ มานับสิบปี แต่ละปีสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้หลายหมื่นถึงหนึ่งแสนล้านบาท เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และลูกจ้างจำนวนมาก มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก เพราะวัตถุดิบในการผลิตร้อยละ 80 ผลิตได้เองในประเทศ
“แต่ปัจจุบันเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากประเทศคู่แข่งในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ เช่น ประเทศจีนและเวียดนาม นอกจากนี้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ก็นำมาตรการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับมาใช้บังคับ การนำอาร์เอฟไอดีมาใช้ในการจัดการปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ซึ่งต่อไปอาจนำไปกับสินค้าการเกษตรชนิดอื่นๆ ด้วย” นายสุนัย กล่าว
ด้านนายไพบูลย์ ดุษฎีวุฒิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท จันทบุรี โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า บริษัทของเขาเป็นผู้ส่งออกกุ้งซึ่งมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี มีกำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน ในการเข้าร่วมโครงการนี้ ทางบริษัทได้ลงทุนในด้านอุปกรณ์และระบบโปรแกรมไปประมาณ 2.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ และจะเริ่มติดตั้งระบบอาร์เอฟไอดีในราวเดือนธ.ค. โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ ทั้งนี้ หากนำไปใช้ได้ผลดีก็จะขยายการใช้ไปสู่บริษัทส่งออกกุ้งในเครือต่อไป
ทั้งนี้ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และอาร์เอฟไอดีมาใช้ในอุตสาหกรรมกุ้งไทยนั้นพบว่า ปัจจุบัน ธุรกิจการแปรรูปกุ้ง ผู้ประกอบการต้องรวบรวมกุ้งจากหลากฟาร์ม เพื่อให้ได้ขนาดและปริมาณเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า เนื่องจากกุ้งที่ได้รับจากฟาร์มจะไม่ได้ขนาดเดียวกันทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องมีขั้นตอนการคัดเลือกและจัดเกรดให้อยู่ระดับเดียวกัน และบางครั้งต้องมีการเทรวมกุ้งจากบ่อต่างๆ ตลอดจนต้องผ่านกระบวนการแปรรูปหลายขั้นตอน
การรวบรวมและการบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบสำหรับผู้ประกอบการนั้น ต้องอาศัยแบบฟอร์มเอกสารกระดาษและการจดบันทึกจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายในแต่ละขั้นตอนการผลิตซึ่งมีปริมาณมาก การรวบรวม และตรวจสอบความถูกต้องจึงค่อนข้างลำบาก
เมื่อนำเอาเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้ในการเก็บรวมรวบข้อมูลแทนการบันทึกด้วยกระดาษ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับกุ้งจากฟาร์มเข้าโรงงาน การผลิต ตลอดจนถึงเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้ว คาดว่าจะสามารถช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บข้อมูลได้ โดยลักษณะการทำงานของระบบคือ การติดชิปอาร์เอฟไอดีในภาชนะบรรจุกุ้ง พร้อมทั้งมีเครื่องอ่านและเขียนอาร์เอฟไอดีในแต่ละขั้นตอนการผลิต ซึ่งทำให้การบันทึกข้อมูลง่ายและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังสามารถเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยวัดประสิทธิผลและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย
อนึ่ง จากเอกสารระบุว่า มูลค่ารวมของโครงการที่มีการลงนามในครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 16 ล้านบาท โดย สวทช.ให้การสนับสนุน 5 ล้านบาท พร้อมกับให้คำปรึกษา และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งแต่ละรายจะลงทุนมากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อโรงงาน โดยบริษัท ไอ อี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการและติดตั้งระบบอาร์เอฟไอดี รวมถึงบริษัท เอฟเอ็กซ์เอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการและติดตั้งระบบโปรแกรมตรวจสอบย้อนกลับ สนับสนุนเงิน 8 ล้านบาท และกรมประมง จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ และรับรองระบบที่ติดตั้งว่าได้มาตรฐานในการติดตามตรวจสอบ
ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท จันทบุรีโฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด บริษัทผู้ลงนามในครั้งนี้ จะนำระบบอาร์เอฟไอดีและโปรแกรมการตรวจสอบย้อนกลับหลับมาทดสอบภาคสนามในสภาพการใช้งานจริง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และยืนยันถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับตามเป้าหมายของโครงการ พร้อมทั้งจะเป็นโรงงานตัวอย่างเพื่อเป็นการสร้างแหล่งความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป