xs
xsm
sm
md
lg

มหิดลจับมือ ม.ญี่ปุ่น-อิสราเอลเดินหน้าวิจัยสเต็มเซลล์ 7 โครงการรวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยมหิดลเดินหน้าวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด 7 โครงการ เป็นการวิจัยในคน 4 โครงการ ตั้งแต่การสร้างหลอดเลือดรักษาโรคหัวใจขาดเลือด พัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคร้ายแรง ส่วนอีก 3 โครงการเป็นการวิจัยในสัตว์

ศ.ดร.ศรีสิน คูสมิทธ์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการวิจัยและพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด หรือ Stem Cell นั้นทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮีบรู ประเทศอิสราเอล มหาวิทยาลัยโอคายามา และสถาบันการศึกษาเนื้อเยื่อ (TERC) ประเทศญี่ปุ่น โดยขณะนี้มีโครงการที่ทำอยู่ 7 โครงการ เป็นโครงการในคน 4 โครงการ และโครงการในสัตว์อีก 3 โครงการ

ทั้งนี้โครงการที่ทำในคน คือ 1.โครงการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือดของคน เพื่อสร้างหลอดเลือดที่มีความคงทนและมีความคงตัวตามธรรมชาติจากสเต็มเซลล์ที่สกัดมาจากสายสะดือของเด็ก โดยการเพาะเลี้ยงให้เกิดเป็นเซลล์บุหลอดเลือด และเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว 2.โครงการพัฒนากระตุ้นสเต็มเซลล์ให้พัฒนาเป็นเซลล์จำเพาะ เช่น เซลล์ประสาท เซลล์ตา และขยายจำนวนเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

3.โครงการพัฒนาโครงสร้างเซลล์เนื้อเยื่อจากสเต็มเซลล์ของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้กับตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการรักษาจากร่างกายของผู้ป่วย และทดลองยาที่ใช้ว่ามีการแพ้ยาหรือไม่ และ 4.การพัฒนาสเต็มเซลล์ที่มีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ที-เซลล์ ซึ่งหากวิจัยสำเร็จจะช่วยบรรเทาและรักษามะเร็งในหลอดเลือดได้ ซึ่งโครงการนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมากพอสมควร และมีแนวโน้มที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำไปใช้ต้องผ่านคณะกรรมการด้านจริยธรรมก่อน

ส่วนโครงการวิจัยในสัตว์นั้น มี 3 โครงการ คือ 1.การวิจัยโดยใช้โมเดลสัตว์เป็นต้นแบบ เพื่อศึกษาพยาธิสภาพของภูมิคุ้มกัน เช่นการใช้หนูทดลองเป็นแม่แบบ เพื่อให้เข้าใจพยาธิสภาพของการเกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือ SLE ซึ่งทำให้ได้เข้าใจพยาธิสภาพของโรคพอสมควรแล้ว และกำลังจะศึกษาการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคดังกล่าว 2. การใช้สเต็มเซลล์ในการคัดเลือกพันธุ์สัตว์ เช่น โค กระบือ ช้าง และ 3.การพัฒนาระบบการเก็บเซลล์ (Cell Bank)
กำลังโหลดความคิดเห็น