xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเว็บไซต์ฐานข้อมูลงานวิจัยเคมี-เภสัช วอนรัฐหนุนนักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยม.เกษตรฯ เปิดตัวเว็บไซต์ฐานข้อมูลการวิจัยด้านเคมี-เภสัชของไทย แจงนักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ต่างชาติ วอนรัฐให้การสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้น 5-10 เท่า เผยปัจจุบันมีผู้ได้ทุนเพียง 10 –20 % ชี้ทุนน้อยกว่าสหรัฐฯ และสิงคโปร์แบบเทียบไม่ติด ส่งผลให้ไม่สามารถต่อยอดผลงานได้เท่าที่ควร

คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเสนอผลงานสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2546-2548” วานนี้ (4 ต.ค.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

รศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้เสนอผลงานการสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลนักวิจัยไทยทางด้านวิทยาศาสตร์เภสัชและเคมีที่มีอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลผลงานวิจัยของนักวิจัยด้านเคมีและเภสัชทั่วประเทศขึ้น โดยเฉพาะกับผลงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติ เพื่อให้นักวิจัยไทยได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าว ซึ่งได้เก็บฐานข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน และสามารถเข้าไปตรวจค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://chemiethai.sci.ku.ac.th

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานจากนักวิจัยในสถาบันการศึกษาของรัฐ ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ทั้ง 23 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยครอบคลุมผลงานการวิจัยทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 85% อย่างไรก็ตาม ผลงานที่อยู่ในฐานข้อมูลยังไม่รวมถึงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอกชน หรือบริษัทเอกชน แต่ในอนาคตจะมีการรวมในส่วนนี้เข้าไว้ในฐานข้อมูลด้วย

ด้านสิ่งที่สังเกตพบในการจัดทำฐานข้อมูล รศ.ดร.จำรัส ชี้ว่า ในการรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีล่าสุด ตั้งแต่ปี 2543-2548 พบว่า นักวิจัยของไทยมีผลงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2 เท่าของผลงานวิจัยทั้งหมดนับตั้งแต่นักวิจัยไทยได้เริ่มทำการวิจัยจนถึงปี 2543 ซึ่งเขาระบุว่า เนื่องจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยไทยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้น เช่น การก่อตั้งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.)ในปี 2538 ซึ่งมีการมอบทุนให้กับนักวิจัยหน้าใหม่ที่จบปริญญาเอกมาไม่เกิน 5 ปี (Post - Doc) รวมถึงทุนเมธีวิจัย ทุนวุฒิเมธีวิจัย และทุนเมธีวิจัยอาวุโส

เขายังพบอีกว่า มีนักวิจัยไทยอยู่จำนวนหนึ่งที่มีผลงานวิจัยชั้นยอดด้านเคมีและเภสัช คือมีผลงานมากกว่า 25 ชิ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในสถาบันการศึกษาหลายแห่งเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนักวิจัยบางรายมีผลงานวิจัยมากถึง 40 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยที่มีผลงานเฉลี่ยปีละ 1 ชิ้น อยู่ประมาณ 79 รายจากนักวิจัยในสาขาเคมีและเภสัชทั่วประเทศ 800-900 ราย

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ต้องเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ เขาตอบว่า เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ง่าย ต่างจากผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารของไทยที่เข้าถึงได้ยากกว่า อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปจะพัฒนาให้ครอบคลุมผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารในประเทศด้วย พร้อมกันนี้ เขาระบุต่อไปว่า นักวิจัยไทยยังขาดความรู้ด้านการนำผลงานไปต่อยอดในด้านการตลาดจึงไม่เกิดการประยุกต์ใช้มากเท่าที่ควร

รศ.ดร.จำรัส ยังกล่าวถึงนักวิจัยไทยด้วยว่า มีศักยภาพสูงไม่แพ้นักวิจัยต่างชาติ แต่ยังขาดสภาพแวดล้อมที่ดี และการสนับสนุนด้านการเงินที่เพียงพอ ซึ่งนักวิจัยบางรายมีผลงานขณะอยู่ต่างประเทศดีมาก แต่เมื่อกลับมาในประเทศแล้วกลับไม่มีผลงานเด่นชัดก็เนื่องมาจากเหตุผลดังกล่าว

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลงานวิจัยของประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรป ยังพบอีกว่า ผลงานวิจัยของไทยยังมีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้เพราะงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาทจากสกว.นั้นยังถือว่าน้อยมาก แม้ว่ารัฐจะให้การสนับสนุนมากขึ้นกว่าเก่าแล้วก็ตาม ทั้งนี้ทุนดังกล่าวยังถูกแบ่งไปให้กับโครงการทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก และทุนการวิจัยในสาขาอื่นๆ ของสกว.อีก 4-5 สาขา ทำให้เหลือเงินทุนจริงๆ เพียง 500-600 ล้านบาท

เขายกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีสถาบันที่สนับสนุนทุนการวิจัยมากถึง 20-30 แห่ง โดยเงินสนับสนุนที่มอบให้แก่สถาบันการศึกษาชั้นสูงของเขาเพียงแห่งเดียวเช่น เอ็ม.ไอ.ที. (M.I.T.) ก็มีมูลค่ามากกว่าทุนสนับสนุนของไทยทั้งประเทศแล้ว และเมื่อเปรียบกับประเทศสิงคโปร์แล้ว ผลงานวิจัยของไทยก็ยิ่งน้อยมาก เพราะสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุน และซื้อนักวิจัยชื่อดังมาทำงานวิจัยให้

รศ.ดร.จำรัส กล่าวต่อว่า การขาดเงินสนับสนุนที่เพียงพอนี้เองที่ทำให้เกิดข้อซักถามว่า ทำไมเมื่อส่งเรื่องขอรับทุนไปแล้วกลับไม่ได้รับทุน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว จะมีผู้ได้รับทุนจริงๆ เพียง 10-20 % จากทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งควรต้องมีอย่างน้อย 40-50% ถึงจะเพียงพอ อีกทั้งทุนสนับสนุนก็ควรเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ เขากล่าวว่า การตีพิมพ์ผลงานวิจัยของไทยก็ยังถือว่าน้อยมากด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดสิทธิบัตร และสินค้าใหม่ๆ น้อยลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาฐานข้อมูล รศ.ดร.จำรัส กล่าวว่า ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสกว.ที่จะทำให้ฐานข้อมูลนี้ยังคงอยู่ต่อไป เช่น มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัยประจำทุกเดือน โดยเชื่อว่าฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนและสถาบันราชภัฏต่างๆ มาก เพราะนักวิจัยสามารถเข้าไปตรวจค้นข้อมูลจากที่ใดก็ได้ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น