xs
xsm
sm
md
lg

ชูสถาบันดาราศาสตร์เป็นเครือข่ายการวิจัย-ศูนย์อบรมนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดวงดาว สร้างเครือข่ายเพื่อการศึกษา วิจัยให้กับคนในชาติและแสดงศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่าการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อการรองรับการวิจัยและให้บริการทางวิชาการโดยสนับสนุนการเรียนการสอนทางดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง ยังประโยชน์ต่อนักการศึกษาด้านดาราศาสตร์ ประชาชน เยาวชนและชุมชนที่สนใจต้องการศึกษาเรียนรู้

เมื่อโครงการนี้สร้างเสร็จสิ้น ประเทศไทยจะมีหอดูดาวและกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่ในมาตรฐานสากล สามารถทำให้วงการดาราศาสตร์ของเรามีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือทางดาราศาสตร์เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ที่สำคัญสามารถสร้างเครือข่ายทางวิชาการและเครือข่ายวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งเป็นศูนย์อบรมด้านดาราศาสตร์ รองรับการจัดการจัดการประชุมในระดับนานาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ทำให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับข่าวสารด้านดาราศาสตร์ที่ทันสมัยอย่างทั่วถึง เป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ยังมีการจัดนิทรรศการทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลด้านดาราศาสตร์แก่สื่อมวลชนเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมค่ายดาราศาสตร์สำหรับครูและนักเรียน และสนับสนุนการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ทั้งปริญญาตรี โทและเอก จัดการศึกษาด้านดาราศาสตร์ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ (Join Program)

นอกจากการเสริมสร้างความรู้แล้ว สถาบันฯ แห่งนี้ยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศและเพิ่มค่าความสามารถด้านการแข่งขัน ตามที่สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน IMD (International Institute for Management Development) กำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งในการจัดลำดับ อีกทั้งภายในสถาบันจะจัดสร้างหอดูดาวแห่งชาติ ซึ่งจะมีการติดตั้งกล้องดูดาวแบบอัตโนมัติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรที่เป็นกล้องดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น