xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่อง "กาล" และ "เวลา" ย่อๆ ใน "ประวัติย่นย่อของกาลเวลา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหนังสือวิทยาศาสตร์อย่าง “ประวัติย่อของกาลเวลา” ที่เขียนโดยนักฟิสิกส์ร่างพิการแต่สมองสมบูรณ์เกินร้อยเช่น "สตีเฟน ฮอว์กิง" จะได้รับความนิยมยาวนานนับ 17 ปี แม้หนังสือดังกล่าวจะเต็มไปด้วยทฤษฎีฟิสิกส์ยุ่งๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฮอว์กิงได้พยายามตอบคำถามพื้นฐานที่สุดของมนุษยชาตินั่นคือ “เราเป็นใคร มาจากไหน และกำลังจะไปไหน” ในเอกภพนี้

แม้ "ประวัติย่อของกาลเวลา" (A Brief History of Time) จะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูง (ยอดพิมพ์น่าจะเลย 10 ล้านเล่มทั่วโลกไปแล้ว) แต่ก็ได้รับเสียงบ่นไม่น้อยจากผู้อ่านว่าเข้าใจยาก ทำให้ "เลียวนาร์ด มโลดินาว" (Leonard Mlodinow) อาจารย์จาก "คาลเทก" ( California Institute of Technology : Caltech) เจ้าของนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องดัง "Star Trek: the Next Generation" และเป็นผู้ติดตามผลงานของฮอว์กิงอย่างใกล้ชิดจึงเสนอที่จะเรียบเรียงหนังสือขึ้นมาใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น

จากหนังสือประวัติย่อของกาลเวลา มโลดินาวได้ตัดทฤษฎีที่ทำให้หนังสือดูกลายเป็นตำรามหาวิทยาลัยออกและขยายความในบางบทเพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น แถมยังอัพเดทข้อมูลก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับหัวใจสำคัญของหนังสือ จนได้เล่มใหม่ออกมาเป็น "A Briefer History of Time" โดยมีรอฮีม ปรามาทแปลเป็นภาคภาษาไทยโดยใช้ชื่อ “ประวัติย่นย่อของกาลเวลา” 

ในขณะที่เลียวนาร์ดได้ย่นย่อประวัติของกาลเวลาลง เราก็มีความหมายที่ย่อย่นยิ่งกว่าของกาลเวลาจาก ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และยังเป็นนักฟิสิกส์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมาแสดงภาพรวมของกาลเวลาคร่าวๆ ซึ่ง ศ.ดร.สุทัศน์ได้อธิบายว่ากาลเวลาก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่นอกเหนือไปจากมิติกว้างยาว สูงที่คนทั่วไปรู้จัก การจะนัดเวลาใครสักคนจึงไม่ใช่แค่ระบุตำแหน่งแต่ต้องระบุเวลาด้วย

ในการศึกษาเรื่องเวลาในทางวิทยาศาสตร์เราคงเลี่ยงที่เอ่ยถึงอวกาศหรือเอกภพไปไม่ได้ ศ.ดร.สุทัศน์ได้ย้อนถึงความเข้าใจของปรากฏการณ์ในเอกภพที่มีนักฟิสิกส์พยายามอธิบาย อาทิ เซอร์ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) ผู้ค้นพบแรงดึงดูดและบอกแก่โลกว่าของแต่ละอย่างดึงดูดกันและกัน แต่เขาไม่เคยบอกว่าดึงดูดกันอย่างไร จนกระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) บอกว่าแรงดึงดูดเป็นผลมาจากอวกาศโค้งซึ่งเหมือนกับการการเอาลูกโบว์ลิ่งวางบนแผ่นยาง ทำให้แผ่นยางบุ๋ม ซึ่งรอยบุ๋มจะดึงให้วัตถุเข้าใกล้ลูกโบว์ลิ่งมากขึ้น

ศ.ดร.สุทัศน์กล่าวว่าไอน์สไตน์มองว่าเรขาคณิตเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เข้าใจธรรมชาติ การโค้งของอวกาศก็ทำให้เข้าใจธรรมชาติ การโค้งของอวกาศก็ทำให้ดวงดาวต่างๆ โคจรไปรอบๆดวงอาทิตย์ และไอน์สไตน์ยังพบอีกว่าดวงดาวไม่โคจรซ้ำรอยเดิมทุกปี แต่จะใช้เวลาถึง 360,000 ปีจึงจะโคจรทับวงโคจรเดิม

อีกเรื่องที่สำคัญในการศึกษากาลเวลาคือความเป็นไปได้ที่คนเราจะเดินทางข้ามเวลา ศ.ดร.สุทัศน์กล่าวว่านักทฤษฎีคิดได้แล้วการเดินทางย้อนเวลาเป็นไปได้ในระดับอิเล็กตรอนหรืออะตอมผ่าน “รูหนอน” (Worm Hole) หากแต่มนุษย์ซึ่งมีอิเล็กตรอนและอะตอมนับล้านยังไม่สามารถข้ามผ่านไปได้

“ถ้าคนเราลงไปก็ตายอย่างเดียว” ศ.ดร.สุทัศน์กล่าว พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าภายในรูหนอนจะมีแรงกระทำที่บีบรัดจนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ พร้อมกันนี้ยังตั้งคำถามว่าคนเราจะเดินทางย้อนเวลาไปทำไมกัน เพราบางครั้งอดีตก็เป็นเรื่องขมขื่น

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุทัศน์ ยังได้กล่าวถึงความฝันของนักฟิสิกส์ที่ต้องการจะมีทฤษฎีที่สามารถอธิบายทุกสิ่งในธรรมชาติได้ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ทฤษฎีคือทฤษฎีสัมพัทธภาพที่อธิบายธรรมชาติในระดับจักรวาลกับทฤษฎีควอนตัมที่อธิบายธรรมชาติในระดับอิเล็กตรอน แต่ทฤษฎีทั้ง 2 ยังมีความขัดแย้งกันซึ่งเปรียบเหมือน “มด” กับ “ช้าง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน

ศ.ดร.สุทัศน์ ยังได้ทิ้งท้ายถึงการเขียนหนังสือในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า การจะเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ให้ดีนั้นต้องมี 2 คุณสมบัติที่สำคัญคือ 1.มีความรู้วิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง และ 2.มีความสามารถพิเศษในการถ่ายทอดซึ่งจะหาคนที่มีความสามารถทั้ง 2 อย่างพร้อมกันได้ยาก อย่างไรก็ดี เราต้องส่งเสริมให้มีการเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ให้มากเพราะเราไม่สามารถปล่อยให้ความงมงายเกิดขึ้นในสังคมเราได้อีกต่อไป

"ประวัติย่นย่อของกาลเวลา" เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ใหม่แกะกล่องอีกเล่มหนึ่ง ในงานมหรกรรมหนังสือระดับชาติที่เพิ่งปิดตัวไปหมาดๆ เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) ยิ่งถ้าใครยังคงงงกับ "ประวัติย่อของกาลเวลา" ที่ฮอว์กิงเขียนมากว่า 10 ปี เชื่อว่าหนังสือ "ฉบับย่นย่อ" (และขยายรายละเอียดในบางตอน) อาจจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่อง "กาล" และ "เวลา" เพิ่มขึ้นมา...ไม่มากก็น้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น