xs
xsm
sm
md
lg

“ขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้ว” สุดยอดนวัตกรรมลดช่องว่างทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้ว” นวัตกรรมจาก รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ เพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้ง ลดต้นทุนการผลิต จุดประกายความหวังให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่พิการขาได้อย่างมิต้องสงสัย จนสามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมทางด้านสังคมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เตรีมพัฒนาเท้าเทียมโปรเจ็คต่อไป

ใครจะคิดว่า ถุงน่องที่มีคุณสมบัติด้านความเหนียว ยืดหยุ่นสูง มีช่องตาข่ายเล็กๆ มากมาย และสามารถสวมทับขาได้ทุกขนาด เช่นเดียวกับวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ทำขาเทียมที่เรียกว่า “ถุงสต๊อกกิเนต” (stockinette) จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้แทนสต๊อกกิเนตได้จริง หนำซ้ำยังเป็นถุงน่องใช้แล้วอีกด้วย จึงลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ต้องขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับนายสว่าง เตียวโล่ นักกายอุปกรณ์จากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส รวมถึงทางโรงพยาบาล ที่เล็งเห็นความสำคัญของขาเทียมที่มีต่อผู้พิการขาและได้พัฒนาขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้วจนเป็นจริงได้ในที่สุด

นายสว่าง ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการผลิตขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้วว่า เขาเองเป็นนักกายอุปกรณ์มีหน้าที่ต้องพัฒนาและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางด้านสุขภาพอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าปัจจุบันขาเทียมยังมีราคาแพงอยู่มาก งบประมาณที่มีอยู่มีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของถุงน่องที่คล้ายถุงสต๊อกกิเนตแล้ว เห็นว่าคล้ายๆ กัน จึงลองพัฒนาขาเทียมจากถุงน่องดู และพบว่ามันใช้งานได้จริงๆ

“ถุงสต๊อกกิเนตเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ราคาแพง ขายเป็นหลาๆ ละ ประมาณ 100 บาท ผมจึงคิดจะพัฒนาขาเทียมจากถุงน่องมาตั้งแต่ปี 2543 แต่เริ่มทำจริงๆ จังๆ ในปี 2546 โดยทางโรงพยาบาลก็ให้การส่งเสริมมาตลอด สำหรับผู้ที่พิการขา อยากให้ทุกคนที่ยังไม่มีบัตรผู้พิการได้มาทำบัตรไว้ ต่อไปจะได้ทำขาเทียมได้ และหากเกิดการชำรุดเมื่อใดก็ติดต่อขอซ่อมได้ ส่วนรางวัลที่ได้ก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ รู้สึกดีใจที่ได้รางวัล”

ส่วนขั้นตอนการผลิตขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้ว นายสว่างอธิบายว่า ทำได้โดยการนำถุงน่องใช้แล้วมาทำแบบซ้อนๆ กัน แล้วเทเรซินลงไปที่แบบเพื่อให้แบบนั้นคงรูปอยู่ได้ ซึ่งจะใช้ถุงน่อง 40 ชั้น หรือ 20 คู่ในการผลิตขาเทียมระดับใต้เข่า 1 ข้าง และใช้ 80 ชั้น หรือ 40 คู่สำหรับขาเทียมระดับเหนือหัวเข่า โดยจะมีต้นทุนการผลิตเพียง 75 บาทต่อข้าง อีกทั้งมีความแข็งแรง ทนทาน มีสีสวยงามเหมือนจริงตามสีผิวของคนป่วยด้วยการคัดเลือกสีของถุงน่อง รวมทั้งมีน้ำหนักเบา จึงเหมือนขาเทียมแบบเดิมที่มีราคาสูงถึงข้างละ 1,350 บาท

สำหรับผู้พิการขาสามารถติดต่อแจ้งความจำนงต้องการขาเทียมได้กับทางโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งโรงพยาบาลก็จะขอดูบัตรประจำตัวผู้พิการก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำแบบเบื้องต้นให้พอดีกับขาของผู้ป่วย ด้วยการนำถุงน่องใช้แล้วมาซ้อนทับกันแล้วเทเรซินให้แบบคงรูป

จากนั้นเมื่อเห็นว่าแบบที่ได้มีความพอดีกับขาผู้ป่วยแล้ว ก็จะทำขาในช่วงต่อไปด้วยวิธีการทำเดียวกันกับเบื้องต้นจนสามารถทำเป็นขาทั้งขาของผู้ป่วยได้ ต่อจากนั้นจึงนำเท้าเทียมที่กระทรวงสาธารณสุขได้บริจาคให้ไว้กับโรงพยาบาลมาต่อเป็นส่วนสุดท้าย เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีขาใหม่เป็นของตนเองแล้ว

