xs
xsm
sm
md
lg

ไทยไม่น้อยหน้ามะกัน รุกวิจัย "สเต็มเซลล์" ตั้งเมกะโปรเจ็กต์ รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วช.เล็กเชอร์ ประเด็น "สเต็มเซลล์" ชี้คนไทยไม่น้อยหน้ามะกัน คาดเป็นความหวังใหม่ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์อีกกว่า 128 ล้านคนทั่วโลก เผยข้อดี รักษาโรคให้หายขาดได้ ต้นทุนต่ำ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ แย้ม สธ.เตรียมดันเป็นเมกะโปรเจ็กต์ได้งบ 20 ล้านทำวิจัย ยกดอกรักเป็นกรณีตัวอย่าง

หลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์เซลล์ต้นกำเนิด เพื่อเพาะเลี้ยง ตรวจสอบและเก็บรักษาเซลล์ต้นกำเนิดทางห้องปฏิบัติการนั้น ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. ได้ออกมาอธิบายถึง “การใช้ประโยชน์สเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วย” เพื่อสร้างความเข้าใจต่อศาสตร์ทางด้านนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แจงรูปแบบของเซลล์ต้นกำเนิด ชี้ความขัดแย้งด้านศีลธรรม ทำงานวิจัยไม่คืบ

ทั้งนี้ ศ.อานนท์ ได้อธิบายหลักการทำงานของสเต็มเซลล์ว่า ในร่างกายมนุษย์จะมีเซลล์ทั้งสิ้น 100 ล้านล้านเซลล์ แบ่งเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ 220 ชนิด โดยจะมีทั้งที่ตายไปและสร้างขึ้นใหม่ตามหลักอนิจจังอยู่เสมอๆ ซึ่งปกติร่างกายคนเราก็มี "สเต็มเซลล์" (Stem Cell) หรือ "เซลล์ต้นกำเนิด" อยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้นก็จะทำให้สเต็มเซลล์ไม่สามารถทำงานได้

ทั้งนี้ การวิจัยสเต็มเซลล์ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบหลักๆ ด้วยกันคือ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ (Embryonic Stem Cell) และสเต็มเซลล์ในผู้ใหญ่ (Adult Stem Cell) ซึ่งคุณสมบัติของสเต็มเซลล์ต้องประกอบด้วย 1. แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ 2. แบ่งตัวแล้วยังคงรักษาคุณสมบัติเดิมได้ 3. เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ถ้าจำเป็น ด้านวิธีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์จะได้แก่ การใช้วิธีเซลล์บำบัด การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ และการปลูกถ่ายอวัยวะ

"กรณีการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของทารก ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นการฆ่ามนุษย์หรือไม่" เลขาธิการ วช.แจง พร้อมทั้งชี้ว่า เนื่องจากเป็นการดึงตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิที่มีอายุ 5-7 วันออกมาไว้ในจานแก้วเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นจึงดูดเซลล์จากตัวอ่อนออกมาเพาะเลี้ยงเป็นสเต็มเซลล์ต่อไป โดยวิธีการนี้จะทำให้ตัวอ่อนมนุษย์ต้องตายไป

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin - Madison) สหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองจริงแล้วในปี 2544 ซึ่งประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการประกาศจะไม่สนับสนุนทุนการวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์หลังจาก ส.ค.44 อีก

ทั้งนี้ การผลิตสเต็มเซลล์ในผู้ใหญ่ ก็มีข้อถกเถียงด้วยเช่นกันว่า เซลล์ที่ได้จะมีอายุเท่ากับอายุจริงของเจ้าของเซลล์หรือไม่ และจะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาโรคลดลงหรือไม่

เผยไทยเริ่มวิจัยสเต็มเซลล์พร้อมๆ สหรัฐฯ เมื่อ 6-7 ปีก่อน

เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ในผู้ใหญ่มาตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว พร้อมๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ชนิดนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2541 ต่อมาปี 2542 ก็เริ่มมีการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และในช่วงปลายปีเดียวกัน วช. ก็เริ่มทำการวิจัยสเต็มเซลล์อย่างเงียบๆ

