xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งงบ 40 ล้านพัฒนาสเต็มเซลล์ หวังปีหน้าไทยได้รักษาจริง 2-3 โรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.-วช.-มหิดลดึงงบ 40 ล้านบาทลงวิจัยสเต็มเซลล์ต่อเนื่อง 3 ปี หวังรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของคนไทยเพื่อคนไทย เผยมีช่องทางใช้รักษาราคาถูก ย้ำการทดลองทุกขั้นตอนทำถูกต้องตามหลักจริยธรรม ภายใน 1 ปี สามารถนำมาใช้รักษาได้จริง 2-3 โรค

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) วันนี้ (12 ต.ค.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีนายอนุทิน ชาญวีระกูล รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธี

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับ วช. และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ดำเนินการในปีงบประมาณ 2549-2551 และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40 ล้านบาท

“ผมคาดว่า จากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยด้านชีววิทยาและกลุ่มแพทย์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างแท้จริง และยังช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว

สำหรับข้อถกเถียงด้านจริยธรรมในการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด นายอนุทิน กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับการโคลนนิ่ง จึงต้องมีการประสานงานกับกรมประกอบโรคศิลป์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เพื่อจัดกรอบระเบียบการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อหลักจริยธรรมต่อไป

ศ. ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยนำร่องเชิงบูรณาการ สำหรับงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาสูตรน้ำยากระตุ้นเซลล์ให้เร่งการแบ่งตัว การพัฒนาเครื่องมือสำหรับทำหลอดเลือด การสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำหรับการติดตามพฤติกรรมของเซลล์ การพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับใช้รักษาผู้ป่วย และการสร้างระบบเครือข่ายการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“วช. จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และวิทยาการด้านเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้ศึกษาวิจัยแล้วให้กับบุคลากรในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดจนสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง” เลขาธิการ วช. กล่าวและว่า ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นการวิจัยพัฒนาชิ้นโบว์แดงชิ้นหนึ่งของคนไทยเพื่อคนไทย ซึ่งหากมีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีต้นกำเนิดได้เองในประเทศไทย ก็จะทำให้มีช่องทางที่จะรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในราคาที่ต่ำลงได้ เมื่อเทียบกับการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ต่อมา ศ. ศรีสิน คูสมิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล และ วช. กำลังร่วมกันศึกษาและพัฒนาวิธีการเพิ่มจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาเพาะเลี้ยง การคงสภาพเซลล์ต้นกำเนิดที่ฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยไม่ให้กลายเป็นอวัยวะอื่นที่ไม่ต้องการ รวมทั้งการระบุชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อติดตามกระบวนการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดในร่างกาย

สำหรับข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ศ.ศรีสิน เผยว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงมอบทุนและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเปรียบได้กับศูนย์รวมในการบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี บุคลากร และงบประมาณ โดยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด และห้องปฏิบัติการให้สัมฤทธิ์ผลได้โดยเร็ว

ต่อข้อถกเถียงด้านจริยธรรมในการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด ศ.ศรีสิน กล่าวว่า สังคมต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการพัฒนา มิฉะนั้นแล้ว หากประชาชนไม่เข้าใจ โครงการก็จะต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี ขอให้ความสบายใจแก่ประชาชนได้ว่า การทดลองต่างๆ ในโครงการได้ดำเนินตามหลักการด้านจริยธรรมอย่างเข้มงวด

ด้าน นพ. ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า งานระยะแรกที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการต่อไปหลังการลงนามความร่วมมือคือ จะมุ่งเน้นการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตา (Limbal Stem Cell) สำหรับรักษาผู้ป่วยที่เซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตาถูกทำลาย และการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการประยุกต์ไปสู่การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ ได้กว่า 70 ชนิด รวมถึงการจัดตั้งธนาคารเลือดสายสะดือทารกแรกเกิด (Cord Blood Bank) ที่สามารถนำเลือดสายสะดือทารกมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัยและผู้ป่วย ผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการ และโรงพยาบาล โดยการนำเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และมีความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพราะการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ถึง 10 เท่า” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ. ไพจิตร์ ยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีการวางแนวทางเพื่อการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้งานอย่างถูกหลักจริยธรรม เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติก็พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในด้านนี้แล้ว โดยจากนี้ ภายใน 1 ปี ประเทศไทยจะสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้กับการรักษาโรคในมนุษย์ได้ 2-3 โรค

กำลังโหลดความคิดเห็น