คุยกับ 2 เจ้าของเหรียญเงินฟิสิกส์โอลิมปิกว่าที่นักวิทย์ "วุฒิวัฒน์ - รณชัย" คนแรกเตรียมจะบินลัดฟ้าไปเรียนฟิสิกส์ที่อังกฤษพฤหัสนี้ ลั่นวาจาหากได้เป็นนายกฯ จะทำให้การศึกษาดีขึ้น พร้อมเปรยสังคมไม่สร้างแรงจูงใจให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนอีกคนแม้พ่อปูทางให้รักวิทย์ด้วยการพันสายไฟตอนเด็กแต่ใฝ่ฝันที่จะเป็นวิศวกรมากกว่า
ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ กำลังมีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติใน 5 สาขาคือ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมีและคอมพิวเตอร์ หลายสาขาได้แข่งขันเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งนักเรียนไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาให้คนไทยได้ชื่นชม และไม่ว่าตัวแทนนักเรียนไทยจะต้องการหรือไม่ พวกเขาก็ได้รับโอกาสให้เป็น “นักวิทยาศาสตร์” ด้วยทุนของโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)
อนาคตนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะแนะนำให้รู้จักคือนายวุฒิวัฒน์ งามพฤฒิกร ผู้คว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกที่ประเทศสเปน ซึ่งก่อนเดินทางไปแข่งขันเขาเคยพูดไว้ว่าหากมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีเขาจะปฏิรูปการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่วันพฤหัสบดีนี้ (28 ก.ค.) เขาต้องเดินทางไปศึกษาฟิสิกส์ ณ ประเทศอังกฤษก่อน โดยจะเดินทางไปพร้อมกับนายภัคพงษ์ จิระรัตนานนท์และนายเพชระ ภัทรกิจวานิช เพื่อนร่วมทีมฟิสิกส์โอลิมปิก
อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้คือความท้าทาย
วุฒิวัฒน์กล่าวถึงปัญหาการศึกษาของไทยว่ามาจาก 2 สาเหตุคือนิสัยรักการเรียนรู้ของนักเรียนที่ไม่ค่อยมีนัก ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอาจารย์มากพอที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เนื่องมาจากสังคมไม่ได้ปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้นัก ส่วนอาจารย์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ และแม้ว่าจะได้รับทุนสนับสนุนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่วุฒิวัฒน์ก็ปรารถนาจะเป็นอาจารย์มากกว่า
“ผมว่ามันเป็นความท้าทาย ไม่ใช่แค่มีความรู้พอที่จะเข้าใจเอง แต่ว่าต้องมีความรู้มากพอที่จะถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นสามารถที่จะเข้าใจอะไรตรงนี้ได้ด้วย ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทาย ผมคิดอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ บางที เอ๊ะ เราว่าเราเข้าใจแล้วแต่ทำไมเวลาที่เราไปอธิบายคนอื่นเรายังไม่สามารถที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ ไม่ได้หมายความว่าอะไร แต่หมายความว่าเรายังเข้าใจไม่ได้ดีพอ”
ว่าที่นักฟิสิกส์รับไม่มีแรงจูงใจให้เป็นนักวิทย์
วุฒิวัฒน์ยอมรับว่าเขาไม่มีแรงจูงใจให้เป็นนักวิทยาศาสตร์เลย แม้เขาจะศรัทธาในวิทยาศาสตร์เหมือนเป็นศาสนาก็ตาม และนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยที่เขารู้จักก็มีเพียงไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่คืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ติวเข้มเขาและเพื่อนๆ ก่อนเดินทางไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกนั่นเอง
“แรงจูงมีอะไรบ้างละครับ เงินก็น้อย รัