xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องบินติดกล้อง ฝีมือนักวิทย์รุ่นเยาว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครกันหนอที่กล้าปรามาสเด็กไทยว่า “ไม่เอาไหน” น้อง “โตโต้” หรือนายวงศกร ลิ้มศิริ นักเรียนชั้น ม. 5 ร.ร.สิรินธร จ.สุรินทร์ และเพื่อนๆ เยาวชนไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “เด็กไทยก็ทำได้” ด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องบินบังคับติดกล้อง” ซึ่งสามารถคว้าที่ 1 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ประยุกต์ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์มาครองได้

“โตโต้” เปิดเผยกับ ”ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ว่า ผลงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างเขาและเพื่อนๆ ร่วมชั้นอีก 2 คนคือ น.ส.นันท์ชญา สมกล้า หรือ “น้องฝน” และ น.ส.ขวัญแก้ว มีทรัพย์ทวีกูล หรือ “น้องขวัญ” ในการดัดแปลงเครื่องบินบังคับวิทยุที่เคยเล่น นำมาติดกล้องถ่ายภาพไว้ที่ตัวเครื่องเพื่อส่งสัญญาณภาพไปยังเครื่องรับภาคพื้นดิน โดยใช้ชื่อโครงการ “การรับส่งสัญญาณภาพจากเครื่องบินบังคับเล็ก”และมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการคือ อ.อรวรรณ รัมพณีนิล

เครื่องบินบังคับจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องบินสำรวจสภาพแวดล้อม การก่ออาชญากรรม และภูมิประเทศได้ โดยใช้เวลาประดิษฐ์ร่วม 5 เดือน และเงินลงทุน 3,700 บาท ลองผิดลองถูกมาจนประดิษฐ์ได้สำเร็จ และสามารถคว้ารางวัลที่ 1 ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการวิทยาศาสตร์ประยุกต์ของสมาคมวิทยาศาสตร์ได้ในที่สุด

อีกทั้ง ยังได้สิทธิ์นำผลงานสิ่งประดิษฐ์นี้ไปแข่งขันต่อในระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31 (วทท.31) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นคราชสีมา อีกด้วย

ด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการประดิษฐ์เครื่องบินติดกล้อง น้องโตโต้ ชี้แจงว่าได้แก่ การใช้สัญญาณวิทยุแบบไร้สาย (Wireless) เพื่อบังคับเครื่องบิน การใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบตัวเครื่องและปีกเครื่องบิน และการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์

“ที่เครื่องบินจะมีตัวส่งสัญญาณภาพมายังตัวรับที่พื้นดิน ตัวรับสัญญาณภาพจะแปลงเข้าและอัดไว้ในเทปวิดีโอ แล้วจึงนำเทปวิดีโอ มาแปลงเป็นซีดี เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์อีกที ส่วนตัวโปรแกรมนั้นก็จะเป็นโปรแกรมตัดต่อทั่วๆ ไป”

โตโต้ เผยว่า โดยส่วนตัวแล้ว สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขา แต่ได้ประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์อื่นๆ มาหลายชิ้นแล้ว และสามารถคว้ามาได้หลายรางวัล เช่น ขวดดักหนูที่ทำไว้เมื่ออยู่ชั้น ป.6 จักรยานไฟฟ้าเมื่ออยู่ชั้น ม.1 เครื่องดักจับแมลงเมื่ออยู่ชั้น ม.2 และความถี่เสียงจากจิ้งหรีด (Sound Production in Cricket) เมื่ออยู่ชั้น ม. 3

