xs
xsm
sm
md
lg

ถกนักวิทย์ไทยขาดมาตรฐานใช้ "หนูลองยา" ตั้ง "พรบ.สัตว์ทดลอง" ถามหาคุณธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายท่านอาจจะลืมนึกไปว่ากว่าที่เราจะมีอาหารและยาใช้อย่างปลอดภัยนั้น จำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลองว่าอาหารและยาเหล่านั้นในจะไม่เป็นอันตรายกับเรา หลายครั้งเราจำเป็นต้อง “ฆ่า” แต่ทำอย่างไรเราจึงจะสูญเสียชีวิตพวกเขาให้น้อยที่สุด ทำอย่างไรสัตว์จึงจะไม่เจ็บปวดและทรมานหรือได้รับความกดดันจากการถูกกักขัง เป็นสิ่งที่นักวิจัยจะต้องให้ความสำคัญพอๆ กับการพัฒนางานวิจัยให้ได้มาตรฐาน

จากการสัมมนา “การเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์-การกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล” ที่จัดขึ้นโดยสภาวิจัยแห่งชาติ(วช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเพิ่งผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ทราบว่าสถานการณ์การใช้สัตว์ในงานวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นยังห่างไกลมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอยู่มาก ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของ ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุและงานสอน

“สิ่งที่ผมเห็นว่าขาดจริงๆ คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและผู้ใช้สัตว์ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ยังไงให้ได้มาตรฐานในงานวิจัย มีอะไรก็ใช้ไปอย่างนั้น ตัวนักวิจัยเองไม่เข้าใจจรรยาบรรณในการใช้สัตว์ให้ได้มาตรฐาน เป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นมา” ดร.ประดนกล่าวพร้อมทั้งชี้ถึงการขาดความพร้อมที่จะทำให้การใช้สัตว์ทดลองเป็นไม่ตามมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่สามารถควบคุมดูแลให้สัตว์อยู่ดี กินดี ไม่ติดเชื้อ รวมถึงการขาดการคำนึงถึงจรรยาบรรณการใช้สัตว์ของนักวิจัย

ดร.ประดนบอกถึงตัวเลขการใช้สัตว์ทดลองของไทยว่าอยู่ที่ประมาณ 200,000 ตัวต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนูแรท (Rat) กับหนูไมซ์ (Mice) และมีการใช้สุนัขหรือลิงบ้าง ซึ่งลิงนั้นมีใช้ในสถานศึกษาพร้อมชี้ตัวเลขเท่าที่ทราบว่ามีอยู่ 18 ตัว เป็นลิงแสม ทั้งนี้ที่การใช้ลิงมีจำนวนประมาณนี้เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอายุยืน แต่ไม่ได้เปิดเผยชัดเจนว่าใช้ทำอะไร

การผลักดันให้นักวิจัยคำนึงถึงจรรยาบรรณการใช้สัตว์เริ่มตั้งแต่ปี 2542 โดยแต่เดิมนั้นเริ่มจากการกำหนดจรรยาบรรณของนักวิจัยแต่พบว่าลุล่วงได้ยากหากไม่กำหนดมาตรฐานการใช้สัตว์ทดลอง เพราะงานวิจัยหลายชิ้นต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ แต่พบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา มีผู้ใช้สัตว์จำนวนไม่น้อยละเลยคุณธรรมที่พึงมีต่อสัตว์ ขาดการคำนึงถึงชีวิตสัตว์ที่จะต้องสูญเสียไปในการทดลองแต่ละครั้ง ขาดการคำนึงว่าวิธีการที่จะนำมาใช้นั้นทำให้เกิดความทรมานและเจ็บปวด รวมถึงความกดดันที่สัตว์จะได้รับ

ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก ประธานคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติการเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่ว่างานทางด้านศิลปะหรือวิทยาศาสตร์จะเกิดความก้าวหน้าได้ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐสภาโดยออกกฎหมายรับรอง จึงจำเป็นที่จะต้องออกพระราชบัญญัติการเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้เวลาในการร่าง 6 เดือน และจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

ประธานร่าง พรบ.กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยการทำร้ายให้สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ต้องห้ามอย่างวัว ควายต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมานหรือตายไปนั้น มีโทษเพียงการทำให้เสียทรัพย์ ต่างจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการดำเนินงานและการคุ้มครองสัตว์ที่มีคุณภาพกว่ามาก พร้อมทั้งกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกรอบขึ้นมาควบคุมเนื่องจากความระมัดระวังในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

