xs
xsm
sm
md
lg

18 นักเรียนอัจฉริยะวิทย์รับทุนถึงด็อกเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


18 นักวิทย์รุ่นเยาว์ตบเท้ารับทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอกจาก สวทช. รองผอ.สวทช. ดีใจรัฐอนุมัติโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านวิทยาศาสตร์ เผยที่ผ่านมารัฐให้การสนับสนุนน้อยเพียง 0.2% ของจีดีพี ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 10 เท่า

วันนี้ (10 ต.ค.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีมอบทุนการศึกษาต่อเนื่องจนจบระดับปริญญาเอกแก่เด็กและเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนหรือเจเอสทีพี (Junior Science Talent Project/JSTP) จำนวน 18 ราย ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประธานในพิธี กล่าวว่า การมอบทุนการศึกษาครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เยาวชนทุกคนจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้รับการพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ตามความสนใจและความถนัดจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ โดยมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำในการทำโครงการวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะได้ความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการศึกษาในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรและได้อนุมัติงบประมาณให้กับ สวทช.เพื่อใช้ในการสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรหรือบ้านวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศได้มีสถานที่ที่ใช้ในการคิดค้น ค้นคว้า และฝึกฝนทางวิทยาศาสตร์ต่อไป” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวและชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปว่า

ในช่วงหลายปีมานี้ มีการจัดอันดับอันดับการแข่งขันของประเทศต่างๆ (IMD) อยู่เสมอๆ ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง และมีปัจจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่ถูกพิจารณามาก โดยในระยะหลังประเทศไทยมักถูกจัดอันดับในตำแหน่งสุดท้ายหรืออันดับหลังๆ มาโดยตลอด ทั้งที่ศักยภาพของประเทศไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ก็เนื่องมาจาก ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อ่อนแอ จึงเป็นตัวถ่วงให้อันดับการแข่งขันต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

รองผอ.สวทช. กล่าวอีกว่า เมื่อดูในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ ด้านการสนับสนุนเงินทุน ด้านบุคลากร และด้านผลงานที่จะตามมาทีหลัง อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ ประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก

สำหรับ 2-3 ปีหลังมานี้ มักได้ยินคำว่า เศรษฐกิจฐานความรู้ และสังคมฐานความรู้เสมอๆ ประเทศที่เจริญแล้วจะใช้ความรู้มากกว่าการใช้แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่เงินทุน แต่การสร้างทรัพยากรบุคคลก็เป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน ยิ่งเป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพด้วยแล้วยิ่งยากใหญ่ เพราะเราต้องไม่เน้นแต่ด้านปริมาณแต่เราต้องเน้นในด้านคุณภาพ ที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนในด้านการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 0.2 %ของจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะลงด้านนี้ถึง 2-3% ของจีดีพี โดยการวิจัยพัฒนามากกว่า 2 ใน 3 เกิดจากภาคเอกชน” รศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว

ทั้งนี้ การมอบทุนการศึกษาครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ภายใต้โครงการ JSTP ที่ดำเนินงานโดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2540 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยจะดำเนินการคัดเลือกเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จนถึงระดับปริญญาตรี ประมาณ 100 คน เข้าร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเชาว์ปัญญา รวมทั้งลักษณะทางจิตวิทยาด้วยข้อสอบมาตรฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าในปี 2548 นี้ จะมีอีก 2 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมในโครงการด้วยคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำหรับในปี 2548 นี้ ได้คัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ ในรอบแรกทั้งหมด 1,781 คนให้เหลือ 103 คน เข้าร่วมกิจกรรม 3 ครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากนั้นได้คัดเลือกให้เหลือ 18 คน ในรอบสุดท้าย โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ตลอดจนผลงานในรูปของโครงงานวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอ

ด้านผู้ได้รับทุนการศึกษาจาก สวทช. ทั้ง 18 รายได้แก่ 1.นายพงศกร พลจันทร์ขจร ปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายปรัชญกร เฉลิมพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3.นายครองรัฐ สุวรรณศรี ม.5 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา 4.นายรณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ ม.3 ร.ร.อุดรพิทยานุกูล 5.นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน ม.3 ร.ร.สารสาสน์เอกตรา 6.นายธีรวัฒน์ ประเสริฐอนันต์ ปี 3 ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล 7.นายอัครพล สกุลเรืองศรี ม.5 ร.ร.บดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี)

8.น.ส.ชนกานต์ สืบถวิลกุล ม.5 ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ 9.น.ส.สริตา บุณย์ศุภา ม.5 ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ 10.นายพิสิษฐ์ เกียรติกิตติกุล ม.6 ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย 11.ด.ญ.อติพร เทอดโยธิน ม.2 ร.ร. สาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน 12.นายพัฒนพงศ์ ทังสุนันท์ ม.5 ร.ร.ธีรกานท์บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 13.นายอัครวิชญ์ เอี่ยมสำอาง ม.6 ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ 14.น.ส.วราพร ชลนภาสถิตย์ ม.5 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา 15.นายชานนทร์ ศรพิพัฒน์พงศ์ ม.5 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา 16.นายกิตติรัช ดวงเอี่ยม ม.5 ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย 17.นายวนรักษ์ ชัยมาโย ปี 1 มหาวิทยาลัยมหิดล และ 18. นายชาตนิวัต สุขสำราญ ม.5 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา

นายปรัชญกร ผู้ได้รับทุนการศึกษาจากสวทช. เจ้าของผลงานเครื่องกรีดยางพาราไฟฟ้า เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษา ต่อไปจะพยายามพัฒนาเครื่องกรีดยางพาราให้สามารถเก็บน้ำยางได้มากขึ้น ขณะที่แผลจากการเปิดหน้ายางจะเป็นรอยกรีดที่สั้นลง ส่วนนายพิสิษฐ์ เจ้าของผลงานการประยุกต์กรวยรวมแสงอาทิตย์ ก็บอกเช่นเดียวกันว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับทุน โดยอนาคตอยากเป็นนักฟิสิกส์ เนื่องจากสนใจในด้านนี้ และมีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบมากคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น