สำนักงานนวัตกรรมไทยจับมือสำนักงานบริหารผู้เชี่ยวชาญของเยอรมันแสวงหานวัตกรรมในองค์กร ด้านเมืองเบียร์เสนอส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมการอำนวยให้ตัวแทนภาครัฐและเอกชนไทยเข้าไปดูงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพโดยสะดวกกลางเดือน ต.ค.นี้
วันนี้ (26 ก.ย.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้บันทึกข้อตกลงกับสำนักงานบริการผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (Senior Experten Service: SES) ของประเทศเยอรมนีในความร่วมมือสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการที่จะแสวงหานวัตกรรมในองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริการแสวงนวัตกรรม (Innovation Acquisition Services: IAS) และเป็นส่วนหนึ่งของแผนแผนสร้างองค์กรนวัตกรรมของสำนักงานฯ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเวลา 16.00 น. โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ นายไมเคิล โฮเจอร์ (Mr.Michael Hoger) อัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช.กล่าวว่า โครงการ IAS เป็นโครงการที่ดำเนินควบคู่กับโครงการ “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการสร้างโครงข่ายผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ทั้งนี้ สนช. มีความประสงค์ให้โครงการ IAS ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทยในระดับเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล องค์กร ทั้งนี้สำนักงาน SES ได้ส่ง ศ.ดร.อิง ฮานส์ เจอร์เกน ลิคฟูส (Prof. Dr.-Ing. Hanns-Jurgen Lichtfuss) มาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ สนช. เพื่อช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานของโครงการบริการแสวงนวัตกรรมและเป็นผู้ประสานงานระหว่าง สนช. กับประเทศเยอรมนี
ด้านดร.ชุมพล เที่ยงธรรม ที่ปรึกษาอาวุโส สนช.กล่าวถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าทางสำนักงาน SES ได้เสนอให้ สนช.เป็นหน่วยงานประสานงานสำหรับนำผู้เชี่ยวชาญในโครงการบริการผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสำนักงาน SES มาช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบให้เงินเปล่าโดยที่ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งยังกำหนดจัดให้มีการศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและศึกษาดูงานในสถาบันวิจัยและโรงงาน ณ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 7 - 14 ต.ค. 2548 เพื่อแสวงหาโครงการนวัตกรรมด้านอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งสิ้น 49 คนจาก 24 บริษัท
ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าศึกษาดูงานซึ่งประกอบด้วย 1.ศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมภายในงาน “ANUGA 2005” ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2.ศึกษาดูงาน ณ University of Hohenheim ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ 3.ศึกษาดูงาน ณ บริษัท BASF. ซึ่งเป็นบริษัทด้านผลิตภัณฑ์เกษตรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยจะศึกษาดูงานในส่วนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ เอนไซม์ กรดอะมิโน เป็นต้น
4.ศึกษาดูงาน ณ บริษัท Degussa ซึ่งเป็นบริษัทด้านยาและเวชภัณฑ์ สารเติมแต่งในอาหาร และสารเติมแต่งในอาหารสัตว์ โดยจะดูในส่วนของสารเติมแต่งในอาหาร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักด้านสารเติมแต่งในอาหาร ได้แก่ เชื้อจุลินทรีย์โปรไบโอติก สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และ กลิ่นแต่งอาหาร เป็นต้น และ 5.ศึกษาดูงาน ณ บริษัท CPC Deutschland GmbH ซึ่งเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น น้ำมันพืช เป็นต้น