ทั้งนี้ นายสว่าง เปิดเผยว่า ต้นทุนในการผลิตของโรงพยาบาลนั้นจะมีเพียงค่าเรซินและค่าสีเหมือนจริงเท่านั้น ส่วนถุงน่องใช้แล้วและเท้าเทียมก็ได้รับการบริจาคมาจึงไม่รวมเข้าไว้ในต้นทุน ทำให้มีต้นทุนน้อยกว่าขาเทียมแบบเก่ามาก

ดังนั้นโรงพยาบาลจึงสามารถบริจาคขาเทียมให้กับผู้พิการขาฟรี แบบไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ โดยขณะนี้ได้ทำขาเทียมให้ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 50 ข้าง และจะบริจาคต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผลการใช้งานอยู่ในเกณฑ์ดีเหมือนกับการใช้ขาเทียมแบบปกติ ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการบริจาคถุงน่องใช้แล้วเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลยังต้องการการบริจาคถุงน่องใช้แล้วอีก เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับบริการขาเทียม ซึ่งคาดว่ายังมีอยู่มาก และโดยมากแล้ว เขาเหล่านั้นมักเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม บางคนก็ยังไม่มีแม้บัตรประจำตัวผู้พิการ ซึ่งในกรณีนี้ หากทางโรงพยาบาลพบก็จะให้ไปทำบัตรที่ประชาสงเคราะห์จังหวัดโดยทันที แล้วจึงพามาทำขาเทียมให้ต่อไป

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคถุงน่องใช้แล้ว สามารถติดต่อได้ที่งานกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 0-7351-1379 ต่อ 8227 หรือ 0-1698-0255, 0-6694-1539

นอกจากนี้ เจ้าของรางวัลนวัตกรรมได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ว่า เขายังมีโครงการพัฒนาเท้าเทียมต่อไปอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบัน เท้าเทียมเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า มีราคาสูงถึง 5,000 บาทต่อข้าง ซึ่งทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลอื่นๆ ที่ใช้ขาเทียมแบบเดิมจะคิดค่าใช้จ่ายรวมขาเทียมและเท้าเทียมต่อหนึ่งข้างประมาณ 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายจ่ายที่สูงมากสำหรับผู้พิการขา

”เท้าเทียมที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังมีลักษณะส้นเท้าที่แหลมเล็ก และต้องสวมรองเท้าติดไว้ที่ขาเทียมตลอด เพราะหากเดินเท้าเปล่าแล้ว อาจหงายหลังล้มลงได้ง่าย เนื่องจากไม่สามารถถ่ายเทน้ำหนักลงเท้าได้อย่างสมดุล” นายสว่างกล่าว

“ขาเทียมจากถุงน่อง” และรวมถึงเท้าเทียมที่จะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต จึงเป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาของคนไทยที่มีค่ายิ่ง โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย รวมถึงประเทศโลกที่สามอื่นๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนบ้างของไทยเช่น พม่า กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มประเทศที่ห่างไกลออกไป เช่น เอธิโอเปีย เป็นต้น การเผยแพร่นวัตกรรมนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ต่อไปสู่ทั่วภูมิภาคในโลก ภายใต้หลักมนุษยธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน เพื่อทำให้ผู้พิการขาได้กลับมามีชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม

อ่านข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับงาน InnovAsia 2005

- “ขาเทียมจากถุงน่องใช้แล้ว” สุดยอดนวัตกรรมลดช่องว่างทางสังคม
- สนช. มอบรางวัลแก่สุดยอดนวัตกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคม
- “กร” โชว์วิชั่นชี้ไทยต้องเร่งสร้างบุคลากรวิทย์-เน้นวิจัยเพื่อการค้า
- สนช.เปิดตัวหนังสือ "กลุยทธ์การแข่งขันทางนวัตกรรม" โชว์ศักยภาพไทยสู่สากล
- ประวิชเปิดมิตินวัตกรรม : “ไม่จำเป็นต้องใหม่” แต่ใช้แก้ปัญหาได้
- สารพัด “นวัตกรรมชีวภาพ” ฝีมือคนไทยในงาน InnovAsia 2005
- “InnovAsia 2005” ระดมสารพัดไอเดียจัดการ "นวัตกรรม" แห่งเอเชียแปซิฟิก
- แป้งข้าวเจ้าในยาเม็ด - ขาเทียมจากถุงน่องคว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม
- ไอบีเอ็มพร้อมเผย 500 สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ในงาน InnovAsia 2005



กำลังโหลดความคิดเห็น