xs
xsm
sm
md
lg

"เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้า” จากบ้านถึงผลงานสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักเรียนทุน JSTP ประจำปี 48 โชว์ “เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้า” ผลงานที่ใช้ได้จริง จากการสังเกตสิ่งรอบตัวมาสร้างเครื่องใช้ไม้สอย กรีดยางได้ 10 ไร่ต่อชั่วโมง ประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และยืดอายุต้นยาง ด้วยเงินลงทุนเพียง 3,000 บาท เตรียมพัฒนาต่อให้ได้น้ำยางมากขึ้น

ครอบครัวที่เข้าใจและพร้อมสนับสนุนบุตรหลานของตน ให้พัฒนาตนเองและกล้าแสดงความสามารถออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ย่อมถือได้ว่า เป็นครอบครัวที่เข้มแข็งและอบอุ่นที่สุดครอบครัวหนึ่ง เนื่องจากครอบครัวเปรียบได้กับเสาหลักที่ค้ำจุนร่างกายและจิตใจของสมาชิกผู้อยู่อาศัยทุกคน โดยเฉพาะกับบุตรหลานของพวกเขาเอง ซึ่งเมื่อเสาหลักค้ำจุนมีความหนักแน่นมั่นคงแล้ว การต่อเติมบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกเลย

นายปรัชญกร เฉลิมพงศ์ หรือ “น้องหนึ่ง” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ได้รับทุนการศึกษาถึงระดับด็อกเตอร์จากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เป็นหนึ่งในผู้โชคดีเหล่านั้น ที่ได้อาศัยอยู่ในครอบครัวที่เข้มแข็งและอบอุ่นเสมอมา

ด้วยความรักความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่คือ นายโกวิท และนางกรกมล เฉลิมพงศ์ ทำให้น้องหนึ่งสามารถผลิตผลงานประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของท้องถิ่นที่น้องหนึ่งอาศัยอยู่คือ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้คนประกอบอาชีพทำสวนยางสร้างรายได้เป็นหลัก

น้องหนึ่ง เผยว่า ขณะที่เขายังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 ร.ร.สุราษฎร์พิทยา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่รับราชการครูอยู่นั้น เขาได้สังเกตเห็นว่า ในการทำสวนยางจะมีกรรมวิธีการกรีดยางเพื่อเอาน้ำยางที่ยุ่งยากพอสมควร หากไม่มีความความรู้ความชำนาญในการกรีดยางมากพอแล้ว ก็ต้องใช้เวลานาน ได้น้ำยางน้อย และทำให้ต้นยางมีอายุการให้น้ำยางสั้นลง

ด้วยเหตุนี้เอง น้องหนึ่งจึงคิดประดิษฐ์ “เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้า” ขึ้นมา ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.สุรินทร์ กิตติธรกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งน้องหนึ่ง แจกแจงว่า เขาใช้เวลาในการคิดค้นประมาณ 1 ปี และลงแรงสร้างอีก 1 เดือนจึงแล้วเสร็จ ด้วยการลองผิดลองถูก และใช้เงินลงทุนไปประมาณ 3,000 บาท โดยได้จดสิทธิบัตรแล้วเมื่อ 2- 3 เดือนก่อนหน้านี้

ด้านกลไกการทำงาน น้องหนึ่งชี้แจงว่า เป็นกลไกที่ไม่ซับซ้อนนัก ประกอบด้วย ชุดมอเตอร์พร้อมแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ และใช้หลักการเคลื่อนที่ในแนวโน้มถ่วงเพื่อสร้างเครื่องกรีดน้ำยางไฟฟ้าขึ้นมา ไม่มีหลักการอะไรที่ซับซ้อนมาก โดยมันจะทำงานได้นานประมาณ 6 ชั่วโมงต่อแบตเตอรี่ 1 ก้อน

สำหรับผลการนำเครื่องกรีดน้ำยางพาราไฟฟ้าไปใช้งานจริง พบว่า สามารถกรีดน้ำยางจากต้นยางได้เฉลี่ย 700 ต้น/ชม. หรือประมาณ 10 ไร่/ชม. เปรียบเทียบกับใช้แรงงานคน ซึ่งกรีดได้เพียง 200-300 ต้น/ชม. ตามความชำนาญ ทำให้เมื่อนำไปทดลองใช้กับต้นยางของเพื่อนบ้านแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี

“เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้าสามารถเคลื่อนที่ตามแนวกรีดที่เราต้องการและกลับไปยังจุดเริ่มต้นได้อย่างดีในเวลาต้นละ 5-7 วินาที จากปกติที่ใช้แรงงานคนกรีดต้นละ 5-10 นาที เมื่อเทียบกันแล้ว เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้าจึงทำงานได้รวดเร็วและประหยัดแรงงานกว่า” น้องหนึ่งกล่าวและว่า นอกจากนี้ ด้วยเครื่องมือดังกล่าว ยังเป็นการยืดอายุต้นยางไปในตัว เพราะกรีดยางอย่างรวดเร็ว กรีดหน้ายางได้สม่ำเสมอ ขจัดปัญหาด้านความชำนาญของผู้กรีดยางให้หมดไป และไม่ทำให้หน้ายางเสีย จึงได้น้ำยางมาก

