ย่างเข้าสู่เดือนตุลาคมช่วงเวลาของปลายฝน เราได้เห็นการส่งท้ายฤดูกาลด้วยฟ้าฝนที่มีอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าสิ่งที่เราได้เห็นพร้อมๆ กับพายุฝนคือ “ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า” ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีทั้งความสวยงามและอันตรายไปพร้อมๆ กัน
จากความรู้ที่ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่ระดับประถมปรากการณ์ฟ้าผ่านั้นเกิดจากประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆวิ่งลงไปยังพื้นดินหรืออาจจะวิ่งขึ้นจากพื้นดินขึ้นไปยังประจุก็ได้แต่อย่างหลังนั้นพบเห็นไม่บ่อยนัก และฟ้าผ่ายังเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆโดยการวิ่งไปมาของประจุได้ด้วย ฟ้าผ่าแต่ละครั้งจะเกิดความต่างศักย์เป็นพันล้านโวลต์ซึ่งมากพอที่จะให้หลอดไฟขนาด 100 วัตต์สว่างนานถึง 3 เดือน
ฟ้าผ่าครั้งหนึ่งกินเวลาเพียงครึ่งวินาทีแต่ก็มีพลังงานมากพอที่จะทำให้อากาศรอบๆ ร้อนกว่าผิวของดวงอาทิตย์ถึง 5 เท่า ซึ่งจากการศึกษาประมาณกันว่าผิวดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิประมาณ 6,000 องศาเซลเซียส อากาศจึงขยายตัวและสั่นกลายเป็นเสียงดังโครมครามที่ให้เราสะดุ้ง
ทั้งนี้ก้อนเมฆที่ก่อตัวในช่วงฝนฟ้าคะนองนั้นก็เหมือนกับตัวเก็บประจุอ้วนๆ บนท้องฟ้า ที่มีชื่อน่ารักๆ ว่า “คิวมูโลนิมบัส” โดยที่บริเวณด้านล่างของก้อนเมฆจะอัดแน่นไปด้วยประจุลบ ส่วนด้านบนของก้อนเมฆจะเป็นประจุบวก และเมฆชนิดเดียวกันนี้ยังพัฒนาไปเป็นพายุเทอร์นาโดได้ด้วย ส่วนคำถามว่าเกิดประจุในก้อนเมฆได้อย่างไรนั้นยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด แต่มีคำอธิบายที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการชนกันของไอน้ำในก้อนเมฆทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมา
การชนกันของไอน้ำเริ่มจากวัฏจักรของน้ำที่ระเหยเป็นไอน้ำไปรวมกันที่ชั้นบรรยากาศแล้วกลายเป็นก้อนเมฆ ซึ่งเมฆก้อนโตๆ นั้นอาจมีหยดน้ำและน้ำแข็งแขวนลอยอยู่ในอากาศหลายล้านโมเลกุล และกระบวนการระเหยและควบแน่นที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หยดน้ำเหล่านั้นต้องเจอกับการปะทะโมเลกุลอื่นๆ ในกระบวนการควบแน่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมาซึ่งเป็นสาเหตุของเสียงคำรามและสายฟ้าที่ฟาดเปรี้ยงปร้างนั่นเอง อากาศในตอนนี้เรียกว่าอยู่สถานะ “พลาสมา” ที่เต็มไปด้วยประจุทั้งบวกและลบมากมาย
ในช่วงที่เกิดพายุรุนแรงนั้นจะเกิดปรากฏการณ์ฟ้าร้อง-ฟ้าผ่าได้มาก เพราะมีอากาศที่ไหลวนรุนแรงเป็นเหตุให้มีการปะทะกันของโมเลกุลในอากาศและก้อนเมฆจนอิเล็กตรอนหลุดออกมามาก ส่วนปัจจัยที่ทำให้อากาศไหลวนรุนแรงนั้นเกิดจาก 2 สาเหตุคือมีความชื้นมากและอากาศร้อนมาก
อย่างไรก็ดีจนถึงวันนี้เราก็ยังเข้าใจปรากฏการณ์ “ฟ้าพิโรธ” นี้น้อยมาก ยังมีความลึกลับอีกมากมายที่ซ้อนตัวอยู่ในธรรมชาติ และจากสาเหตุว่าอากาศร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อากาศไหลวนรุนแรงจนกลายเป็นปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าร้อง-ฟ้าผ่า บางทีฟ้าที่ดังโครมครามในช่วงพายุอาจเป็นสัญญาณว่า “โลกร้อน” เกินไปก็ได้