จากนั้นในปี 2543 เรื่องสเต็มเซลล์เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายขึ้น จนกล่าวได้ว่าเป็น นวัตกรรมแห่งสหัสวรรษใหม่เลยทีเดียว เพราะคาดว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้กว่า 128.4 ล้านคนทั่วโลก อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน กระดูกพรุน อัลไซเมอร์ พาคินสัน ภูมิแพ้ มะเร็ง ฯลฯ อย่างไรก็ดี ประชาชนยังไขว้เขวและเข้าใจผิดในเรื่องสเต็มเซลล์มาก เนื่องจากคิดว่ามีความใกล้เคียงกับการโคลนนิ่ง

การวิจัยด้านสเต็มเซลล์เป็นศาสตร์แห่งอนาคตที่ทุกประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะถ้าประสบความสำเร็จในการค้นคว้าก็จะเป็นแนวหน้าในการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย และสามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และเป็นการแข่งขันและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก” ศ.อานนท์ กล่าว

“วช.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านนี้ จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อการวิจัยและการพัฒนาทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผลงานที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 3 เรื่องให้ไปแสดงในการประชุม Engineering Tissue Growth ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) สหรัฐอเมริกา จากจำนวนที่คัดเลือกให้แสดง 26 เรื่องจาก 24 ประเทศ

"จึงนับได้ว่าประเทศไทยมีผลงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในระดับเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าการสนับสนุนเงินงบประมาณจะน้อยกว่าประเทศอื่นก็ตาม” เลขาธิการ วช.เผย

เผยเมืองไทยมีการใช้สเต็มเซลล์รักษาจริงบ้างแล้ว

เลขาธิการ วช. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ประเทศไทยได้มีการนำสเต็มเซลล์ไปใช้ในทางบวกแล้ว เช่นกรณีของนางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ชาวบ้าน จ.นครสวรรค์ ผู้ป่วยโรคจอห์นสันซินโดรม ซึ่งแพทย์จาก รพ.ราชวิถี ได้ใช้สเต็มเซลล์รักษาร่วมกับการปลูกถ่ายรกเด็ก (Human Amniotic Memebrame) เพื่อรักษาตาข้างขวา มาเมื่อไม่กี่วันนี้

เขาอธิบายด้วยว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จำนวนครึ่งหนึ่งต้องเสียชีวิตไประหว่างการรอรับบริจาคอวัยวะ แพทย์ก็ลำบากใจที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ส่วนญาติพี่น้องก็ร้อนใจ เพราะจะซื้ออวัยวะก็ซื้อไม่ได้ อีกทั้ง ในกรณีของผู้ที่ได้รับการบริจาคอวัยวะแล้วร่างกายก็อาจเกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ได้ หากผู้ให้และผู้รับไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมต่อกันเช่น เป็นพ่อแม่หรือพี่น้องต่อกัน

แต่หากมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้งานจริงจะแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากเป็นการใช้เซลล์ตัวเองไปเพาะเลี้ยงภายนอกให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วนำกลับเข้ามาสู่ร่างกาย จึงไม่เกิดการต่อต้านแต่อย่างใด อวัยวะจากการทำสเต็มเซลล์ก็จะอยู่กับผู้ป่วยได้นานกว่า และเป็นการรักษาโรคให้หายขาดได้

ทั้งนี้ สเต็มเซลล์จากเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่ชนิดกลุ่มเนื้อเยื่อยึดต่อ หรือ เอ็มเอสซ๊ (Mesenchymal Stem Cell : MSC) 1 เซลล์ สามารถนำไปเพาะเลี้ยงให้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 100,000 – 100,000,000 ล้านเซลล์ นอกจากนี้ ศ.อานนท์ กล่าวเสริมว่า การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังเป็นการลดความทุกข์ทรมานและลดความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วย