ดร.เจษฎ์กล่าวว่า พรบ.ที่ร่างขึ้นมานั้นมีเกณฑ์คล้ายกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์ที่อยู่แล้ว ทั้งนี้การใช้สัตว์นั้นจะต้องเป็นสิ่งจำเป็นโดยเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากและสาธารณะ อีกทั้งความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ติดตามได้ยากขึ้น จึงคำนึงแค่กรอบการทดลองแบบเดิมๆ ไม่ได้ พรบ.จึงได้ควบคุมไปถึงการโคลนนิงและการดัดแปลงพันธุ์กรรมด้วย

สำหรับแผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสัตว์ทดลอง พ.ศ.2549-2552 ซึ่งอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีนั้นมีหลักสำคัญๆ 6 ข้อ 1.ปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในหน่วยงานที่ใช้สัตว์ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่ง ดร.ประดนยังชี้ว่าปัญหาอยู่ที่การขาดสถานที่และอุปกรณ์ที่จะให้การเลี้ยงสัตว์ได้มาตรฐาน ทั้งนี้แม้มีบุคลากรที่เก่งแต่ขาดปัจจัยสำคัญเหล่านี้ก็ไม่สามารถสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นได้ 2.สนับสนุนให้มีการผลิตและบริการสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้ทุกรูปแบบ

3.พัฒนาบุคลากรและหลักสูตรที่จะทำให้การใช้สัตว์เป็นไปอย่างมาตรฐานนั่นคือ “กินดี อยู่ดี ไม่เครียด ไม่ติดเชื้อ” ซึ่ง ดร.ประดนกล่าวว่าเป็นสิ่งที่รู้กันโดยหลักวิชาอยู่แล้ว 4.สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์ วิธีเลี้ยง รวมถึงการวิจัยเพื่อหาวิธีทดแทนการใช้สัตว์ 5.ส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนสนใจผลิตหรือนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้การเลี้ยงสัตว์ได้คุณภาพ และ 6.กำกับดูแลการใช้สัตว์ให้มีการพัฒนาตามแผนกลยุทธ์และกรอบจรรยาบรรณการใช้สัตว์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการจัดมาตรฐานวิธีการปฏิบัติการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองหรือเอสโอพี (Standard Operation Procedure: SOP) นั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงานโดยมีหลักการตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่จะไม่ทำให้สัตว์ต้องเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมาน ซึ่งมีหลักที่ต้องคำนึงคือ 3R ได้แก่ Replacement คือการพิจารณาวิธีอื่นใดที่จะสามารถนำมาทดแทนการใช้หรือไม่ Reduction คือการเลือกใช้สัตว์นั้นเพียงพอหรือเกินไปหรือไม่ และ Refinement คือการทดลองนั้นทำให้สัตว์เจ็บปวดหรือไม่ เครียดหรือไม่ ใช้สารที่เป็นพิษกับสัตว์หรือไม่ เหล่านี้เป็นหลักที่ต้องคำนึง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาโครงการที่ใช้สัตว์ทดลอง

สำหรับการพิจารณาโครงการที่ใช้สัตว์ทดลองนั้นจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่กำกับดูแล ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญๆ คือ 1.การทำงานวิจัยนั้นมีเหตุผลมีผลในการเลือกใช้สัตว์ซึ่งจะมีการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงถึงความสมเหตุสมผล 2.มีวิธีการอื่นที่จะทดแทนการใช้สัตว์หรือไม่ และการนำหลัก 3R มาใช้ หากมีความผิดเพี้ยนกรรมการจะให้แก้ไข โดยส่วนมากจะไม่มีโครงการที่เสนอไม่ผ่านเนื่องจากจะมีการตรวจสอบและแนะนำโดยกรรมการก่อน

อย่างไรก็ดีการใช้สัตว์ในการวิทยาศาสตร์อย่างมีมาตรฐานไม่เพียงแต่จะเป็นการปฏิบัติที่มีคุณธรรมต่อสัตว์เท่านั้น หากแต่ยังทำให้งานวิจัยได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย อีกทั้งเราซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากการเสียสละของชีวิตเล็กๆ จึงต้องดูแลความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีด้วย และหากเลือกได้ คงไม่ใครอยากเป็น "หนูลองยา" ที่มีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงว่าแต่ละวันจะทุกข์ทรมานหรือตายไปด้วยอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น