xs
xsm
sm
md
lg

2 แพทย์วิจัย “กระดูกพรุน” เป็นนักวิทย์ดีเด่นปี 48

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


2 นายแพทย์ “ศ.นพ.รัชตะ-ศ.นพ.บุญส่ง” รับตำแหน่งนักวิทย์ดีเด่นปี 48 จากการวิจัยโรคกระดูกพรุนในคนไทย พบปัจจัยยีนและระดับฮอร์โมนเพศหญิงลด ส่งผลให้คนไทยกระดูกบางซึ่งแนวทางการรักษาของฝรั่งอาจไม่สอดคล้องกับวิถีไทย พร้อมให้ความเห็นสถานภาพนักวิทย์ไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกฝ่ายกำลังช่วยกัน

วันนี้ (28 ก.ค.) มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ประกาศผลการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2548 ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดย ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่ารางวัลดังกล่าวเป็นการยกย่องเชิดชูนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีสัญชาติ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบอย่าง

ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปีนี้มี 2 คน คือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวินและศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ร่วมกันศึกษาวิจัยการเกิดโรคกระดูกพรุนในคนไทย

ศ.นพ.รัชตะกล่าวถึงการศึกษาเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนว่าปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าวมากขึ้น และแม้ไม่ทำอันตรายถึงชีวิตแต่ก็ทำให้ภาวะทุพลภาพ ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่าอายุขัยของคนไทยที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จึงพบเห็นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่น้อยลงเนื่องจากการนั่งโต๊ะทำงาน หรือการถูกแสงแดดลงทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีสำหรับดูดซึมแคลเซียมลดลง ส่งผลให้การสร้างมวลกระดูกลดลงด้วย และยังมีคำถามว่าวิธีการรักษาแบบตะวันตกนั้นเหมาะสมกับคนไทยหรือไม่

“คนไทยได้รับปริมาณแคลเซียมแค่ 1 ใน 3 ของชาวตะวันตก แต่จำเป็นหรือไม่ที่คนไทยจะต้องบริโภคปริมาณแคลเซียมให้เท่ากับชาวตะวันตก” ศ.นพ.รัชตะตั้งคำถาม ซึ่งนำไปสู่การศึกษาวิธีการรักษาให้เหมาะกับพฤติกรรมและพันธุกรรมของคนไทย

ทางด้าน ศ.นพ.บุญส่งผู้ร่วมวิจัยโรคกระดูกพรุนร่วมกับ ศ.นพ.รัชตะกว่า 10 ปี กล่าวว่าพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนอันเป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายนั้นจะลดลงในผู้สูงอายุทำให้กระดูกของผู้ป่วยบางลง ขณะเดียวกันก็ผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีสาเหตุมาจากยีนหรือสารพันธุกรรม

“ผู้สูงอายุที่หมดประจำเดือนหลายท่านไม่เป็น ทำไม จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยทางยีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ยีนที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมีหลายยีน ทั้งนี้ชุดยีนที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในฝรั่งไม่เหมือนคนเอเชีย จึงทำการศึกษาเพื่อจะยีนที่ทำให้เกิดโรคกระดูกมากขึ้นว่ามียีนอะไรบ้าง” ศ.นพ.บุญส่ง ทั้งนี้คาดว่าการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุจะช่วยให้การรักษาง่ายขึ้นเนื่องจากโรคดังกล่าวจะแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุทำให้มีเวลาเตรียมการรักษา

และในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้ง ศ.นพ.รัชตะและ ศ.นพ.บุญส่งให้ความเห็นว่าแม้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ไทยจะค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ แต่อนาคตเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังช่วยเหลือกัน

“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราแข่งขันได้ในเวทีสากล และถ้าไม่สามารถพัฒนาความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเราก็ไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันกับภาวะเศรษฐกิจ สิ่งที่เราขาดคือปริมาณนักวิทยาศาสตร์และการสนับสนุนให้ทำงานเต็มศักยภาพแต่เราไม่ได้ด้อยในด้านสติปัญญา” ศ.นพ.บุญส่งกล่าว

ส่วนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีนี้มี 3 คนคือ รศ.ดร.สุกิจ ลิมปิจำนงค์ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งศึกษาสมบัติของสารกึ่งตัวนำในเชิงทฤษฎี ผศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาขั้นตอนการทำงานของเอนไซม์หรือตัวเร่งปฏิกิริยาในสิ่งมีชีวิต และ ผศ.ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนำหลักการของกลศาสตร์ควอนตัมมาศึกษาสมบัติพื้นฐานของโมเลกุลโดยใช้คอมพิวเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น