สิ่งที่ได้จากการทำสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ โตโต้ กล่าวว่า ได้แก่ประสบการณ์ เพื่อนฝูง ความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าชอบอะไร และอะไรที่เหมาะสมกับเขามากที่สุด เนื่องจากขณะเรียนอยู่ชั้น ป.5 น้องโตโต้เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆ ต่างได้รับประกาศนียบัตรแล้วก็อยากได้บ้าง จึงขอคำแนะนำจากอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์เพื่อทำโครงการวิทยาศาสตร์สร้างสิ่งประดิษฐ์ดู และพบว่าเป็นสิ่งที่เขาชอบและทำเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผลการเรียนของน้องโตโต้ จัดได้ว่าเรียนดีมาก คือได้เกรดเฉลี่ย 3.7-3.8 ในสายวิทย์-คณิต

ด้านเป้าหมายในปัจจุบัน โตโต้ เปิดเผยอย่างเอียงอายและถ่อมตนว่า สิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุดในขณะนี้คือ การสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ได้

ส่วนเรื่องสิ่งประดิษฐ์นั้นคือการพัฒนาเครื่องบินบังคับให้เป็นแบบอัตโนมัติ หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle/UAV) จากนั้นก็จะลองพัฒนาด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ไปสู่จุดสงสุดของมัน คือการพัฒนาความชาญฉลาดของหุ่นยนต์ให้เป็นแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence/AI) ต่อไป โดยภาพยนตร์ที่น้องโตโต้ชอบมากที่สุดคือเรื่อง “ไอ-โรบ็อต” (I-Robot) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโลกอนาคตที่หุ่นยนต์แบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น

เมื่อถามถึงวิธีการเสาะหาความรู้เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ ก็ได้รับการเปิดเผยจากน้องโตโต้ ว่า เป็นการศึกษาเอาเองจากประสบการณ์ การใช้อินเตอร์เน็ต ผลงานการวิจัยจากต่างประเทศ รวมถึงวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับต่างๆ โดยทางบ้านจะให้กำลังใจและความช่วยเหลือตลอดมา เช่น พาไปทดลองเครื่องบินในไร่นาสวนผสมที่ทางบ้านมีอยู่เมื่อพ่อและแม่มีเวลาว่าง ด้านโรงเรียนก็ให้คำแนะนำและเงินทุน ซึ่งขณะนี้ น้องโตโต้ กำลังติดต่อขอทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยอีกทางหนึ่ง

เมื่อถามว่าเคยเหนื่อยและท้อกับสิ่งประดิษฐ์ที่ทำหรือไม่ น้องโตโต้ ตอบอย่างไม่ลังเลว่า มีท้อบ้าง แต่เมื่อคิดได้ว่าเป็นสิ่งที่ชอบ สนุกที่จะทำ ก็จะมัวท้อต่อไปไม่ได้

ด้านความคิดเห็นต่อการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 18 ก.ย.-30 พ.ย. โตโต้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีและน่าจะจัดบ่อยๆ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศต่อไป พร้อมกันนี้ โตโต้ได้ ได้กล่าวว่า “ความรู้จะต้องวิ่งมาหาเด็กบ้าง ไม่ใช่เด็กวิ่งหาความรู้เพียงฝ่ายเดียว”

ทั้งนี้ น้องโตโต้ เป็นเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนของ สวทช. รุ่นที่6 ประจำปี 2546 ซึ่งคัดเลือกจากเยาวชนทั้งสิ้น 1,001 คนทั่วประเทศจนเหลือเพียง 20 คนสุดท้ายที่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้รับทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งโครงการนี้จะเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษา-อุดมศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการประจำปี 2548 นี้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/jstp

น้องโตโต้และเพื่อนๆ จึงเป็นเยาวชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ยืดอกได้อย่างสง่างามท่ามกลางกระแสสังคมที่มักสบประมาทลูกหลานของเขาเองให้หมดกำลังใจ และไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เท่าที่ควร ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงหวังเพียงว่าภาครัฐและเอกชนจะเห็นความสำคัญในส่วนนี้ และเร่งเสริมสร้างกระแสสังคมแบบสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานไทยต่อไป เพื่อผลประโยชน์ทั้งปวงจะตกแก่คนไทยโดยถ้วนหน้ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น