เราทราบกันดีว่าในอากาศนั้นมีน้ำอยู่มากมาย สังเกตได้จากหยดน้ำที่เกาะตามแก้วน้ำหรือฝ้าตามกระจก ซึ่งเป็นผลจากการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศนั่นเอง แหล่งน้ำที่อยู่รอบตัวนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตน้ำดื่มเพื่อทดแทนการขาดแคลนแหล่งน้ำที่สะอาด ซึ่งต่อไปการดื่มน้ำจากอากาศอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากเริ่มมีเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากอากาศกระจายสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น
วันนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะพาไปดูเครื่องผลิตน้ำดื่มด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวว่าปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำมาจัดแสดงในงานประชุมอะควาเทค เอเชีย 2005 (Aquatech Asia 2005) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ระหว่างวันที่ 8-9 ต.ค.อันเป็นงานประชุมและนิทรรศการการจัดการทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับการทำงานของเครื่องผลิตน้ำจากอากาศส่วนใหญ่นั้นมีหลักการคล้ายกันคืออากาศจะถูกดึงผ่านแผ่นกรองที่กรอง จากนั้นไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นน้ำและจะผ่านกระบวนการกรองในระดับไมครอนและฆ่าเชื้อโรคโดยส่วนใหญ่จะใช้รังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวี บางบริษัทก็จะผลิตเครื่องที่สามารถทำร้อนและน้ำเย็นได้ในตัว และปริมาณความชื้นในอากาศก็มีผลต่อการผลิตน้ำได้มากหรือน้อย
ตัวอย่างแรกของเครื่องผลิตน้ำจากอากาศมาจากสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อทางการค้า “dragonfly” ของบริษัทไฮฟลักซ์ อะควาซัส จำกัด ซึ่งปัจจุบันผลิตเครื่องทำน้ำดื่มออกมา 2 รุ่น รุ่นแรกคือ T16 ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น และรุ่น M18 ที่ผลิตได้เฉพาะน้ำเย็น อัตราเฉลี่ยของการผลิตทั้งสองรุ่นอยู่ที่ 1 ลิตรต่อชั่วโมง เครื่องรุ่นแรกเพียง 42,512 บาท และเครื่องรุ่นหลังเพียง 28,512 บาท
เครื่องดึงน้ำจากอากาศอีกตัวอย่างเดินทางไกลมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องกรองน้ำของบริษัทอะควาเมกเกอร์ (AquaMaker) ซึ่งเครื่องกรองน้ำชื่อเดียวกับบริษัทนี้สามารถผลิตได้ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน โดยสามารถจุน้ำไว้ได้ 40 ลิตร และทุกๆ ชั่วโมงหากไม่มีการใช้น้ำ เครื่องก็จะทำการหมุนเวียนน้ำเพื่อกรองและกำจัดเชื้อในน้ำที่ถูกทิ้งไว้ สำหรับเครื่องกรองน้ำจากเมืองลุงแซมจะมีจอแสดงการทำงานของเครื่องกรองน้ำด้วยว่าอยู่ในขั้นตอนใด เช่น อุณหภูมิของน้ำร้อนและน้ำเย็น ค่าความชื้นของอากาศที่จะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ รวมถึงบอกว่ากำลังกรองน้ำอยู่หรือไม่
มร.อัมรอน คันจิ (Imron Khanji) รองประธานการตลาดของอะควาเมกเกอร์กล่าวว่าเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากอากาศนั้นเป็นเทคโนโลยีเก่า อีกทั้งเรายังเห็นการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้ทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่พัฒนาคือความสะอาดของน้ำที่กรองได้ว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ พร้อมทั้งบอกเล่าว่ามีหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ สำหรับประเทศไทยนั้นเหมาะที่จะไปใช้กับองค์กรใหญ่ๆ เช่น โรงแรมหรือออฟฟิศต่างๆ มากกว่า เนื่องจากราคาเครื่องค่อนข้างสูง อย่างเครื่องอะควาเมกเกอร์ก็มีราคาประมาณ 60,000 บาท
ส่วนตัวอย่างสุดท้ายเป็นเครื่องกรองน้ำที่จะเริ่มวางขายในเมืองไทยปีหน้า ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท เอชเทค เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งกรองน้ำด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิสหรืออาร์โอ (reverse osmosis:RO) และฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี กรองน้ำด้วยอัตรา 2 ลิตรต่อชั่วโมงและจุน้ำได้ 15 ลิตร โดยวันหนึ่งสามารถกรองน้ำได้ประมาณ 50 ลิตรต่อวัน ส่วนราคาอยู่ที่ 39,000 บาท ซึ่งคนไทยอาจได้ทดลองใช้ได้ง่ายกว่าตัวอย่างเครื่องกรองที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดีเช่นเดียวกับที่อัมรอนได้กล่าวไว้เทคโนโลยีการผลิตน้ำจากอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์จะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายและมีทางเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราต้องไม่ทำลายแหล่งน้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพราะยังมีอีกหลายชีวิตที่เข้าไม่ถึงทางเลือกใหม่นี้ อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติเป็นของทุกชีวิต ดังนั้นจึงไม่ควรที่ใครคนเดียวจะเอาไปครอบครอง