ท่านมุ้ยเผยเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดการสร้างหนังเพราะหนังเกิดจากเทคโนโลยี พร้อมยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีช่วยให้ค้นข้อมูลหนังประวัติศาสตร์ได้ใกล้เคียงความจริง หรือด้านเทคโนโลยีวัสดุสร้างฉากกำแพงไม้ไผ่จากโพลิเมอร์ และการใช้คอมพิวเตอร์สร้างตัวแสดงจำลองนับหมื่น แต่ชี้เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือทำให้ง่ายขึ้น แต่หนังจะดีต้องอยู่ที่ฝีมือ
วานนี้ (23 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานวันเทคโนโลยีของไทยประจำปี 2548 ที่จัดขึ้น ณ เซ็นทรัล พลาซ่า ได้มีการเสวนาเรื่องเทคโนโลยีเบื้องหลังการผลิตภาพยนตร์ โดยได้ผู้มีประสบการณ์ในการผลิตภาพยนตร์อย่าง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลหรือท่านมุ้ย และนายอรุณ ภาวิไลหรือซูโม่ตุ๋ย มาร่วมวงเสวนา โดยได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการผลิตภาพยนตร์ในเรื่อง “นเรศวร” และมีนายสุธี เสียงหวานหรือแอม นักแสดงหนุ่มเป็นผู้ดำเนินรายการ
“หนังเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีซึ่งไม่เหมือนละคร หรือละครเวที ซึ่งเทคโนโลยีไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่นัก ก็อาจจะมีในเรื่องของแสง ถ้าเป็นละครชาตรีเทคโนโลยียิ่งไม่สำคัญ เพราะสามารถเล่นได้เลย แต่หนังนั้นเกิดจากเทคโนโลยี อย่างน้อยที่สุดต้องมีกล้อง มีมาตรฐานของมัน เช่น ต้องมี 24 ภาพต่อวินาที แต่เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ตามให้มันทัน เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดการสร้างภาพยนตร์” ท่านมุ้ยกล่าวพร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าเทคโนโลยีสมัยก่อนที่อุปกรณ์เช่น เครื่องเสียงหรือกล้องต้องมีขนาดใหญ่ทำให้การเคลื่อนไหวของภาพยนตร์มีไม่มากนัก เมื่อก่อนการ ซิงค์หนัง (ใส่เสียงลงในภาพยนตร์) ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย แต่สมัยนี้ใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่ตัว
การสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อย่าง “นเรศวร” นั้น ได้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการหาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ อาทิ หาตำแหน่งของ “เมืองแคลง” ซึ่งท่านมุ้ยกล่าวว่าได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการหาตำแหน่งของเมืองดังกล่าว พร้อมทั้งเสริมอีกว่าว่าเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญในการค้นคว้าข้อมูลให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
ด้านเทคโนโลยีวัสดุท่านมุ้ยได้ยกตัวอย่างการทำฉากซึ่งใช้โพลิเมอร์เป็นส่วนสำคัญ เช่น ฉากที่มีกำแพงไม้ไผ่ซึ่งพระนเรศวรจะต้องคาบดาบปีนขึ้นนั้น ชุดเกราะที่ตัวเอกแสดงเป็นพระนเรศวรสวมและดาบที่คาบนั้นก็เป็นโพลิเมอร์เพื่อให้มีน้ำหนักเบา หรือไม้ไผ่ที่ใช้สร้างกำแพงก็ผลิตจากโพลิเมอร์ ทั้งนี้ท่านมุ้ยตรัสว่าการที่ต้องใช้โพลิเมอร์ทำไม้ไผ่เพราะ ต้องสร้างกำแพงไม้ไผ่ที่สูงขนาดตึก 3 ชั้น ซึ่งไผ่จริงที่สูงขนาดนั้นหาได้ยาก แต่ถึงมีก็เปราะและแตกง่าย แต่ไผ่ที่ทำจากโพลิเมอร์จะมีน้ำหนักและสามารถรับน้ำหนักคนได้มาก
นอกจากนี้ท่านมุ้ยยังได้ยกตัวอย่างการเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “แมสซีฟ” (Massive) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถสร้างตัวแสดงจำลองขึ้นในฉากที่ต้องใช้ตัวแสดงนับหมื่นนับพัน เช่น ฉากสู้รบ และสามารถกำหนดให้ตัวแสดงจำลองนั้นต่อสู้กันเองได้ ซึ่งมีภาพยนตร์หลายเรื่องใช้เทคนิคดังกล่าว อาทิ “ทรอย” หรือ “ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์” เป็นต้น
สำหรับซูโม่ตุ๋ยกล่าวว่าต่อไปเทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คนในการแสดง แค่เพียงยืมหน้าและเสียงไปใส่ในภาพยนตร์ก็สามารถสร้างภาพยนตร์ที่ให้ตัวแสดงคนนั้นทำอะไรก็ได้ในภาพยนตร์ โดยที่คนจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งท่านมุ้ยได้เสริมว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาตัวแสดงเสียชีวิตลงขณะที่ยังถ่ายทำภาพยนตร์ไม่จบ
อย่างไรก็ดีท่านมุ้ยไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมากๆ จะทำให้หนังดีตามไปด้วย เพราะเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือให้ใช้ที่ไม่สามารถคิดแทนได้ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับการเขียนบทประพันธ์ของกวีหลายๆ คนก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีขั้นสูง
“ไม่จริงครับ หนังไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือแต่อยู่ที่ฝีมือ คือว่าเราใช้เทคโนโลยีแต่ไม่สามารถใช้คิดแทนได้ เห็นไหมว่านักประพันธ์แต่ก่อน ใช้ปากกาเขียนเรื่อง นักประพันธ์สมัยนี้ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้แปลว่านักประพันธ์สมัยนี้จะเขียนได้ดีกว่าสมัยก่อน จนบัดนี้เราก็ยังไม่มีเช็คสเปียร์อีกคนหนึ่ง เรายังไม่มีลาวคำหอมอีกคน ซึ่งคนพวกนี้ก็ไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีทำให้การเขียนดีขึ้น แต่ว่าในเวลาเดียวกันเรื่องไม่จำเป็นต้องดีขึ้นตาม”
“อย่างภาพยนตร์ก็เหมือนกัน เทคโนโลยีดีขึ้น การตัดต่อดีขึ้น เร็วขึ้น เราสามารถที่จะใช้แสงน้อยลง อิสรภาพการถ่ายทำดีขึ้น แต่ว่าไม่จำเป็นเสมอไปว่าหนังจะดีขึ้น อย่างสปีลเบิร์ก (สตีเฟน สปีลเบิร์ก) ทำหนังยังใช้เครื่องตัดต่อแบบโบราณอยู่ แต่ว่าหนังก็ออกมาดีทันสมัย เทคโนโลยีทำง่ายขึ้นเท่านั้นเอง” ทั้งนี้ท่านมุ้ยคาดว่าต่อไปเทคโนโลยีการทำภาพยนตร์จะเป็นแบบ “เอชดี” (High definition: HD) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สร้างภาพให้มีความละเอียดและคมชัดสูง