"อย่างในกรณีต้องผ่าตัดหัวใจบายพาส (bypass)ได้อีกด้วยคือ การใช้สเต็มเซลล์แบบเซลล์บำบัดจะสามารถรักษาเซลล์หัวใจที่ตายแล้วด้วยการทำวิศวกรรมเนื้อเยื่อทำหลอดเลือด ซึ่งขณะนี้ วช.ให้ทุนแก่ผู้วิจัยทำแล้วเสร็จไปประมาณ 75% และจะมีการทดสอบและใช้จริงกับผู้ป่วยต่อไป จึงไม่ต้องผ่าตัดนำหลอดเลือดจากแขนละขามาทำหลอดเลือดเข้าหัวใจซึ่งเป็นวิธีเก่าที่ทรมานมากอีก" เลขาธิการ วช.อธิบาย

"สเต็มเซลล์" จากโครงการเรือนแสน สู่เมกะโปรเจ็กต์นับล้าน

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ ศ.อานนท์ กล่าวว่า เมื่อ 6-7 ปีก่อน วช.ได้งบประมาณในส่วนนี้เพียงหลักแสนบาท แต่ในปี 2547 ได้เพิ่มเป็น 10 ล้านบาท และในปี 2548 ได้ 20 ล้านบาท ส่วนปี 2549 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังจะทำให้เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ (Mega Project) และสร้างสถาบันเฉพาะด้านขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน

สำหรับความคืบหน้าในการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์นั้น จากเซลล์ร่างกายทั้งหมด 220 ชนิด วช. ยังสามารถผลิตสเต็มเซลล์ได้เพียง 6-7 ชนิดเท่านั้น ซึ่งเป็นการวิจัยในห้องปฏิบัติการมาตรฐานสูงและดำเนินการถูกต้องตามหลักจริยธรรมของคณะกรรมการจริยธรรมด้วย โดยภายใน 1 ปี ประเทศไทยจะสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจได้ ส่วนโรคพาคินสันและเบาหวานก็ใช้เวลาอีกไม่นาน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของโรคเป็นหลัก

ส่วนการผลิตบุคลากรในด้านนี้ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน โดยเลขาธิการ วช. กล่าวว่า บุคคลในด้านสเต็มเซลล์เป็นบุคลากรที่มีคุณค่ามาก เพราะผลิตได้ยาก ไม่ใช่นักเรียนแพทย์ทุกคนที่จะสามารถเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก โดยนักเรียนแพทย์ 10 คนจะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่สามารถทำได้

นอกจากนี้ เลขาธิการ วช. กล่าวถึงงานวิจัยที่เคยทำมาว่า ในปี 2547 คณะผู้วิจัยได้พัฒนางานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้ในผู้ใหญ่ จนกระทั่งพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงจนสำเร็จ และได้ต่อยอดผลความสำเร็จนี้เป็นโครงการบูรณาการโดยได้เชื่อมโยงกับนักวิจัยด้านต่างๆ เพื่อผลักดันงานที่ได้คิดค้นนี้สู่การใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยได้ดำเนินการในส่วนต่างๆ เช่น 1. ได้สูตรน้ำยา 2. กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกกลายเป็นเซลล์กระดูกอ่อน

3.พัฒนาเครื่องมือสำหรับทำหลอดเลือด 4. การสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิเศษ และอุปกรณ์สำหรับการติดตามพฤติกรรมของเซลล์ 5. การพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับการใช้รักษาผู้ป่วย และ 6.การสร้างระบบเครือข่ายสเต็มเซลล์

สำหรับปีงบประมาณ 2548 วช.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง 20 ล้านบาทโดยคณะผู้วิจัยได้ขยายผลและเพิ่มกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นได้แก่ 1.โครงการพิจารณาการเทคนิคการควบคุมพฤติกรรมการจำแนกชนิดของเซลล์ต้นกำเนิด 2. โครงการวิจัยสเต็มเซลล์ด้านการแสดงออกของยีนและโปรตีนเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์จำเพาะ 3. โครงการศึกษาและสร้างโครงร่าง (scaffold) สำหรับเซลล์ชนิดต่างๆ 4. โครงการงานนวัตกรรมเซลล์ต้นกำเนิด 5.โครงการเครือข่ายการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด

