เนเจอร์/เอเอฟพี/รอยเตอร์ – “หวาง วู-ซก” ทำแฮตทริกสร้างผลงานอันน่าตื่นเต้นปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี โชว์ “สนัปปี้” สุนัขโคลนนิงตัวแรกของโลกสู่สาธารณะ หลังจากเพิ่งเปิดเผยไปหมาดๆ ว่าเขาและนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ พร้อมด้วยเจ้าของแกะดอลลีกำลังซุ่มสร้างผลงานครั้งสำคัญ โดยหวังจะใช้การโคลนนิงสุนัขเป็นตัวอย่างหาผลดีผลเสียก่อนการโคลนนิงมนุษย์
ทีมนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ได้ประกาศวานนี้ (3 ส.ค.) ว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการโคลนนิงสุนัขตัวแรกของโลก ซึ่งทำสำเนาเลียนแบบสุนัขอาฟกัน ฮาวนด์ (Afghan Hound) เพศผู้วัย 3 ปี โดยการโคลนนิงครั้งนี้ใช้เทคนิควิธีเดียวกับ “แกะดอลลี” เจ้าสุนัขลอกแบบที่ทีมนักวิจัยเกาหลีนำมาโชว์นี้มีนามว่า “สนัปปี้” (Snuppy) อันย่อมาจาก “Seoul National University puppy” หรือ ลูกหมาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล
”สนัปปี้” เกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ถูกเก็บซ่อนหลบสายตาชาวโลกอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ในเกาหลีใต้เป็นเวลากว่า 9 สัปดาห์ เจ้าหมาตัวนี้แม้ว่าจะกำเนิดออกจากท้องของลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สีเหลือง แต่เจ้าสนัปปี้กลับมีขนสีดำ แทนและขาว และลักษณะทางดีเอ็นเอเหมือนกับเจ้าอาฟกัน ฮาวนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) จากบริเวณหู และนำตัวอ่อนกว่า 1,095 ตัวที่นำไปเพาะในสุนัข 123 ตัวเพื่อให้สุนัขเพศเมียเหล่านี้สร้างลูกสุนัขสุขภาพดีขึ้นมา
อย่างไรก็ดี มีตัวอ่อนแค่เพียง 3 ตัวที่เจริญเติบโตติดมดลูกของสุนัขตัวเมีย แต่ขณะคลอดก็เหลือรอดออกมาเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น นับว่ามีอัตราความสำเร็จ 1.6% ซึ่งนอกจากสนัปปี้ที่มีน้ำหนักแรกเกิด 530 กรัม แล้วยังมีลูกหมาอีกตัวชื่อ “เอ็นที-2” (NT-2) ด้วยน้ำหนักแรกเกิด 550 กรัม แต่ก็ตายลงด้วยโรคปอดอักเสบด้วยอายุแค่ 22 วัน อีกทั้งผลการตรวจสอบหลังการตายพบก็ไม่พบปัญหาทางกายวิภาคอันนำไปสู่การตายของของ NT-2
หลังจาก “แกะดอลลี” ปรากฏกายสู่สายตาชาวโลก เมื่อเดือน มิ.ย. 2539 นั่นก็เกือบทศวรรษมาแล้ว แต่ความก้าวหน้าในวงการโคลนนิงดูเหมือนว่าจะขยับไปได้ไม่ไกลอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก ซึ่งแม้แต่ดอลลีเองก็จบชีวิตลงในเดือน ก.พ.2546 หลังจากเจ็บป่วยด้วยโรคข้ออักเสบจากการแก่ก่อนวัยและอาการไตถดถอย เพราะการโคลนนิงสัตว์ขึ้นมานั้นทำให้เป็นจริงได้ยาก และทุกๆ สายพันธุ์ที่แสดงออกต่างก็มีปัญหาต่างๆ กันไป แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดูเหมือนถูกต้อง แต่ตัวอ่อนที่ได้รับการโคลนส่วนใหญ่กลับใช้ไม่ได้ เพราะยีนแสดงผลไปในทางผิดปกติ ซึ่งแกะ หนู วัว แพะ หมู กระต่าย แมว ลา และม้าก็เคยถูกโคลนนิงด้วยวิธีนี้
สำหรับสุนัขแล้ว ความท้าทายสำคัญคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไข่ที่ใช้ได้ สุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องใช้เทคนิคเคล็ดลับมากเป็นพิเศษในการโคลน เพราะไข่ที่เจริญเติบโตเต็มที่นั้นเก็บเกี่ยวออกมาใช้ได้ยาก ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์อื่นๆ โดยไข่ของสุนัขจะตกตั้งแต่ยังไม่สุก แล้วเข้าสู่ช่องพิเศษเพื่อพัฒนาให้ไข่สุกอีก 2-3 วัน
ทั้งนี้ ทีมงานได้ได้พยายามเก็บไข่สุนัขที่ไหลออกจากรังไข่และเติบโตขึ้นเดินทางสู่มดลูกและท่อรังไข่ ซึ่งการเก็บไข่ที่จุดตกไข่และพยายามเพาะให้เจริญขึ้นในหลอดทดลองนั้นล้มเหลว ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงได้ดึงไข่ออกมาตั้งแต่อยู่ในท่อรังไข่ด้วยสารละลายที่พัฒนาขึ้นมาเอง จากนั้นนิวเคลียสหรือบริเวณใจกลางของไข่เหล่านั้นก็ถูกแยก และแทนที่ด้วยนิวเคลียสของเซลล์จากหู เซลล์ที่หลอมเข้ากันได้ด้วยดีก็จะถูกนำไปปลูกถ่ายในสุนัขเพศเมีย
