รมว.วิทย์เยี่ยมชมศูนย์รับสัญญาณดาวเทียมลาดกระบัง ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ แนะให้ทำงานเชิงรุกโดยสนับสนุนข้อมูลกรณีฉุกเฉินฝ่ายบริหารโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ และต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อเสนอข้อมูลได้ทันท่วงที และอีก 2 ปีจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเองเร่งรัดให้วางแผนการตลาดขายข้อมูลดาวเทียมธีออสเป็นรูปธรรม ไม่รอใช้ประโยชน์แค่ภาพถ่ายอย่างเดียวแต่ต้องขายเพื่อได้เงินมาหมุนเวียน และเร่งประชาสัมพันธ์ข้อดี
วันนี้ (22 ส.ค.) ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้าติดตามงานของสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) ณ สถานีรับสัญญาณดาวเทียม ลาดกระบัง พร้อมทั้งมอบนโยบายการทำงานให้กับสำนักงานฯ โดยมี พลโท ดร.วิชิต สาทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. และ ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการ สทอภ. ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปกิจกรรมการดำเนินงาน
ดร.ธงชัยรายงานว่าสถานีรับสัญญาณดาวเทียมได้ดำเนินงานมากว่า 20 ปีแล้ว โดยมีจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทั้งหมด 5 จาน ซึ่งสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม NOAA, LANDSAT,RADARSAT,IRS,IKONOS และ SPOT 2, 4, 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การรับสัญญาณทั้งหมด 17 ประเทศ สำหรับข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้อย่างหลากหลาย อาทิ ใช้ในการจำแนกชิดพืชเกษตร ติดตามการบุกรุกทำลายป่า ใช้วางผังเมือง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติก็จะแจกจ่ายข้อมูลให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า
ส่วนโครงการสร้างดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกที่กำลังสร้างและจะส่งขึ้นวงโคจรในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น ดร.ธงชัยรายงานว่าจากโครงการนี้ทำให้ไทยได้รับสิทธิในการรับสัญญาณดาวเทียมสปอต 2,4,5 (SPOT 2,4,5) ของฝรั่งเศสโดยไม่คิดมูลค่า และเมื่อส่งธีออสขึ้นไปแล้วนั้น จะช่วยไปเสริมความถี่ในการถ่ายภาพทำให้สามารถรับข้อมูลดาวเทียมในพื้นที่ที่ต้องการได้ทุกวัน โดยอธิบายดาวเทียมแต่ละดวงมีกำหนดโคจรมาจุดเดิมทุก 26 วัน แต่สามารถโปรแกรมให้ดาวเทียมหันกล้องเพื่อถ่ายภาพที่ต้องการได้และดาวเทียมดวงหนึ่งจะสามารถถ่ายจุดเดิมต่อเนื่องได้เป็นเวลา 3 วัน
หลังรับฟังรายงานการดำเนินงานของ สทอภ.แล้วในเวลา 11.19 น. เป็นเวลาที่ดาวเทียมสปอต 2 โคจรผ่านพอดี ดร.ประวิชจึงได้เข้าไปดูกระบวนการรับสัญญาณดาวเทียมซึ่งจะส่งเป็นข้อมูลภาพที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการระบุพิกัดต่างๆ ก่อนนำไปใช้ จากนั้น ดร.ประวิชก็ได้มอบนโยบายการทำงานให้กับเจ้าที่และผู้เกี่ยวข้องของ สทอภ.
