โนเบล/เอเอฟพี - 2 แพทย์จากออสเตรเลียรับรางวัลโนเบลแพทย์ปีนี้ จากการค้นพบว่ามีแบคทีเรียอยู๋ในกระเพาะอาหารทั้งๆ ที่มีสภาพเป็นกรด แถมยังเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะ นับเป็นการค้นพบที่พลิกวงการแพทย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ โดย 1 ในผู้รับรางวัลยังเคยได้รับรางวัลมหิดลอีกด้วย
เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันนี้ (3 ต.ค.) สภาโนเบล ณ สถาบันวิจัยการแพทย์คาโรลินสกาแห่งสต็อกโฮม (Stockholm’s Karolinska Institute of medical research) ในกรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดนได้ประกาศรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2548 นี้ มอบให้แก่ แบร์รี เจ มาร์แชลล์ (Barry J. Marshall) จากมหาวิทยาลัยแห่งเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia) และ เจ โรบิน วาร์เรน (J. Robin Warren) ผู้ชำนาญด้ารอายุรเวท จากประเทศออสเตรเลีย
มาร์แชลล์ในวัย 54 อาศัยอยู่ในเมืองคัลกูร์ลี (Kalgoorlie) ของเวสเทิร์นออสเตรเลียโดยทำวิจัยอยู่ที่ศูนย์วิจัยการแพทย์ควีนส์อลิซาเบธที่ 2 (QEII Medical Centre) ในเมืองเนดแลนด์ส ทั้งนี้มาร์เชลล์ เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาสาธารณสุขซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติอีกรางวัลของไทยเมื่อปี 2545 ด้วย ส่วนวาร์เรนวัย 68 ซึ่งเกิดในเมืองแอดิเลด ขณะนี้อาศัยอยู่ที่เมืองเพิร์ทซึ่งเขาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาอายุรเวช ณ โรงพยาบาลรอยัลเพิร์ท (Royal Perth Hospital) จนถึงปี 2542
ทั้งคู่ใช้เวลาหลายเดือนที่จะเลี้ยงเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้ หลังจากเกิดเหตุขัดข้องในการเลี้ยงเชื้อจากการถูกทิ้งไว้นานกว่าปกติเนื่องจากขาดเจ้าหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ และครั้งหนึ่งพวกเขาสามารถเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์นี้จนแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ในตอนแรกพวกเขาจัดแบคทีเรียนี้เข้าไปในกลุ่ม Campylobacter แต่ภายหลังได้ประกาศว่าเป็นแบคทีเรียชนิดใหม่ในตระกูล Helicobacter ซึ่งปัจจุบันทราบกันว่าแบคทีเรียในตระกูลนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์มากกว่าในมนุษย์
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทั้งมาร์แชลและวาร์เรนเริ่มที่จะรวบรวมหลักฐานเพื่อสนับสนุนความเห็นนอกรีตวงการแพทย์ของพวกเขาว่า Helicobacter pylori เป็นสาเหตุของโรคอักเสบในอวัยวะภายในหลายอย่าง การสร้างหลักฐานดูจะเป็นสิ่งยากที่จะทำให้ทุกคนเชื่อ เพราะต่างยอมรับกันว่าโรคอักเสบในกระเพาะและลำไส้นั้นมีสาเหตุจากกรด ความเครียดและอาหารเผ็ดร้อน และควรได้รับการรักษาด้วยการกินยาลดกรด
จากจุดที่ทุกคนไม่เชื่อนั่นเองนำไปสู่การตัดสินใจของมาร์แชลที่ยิ่งกว่าตัวเอกในละคร เขายอมกลืนกินสารละลายที่มีแบคทีเรียดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุของโรคอักเสบในกระเพาะจริง ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมาเขาเริ่มอาเจียนและมีอาการของโรคกระเพาะอักเสบ ซึ่งปัจจุบันทราบแล้วว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อ Helicobacter pylori
ด้านคณะกรรมการพิจารณารางวัลได้ชี้ว่า งานวิจัยของแพทย์ทั้งสองเป็นการค้นคว้าในสิ่งที่หลายคนไม่คาดว่าโรคแผลในกระเพาะจะมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ซึ่งทั้ง 2 ค้นคว้าวิจัยจนพบเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร ทั้งๆ ที่ความรู้ทางการแพทย์ก่อนหน้านั้นชี้ว่ากระเพาะอาหารไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลชีพ เพราะมีสภาพเป็นกรด อีกทั้งแบคทีเรียที่ทั้ง 2 ค้นพบก็เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ จึงทำให้การค้นพบของทั้ง 2 พลิกวงการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง
“ขอบคุณการค้นพบที่เป็นการเบิกทางแก่เราโดยมาร์แชลและวาร์เรน โรคแผลในกระเพาะที่เกิดจากน้ำย่อยจะไม่เป็นโรคเรื้อรังจากปัจจัยซ้ำๆ อีกต่อไป โดยสามารถเยียวยาด้วยหลักการสั้นๆ คือการให้ยาปฏิชีวนะและยับยั้งการปล่อยกรดในกระเพาะอาหาร” คณะกรรมการกล่าว พร้อมกันนี้ในคำสดุดีแก่ผู้ได้รางวัลโนเบลยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่องานของพวกเขาว่าในประเทศที่ร่ำรวยการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้
ทั้งนี้ก่อนการค้นพบว่าแบคทีเรียเป็นสาเหตุในปี 2525 นั้น เชื่อกันว่าความเครียดและรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นสาเหตุหลักของโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่ตอนนี้มีหลักฐานที่แน่นอนแล้วว่าแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นสาเหตุหลักถึง 90% ของโรคแผลในลำไส้ส่วนต้น และเป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น 80 %
สำหรับรางวัลที่ทั้งสองจะได้รับคือเงินรางวัล 10 ล้านโครน (1.28 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 52.608 ล้านบาท) โดยจะมีพิธีมอบรางวัล ณ ศาลาว่าการเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm's City Hall) ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของอัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้และเป็นผู้ให้กำเนิดระเบิดไดนาไมต์
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนในการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์นั้น จะมีกระบวนการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลจะมีขึ้นในเดือนกันยายนล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ก่อนหน้าการประกาศผลรางวัลจริง โดยสถาบันประกาศผลรางวัลของสภาโนเบล ณ สถาบันวิจัยการแพทย์คาโรลินสกาแห่งสต็อกโฮมหรือสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institution) ประเทศสวีเดน จะส่งคำเชิญไปยังผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้ได้รับรางวัล 3,000 คน โดยในสมัชชาจะประกอบด้วยสมาชิกผู้ได้รับเลือก 50 คน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของสถาบันคาโรลินสกา
ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ถูกประกาศครั้งแรกในปี 2444 โดยผู้ได้รับรางวัลคือ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนีชื่อ อีมิล ฟอน เบห์ริง (Emil von Behring) สำหรับผลงานการบำบัดด้วยเซรุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบำบัดโรคคอตีบ
ผู้ชนะรางวัลในปีที่แล้ว (2547) รางวัล ได้แก่นักวิจัยชาวอเมริกันได้แก่ ริชาร์ด อเล็กซ (Richard Alex) และลินดา บัค (Linda Buck) สำหรับผลการวิจัยเรื่องการรับรู้กลิ่นด้วยการอธิบายว่าเรารู้จักและจดจำกลิ่นนับพันได้อย่างไร
อีกทั้งตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นมา ผู้รับรางวัลอัลเบิร์ต แลสเกอร์ (Albert Lasker) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้ง 70 รายต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลด้วย โดยรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ได้มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลแลสเกอร์ทุกปี นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา แต่ปีนี้พลิกโผ