ส่วนประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในครั้งนี้ ศ.อานนท์ แจกแจงว่าคือ 1.คนไทยได้รับการฟื้นฟูและการรักษาโรค หรือมีเซลล์/เนื้อเยื่อทดแทนด้วยวิธีการทางวิชาการใหม่ที่วิธีเดิมรักษาไม่หาย 2.สร้างวิชาการแนวใหม่ในการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ก่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.สามารถขายเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ 4.เซลล์ต้นกำเนิด MSC พบได้ในทุกคนรวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 5.เซลล์ต้นกำเนิด MSC มีปริมาณลดลงตามอายุของคน ดังนั้นการเก็บไว้ใช้ในอนาคตเป็นโอกาสดีของแต่ละคน 6.เซลล์ต้นกำเนิด MSC สามารถนำมาเก็บแช่แข็งได้เป็นเวลายาวนาน และนำกลับมาใช้ได้

7.เซลล์ต้นกำเนิด MSC ที่ถูกเก็บในอายุขณะนั้น ยังคงประสิทธิภาพเดิมอยู่ และเมื่อนำมาใช้กับเจ้าของเซลล์ที่มีอายุล่วงไปแล้วจะได้ผลดีเหมือนกับใช้ตอนอายุที่เก็บเซลล์ 8.เซลล์ต้นกำเนิด MSC สามารถนำมากระตุ้นให้เป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ของร่างกายคนได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์บุหลอดเลือด เซลล์ระบบเลือด เซลล์กระดูก เซลล์เอ็น และเซลล์ไขมัน ซึ่งหมายถึงศักยภาพการนำเซลล์ต้นกำเนิด MSC มาใช้ในการรักษาโรคหรือทดแทนเซลล์ของระบบและอวัยวะต่างๆ

9.ประเทศไทยสามารถวิจัยและพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด MSC จากเลือดได้แล้ว 10. ลดปัญหาเรื่องปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายเนื่องจากความไม่เข้ากันทางชีววิทยา และการนำไวรัสจากสัตว์เข้าสู่คน เพราะใช้เซลล์จากคนๆ เดียวกัน 11.ตัดปัญหาเรื่องจริยธรรมเพราะไม่ต้องใช้เซลล์จากตัวอ่อนและไม่ใช่วิธีการโคลนนิ่ง

โอ่ต่างประเทศเสนอทำเซลล์บำบัดในไทย

ต่อข้อซักถามถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาหากมีการพัฒนาและนำมาใช้จริง เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ขณะนี้ มีต่างประเทศได้เข้ามาเสนอตัวในการทำเซลล์บำบัดในประเทศไทยในค่าใช้จ่ายหลักแสนถึงล้านบาท ทั้งที่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะมีต้นทุนเพียงหลักพันถึงหมื่นบาทหากคิดเฉพาะส่วนน้ำยาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไม่รวมต้นทุนการวิจัยและการลงทุนห้องปฏิบัติการ โดยจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการของแพทย์ต่อไป ซึ่งในส่วนของน้ำยาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นสามารถทำให้เจือจางและสามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งสาเหตุที่ต่างประเทศคิดค่าใช้จ่ายสูง เนื่องมาจากเขาคิดค่าวิชาเข้าไปด้วย ดังนั้นหากมีการพัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย ค่าใช้จ่ายย่อมถูกลงอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษได้จัดตั้งคลังเลือดขึ้นมานั้น ศ.อานนท์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องวิเศษเลิศเลออะไรอย่างที่คิด เพราะเป็นเพียงการไปขอเลือดจากรกของทารกที่เพิ่งคลอดมาเก็บไว้ใช้ในกรณีที่ต้องใช้และสามารถเข้ากับร่างกายผู้ป่วยได้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ วช.เองกำลังพัฒนาวิธีการทำให้เนื้อเยื่อจากรกไม่ให้ปฏิเสธเนื้อเยื่ออยู่ ถือเป็นเรื่องที่มีความโดดเด่นมาก

อย่างไรก็ดี ในการนำวิทยาการสเต็มเซลล์มาใช้งานจริงในประเทศไทยนั้น ศ.อานนท์เปิดเผยเพียงว่า เท่าที่ทราบมีการนำมาสเต็มเซลล์มารักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น