ดร.ประวิชกล่าวว่าจากการติดตามงานในวันนี้ได้เห็นความพร้อมของเครื่องมือที่พัฒนามากว่า 20 ปี ซึ่งมีความพร้อมในการรับสัญญาณดาวเทียมต่างๆ ที่จะสามารถนำข้อมูลไปสอดประสานเพื่อการแผนที่ที่สมบูรณ์หรือการทำระบบภูมิสารสนเทศหรือจีไอเอสที่เพิ่มข้อมูลของตำแหน่งหมู่บ้าน ตำบลและหนทางต่างๆ ได้ แต่ ดร.ประวิชได้แนะว่าควรจะเพิ่มความฉับไวในการเสนอข้อมูลให้กับฝ่ายบริหารในกรณีเกิดเหคุการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา โดยทำงานในลักษณะเชิงรุกที่ไม่ต้องรอให้มีการร้องขอข้อมูล
“อย่ารอว่าเกิดเหตุการณ์แล้วให้ฝ่ายบริหารร้องขอ แต่ขอให้คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเข้าไปช่วยตัดสินใจ ขอให้เดินหน้าแล้วให้มูลได้เลย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต้องขอข้อมูลต้นน้ำ มีอะไรมาขวางทางน้ำหรือไม่ที่ทำให้น้ำเอ่อล้น หรือว่ามีใครไปบุกรุกที่ทางต่างๆ ป่าไม้ถูกทำลายมากไปหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ สทอภ.มีหมดแล้ว แล้วเคยมีภาพถ่ายดาวเทียมอยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะทำระบบเปรียบเทียบส่งให้ผู้บริหารทราบโดยไม่ต้องเสียเวลาให้ร้องขอ”
ดร.ประวิชแนะว่าควรเตรียมการล่วงหน้าหากคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุใดขึ้น เนื่องจากในการประมวลภาพเพื่อนำไปใช้งานนั้นต้องใช้เวลา แต่ถ้าเตรียมการไว้ก่อนจะทำให้การตัดสินใจต่างๆ เกิดขึ้นได้ทันท่วงที พร้อมทั้งกล่าวชมว่าในเหตุการณ์สึนามินั้น สทอภ.สามารถทำหน้าที่ได้ดี โดยทำภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังการเกิดเหตุซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เช่นนักวิทยาศาสตร์ นักผังเมืองหรือนักปกครอง สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนทำงานได้ดี โดยทาง สทอภ.ก็รับว่าเป็นแนวความคิดที่ตรงกันอยู่แล้ว
ส่วนกรณีของดาวเทียมธีออส ดร.ประวิชกล่าวว่าจะต้องหาประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้ข้อมูลอย่างเดียว นั่นคือการทำตลาดด้วย เนื่องจากธีออสจะโคจรครอบคลุม 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศต่างๆ สามารถซื้อข้อมูลจากไทยได้ด้วย โดยเวลานี้ไทยอยู่ในเครือข่ายเดียวกับดาวเทียมสปอตของฝรั่งเศส ซึ่งมีข้อสัญญาในการสร้างดาวเทียมว่าสถานีรับฯ ทั้ง 22 ประเทศที่เคยรับสัญญาณจากดาวเทียมสปอตจะสัญญาณจากดาวเทียมสปอตซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายด้วย จึงอยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อดีพร้อมทั้งทำการตลาดเพื่อให้เกิดรายได้กลับเข้ามา แม้จะเป็นมูลค่าไม่มากแต่ก็เป็นสาระสำคัญ และอยากเร่งรัดให้มีแผนงานที่ชัดเจน
ดร.ประวิชได้ฝากแนวทางการทำงานข้อสุดท้ายนั่นคือการทำแผนที่ฐาน (Base Map) ที่ใช้สำหรับทำข้อมูลจีไอเอสให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ต่างทำแผนที่ฐานของตัวเองขึ้นมาซึ่งไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ เกิดปัญหาว่าเมื่อนำข้อมูลของแต่หน่วยกลายเป็นว่าบ้านหลังหนึ่งมีพิกัดไม่ตรงกัน จึงอยากจะเร่งรัดให้มีทิศทางในการทำงานที่เป็นมาตรฐาน
“อยากทำเพื่อให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ อาจจะมาเดิมข้อมูลแหล่งน้ำ กรมทางหลวงอาจจะมาเดิมข้อมูลถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ระบบทะเบียนบ้าน จึงจำเป็นต้องมีแผนที่ฐานนี้ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในหลักการของคณะกรรมการสารสนเทศอยู่ แนวคิดของ สทอภ.อยากให้ในพื้นที่บ้านเรือนที่มีความหนาแน่นอยากให้มีอัตราส่วน 1:4,000 ในส่วนที่เป็นบริเวณใกล้เคียงก็หยาบลงได้ป็น 1:10,000 ในบริเวณที่เป็นป่า 1:50,000 ก็น่าจะเพียงพอ”
นอกจากนี้ก่อนเดินทางกลับ ดร.ประวิชได้เยี่ยมชมการแสดงสัญญาณรับของดาวเทียมต่างๆ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการรับสัญญาณและการจัดทำข้อมูลดาวเทียม IKONOS โดยมีการสาธิตซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยและสามารถแสดงข้อมูลดาวเทียมได้เหมือนข้อมูลของ Google Earth ด้วย