ทั้งนี้ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้าคือ สามารถติดตั้งใช้กับต้นยางได้สะดวก ด้วยการตอกตะปู 2 ตัวไว้ที่ต้นยาง เว้นระยะห่างในแนวดิ่งประมาณ ¾ ฟุต เพื่อติดตั้งเครื่องกรีดน้ำยาง นอกจากนี้ น้องหนึ่งยังได้คิดวิธีกรีดยางให้สะดวกขึ้นไปอีก ด้วยการใส่เกลียวเหล็กที่มีความยาวเดียวกับระยะห่างของตะปูทั้ง 2 ตัว เพื่อให้การกรีดยางครั้งต่อไปจะไม่กรีดซ้ำรอยเดิมอีก อันจะทำให้ต้นยางมีอายุการให้น้ำยางสั้นลง

“เกลียวเหล็กจะเป็นตัวบอกตำแหน่งที่เราจะใช้กรีดยางในวันถัดไป ซึ่งเมื่อเรากรีดยางวันนี้เสร็จแล้ว วันต่อมา เราก็ปรับเกลียวให้ลงมา 1 รอบตามจุดเครื่องหมายที่อยู่ด้านบน เพื่อกรีดยางในตำแหน่งใหม่ โดยที่เกลียวเหล็กจะมีรอบเกลียวเท่ากับ 365 รอบเท่ากับจำนวนวันในหนึ่งปี” น้องหนึ่งอธิบาย

ด้านข้อจำกัด น้องหนึ่ง พบว่า มอเตอร์ยังมีกำลังไม่มากพอ จึงต้องกรีดหน้ายางก่อน เครื่องถึงทำงานได้ดี ในส่วนปริมาณน้ำยางจากการใช้เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้านั้น ยังไม่เคยทดลองวัดปริมาณดู แต่ต่อไปจะลองพัฒนาให้เครื่องสามารถพ่นสารเร่งน้ำยางไปพร้อมๆ กับกรีดยาง ทำให้ได้น้ำยางมากขึ้น ขณะที่เกิดแผลจากการกรีดยางสั้นลง ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่จะลองพัฒนาต่อไปเนื่องจากทราบว่า ในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกยางมากขึ้น และคิดว่ายังมีคนที่ชำนาญในการกรีดยางอยู่ไม่มาก เครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้าน่าจะเข้าไปช่วยได้

จากนั้นเมื่อกล่าวถึง การนำผลงานไปจัดแสดง น้องหนึ่ง กล่าวว่า เคยนำผลงานไปจัดแสดงในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาครั้งหนึ่งแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจและได้รับเสียงตอบรับดีมาก สำหรับการจัดแสดงครั้งต่อไป น้องหนึ่งเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งผลงานไปร่วมประกวดในโครงการ “คนเก่งไทยแกร่ง” ของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น และสามารถผ่านรอบ 26 คนสุดท้ายมาได้

ด้านนายโกวิท และนางกรกมล คุณพ่อคุณแม่ของน้องหนึ่ง กล่าวถึงบุตรชายที่ได้รับทุนการศึกษาจากสวทช. ว่า เป็นลูกคนเดียว นิสัยเรียบร้อย ขี้อาย อยู่ติดบ้าน ไม่ชอบไปเที่ยว ชอบเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก และสนใจเรียนต่อในด้านนี้อย่างมุ่งมั่น เวลาว่างจะใช้เวลาอยู่ในห้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ที่ผ่านมา ครอบครัวให้การสนับสนุนในทุกด้านเท่าที่ทำได้ แต่ก็ไม่ทำให้กระทบกับงานสอน สำหรับฐานะของครอบครัวก็ถือว่ามีฐานะปานกลาง ไม่ร่ำรวยเพราะต่างก็รับราชการทั้งคู่” คุณแม่ของน้องหนึ่งกล่าว และว่า แต่ก่อนน้องหนึ่งเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของเขตและเล่นขิมด้วย


“น้องหนึ่ง” จึงเป็นเยาวชนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ซึ่ง “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” เชื่อว่ายังมีช้างเผือกเช่นน้องหนึ่งอีกมากมายที่รอคอยผู้เห็นคุณค่าในสังคมไทยมาให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาเขาให้ก้าวมาสู่จุดที่ยังให้เกิดความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจแก่ตนเองและครอบครัว ดังเช่นที่น้องหนึ่งทำให้ปรากฏแก่เราในครั้งนี้เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น