การทดลองที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งครั้งนี้เป็นผลงานจากทีมงานของ “ศ.หวาง วู-ซก” (Woo Suk Hwang) นักวิจัยทางด้านโคลนนิง-สเต็มเซลล์ชื่อดังชาวเกาหลี โดยก่อนหน้านี้เขาได้สร้างผลงานอันสำคัญยิ่งต่อวงการ คือการสร้างตัวอ่อนมนุษย์จากการโคลนนิง และเพาะพันธุ์สเต็มเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ ส่วนผลงานการโคลนนิงสุนัขครั้งนี้เขาได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสาร “เนเจอร์” ฉบับล่าสุด
ดร.หวางพร้อมทีมงาน 15 คนใช้เวลา 2 ปีครึ่งสร้าง “สนัปปี้” ขึ้นมาจนสำเร็จ
“เขาน่ารักมาก ถ้าคุณมาที่นี่และพบเขา คุณจะต้องหลงรักเขาเป็นอย่างแน่แท้” ดร.หวางกล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่าสนัปปี้ช่างเหมือนกับหมาเจ้าของเซลล์ ซึ่งตรงจุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดลักษณะของทั้ง 2 ตัวถึงได้คล้ายกัน ซึ่งหมาเจ้าของเซลล์ที่นำมาเป็นเซลล์ต้นกำเนิดนั้นเป็นของศาสตราจารย์ทางด้านสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย และที่ ศ.หวางเลือกเซลล์ของอาฟกัน ฮาวนด์ มาใช้ก็เพราะขนาดและลักษณะที่โดดเด่น แต่ก็ย้ำว่า “จุดประสงค์ของการวิจัยก็เพื่อสร้างสัตว์ทดลอง ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง”
“แต่ลูกหมาตัวนี้เป็นของมวลมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ของผม หรือของหมาเจ้าของเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิด” ศ.หวางกล่าว และเปิดเผยว่าที่นำสนัปปีออกมาเปิดเผยนั้น เพราะต้องการสร้างโมเดลในการโคลนนิง เพื่อเป็นตัวอย่างสู่การรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์
ทางด้าน ดร.เจอราด ชาตเท็น (Gerald Schatten) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) ซึ่งร่วมการศึกษาครั้งนี้ เปิดเผยว่า การโคลนนิงสุนัขอาจช่วยนักวิทยาศาสตร์ให้ศึกษาโรคร้ายที่มีผลกระทบต่อบรรดาสุนัข เช่นเดียวกับบางโรคในมนุษย์ อย่างเช่น มะเร็งและเบาหวาน ซึ่งเทคนิคการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการอายุรแพทย์นั้นควรจะต้องทดสอบในสุนัขก่อน จึงจะสามารถนำไปพัฒนาใช้ต่อในมนุษย์ได้
“การศึกษาถึงความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพของเทคนิคนี้จากเพื่อนสัตว์เลี้ยงของพวกเราเอง อาจทำให้เรารู้ว่ามันจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแค่ไหนหากนำไปใช้กับคนที่เรารัก” ดร.ชาตเท็นกล่าว และเชื่อว่าความสามารถในการโคลนนิงสุนัขครั้งนี้จะช่วยให้การพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมและสิ่งสนับสนุนทางพันธุกรรม อันนำไปสู่ลักษณะนิสัยของสายพันธุ์ผสม และอนุรักษสายพันธุ์หายาก
อย่างไรก็ดี มาร์ก เวสธูซิน (Mark Westhusin) นักชีววิทยาเจริญพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) ซึ่งโด่งดังมาจากการโคลนนิงแมวตัวแรกของโลก ก็เคยพยายามโคลนสุนัข โดยใช้เวลากว่า 3 ปี แต่ก็มีอันต้องล้มเลิกโครงการ โดยเจ้าของผลงานแมวโคลนนิงกล่าวถึงความสำเร็จของนักวิจัยเกาหลีใต้ครั้งนี้ว่ายอดเยี่ยมนัก แต่สุนัขโคลนนิงอาจจะคุ้มค่าอะไรเลย
“มันช่วยเพิ่มเติมความฝันร้ายที่ไปทำงานกับสิ่งมีชีวิตพวกนี้ พวกเรารู้และคาดการณ์ได้ว่ามันก็จะทำได้ในอีกไม่กี่ปี แต่จะต้องอุทิศเวลา เงินและความมานะพยายามไปมากแค่ไหนเพื่อให้ผลงานชิ้นนี้สำเร็จขึ้นมา” เวสธูซินเผย พร้อมกับแจงว่าเขาต้องการเห็นผลงานที่ใช้กรรมวิธีที่ง่ายขึ้นกว่านี้ อย่างเช่น การพัฒนาฮอร์โมนเข้าไปทำให้สุนัขตกไข่ หรือวิธีในการเพาะไข่ในหลอดทดลองมากกว่า
ทางด้าน เฟรดา สกอต-พาร์ก (Freda Scott-Park) ประธานสมาคมสัตวแพทย์อังกฤษ (British Veterinary Association) ได้เตือนว่าการทดลองครั้งนี้อาจนำไปสู่คำถามถึงจริยธรรมที่นักวิทยาศาสตร์ควรมี โดยเทคนิคที่พัฒนาขึ้นแม้ว่าจะทำให้เข้าใจโรคและสามารถรักษาโรคร้ายต่างๆ ได้ แต่การโคลนนิงสัตว์ทำให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมและศีลธรรมขึ้นมามากมาย ซึ่งจะต้องนำไปถกเถียงในวงวิชาชีพต่อไป
คลิกชมภาพชุดบรรยากาศโชว์ตัว "สนัปปี้"
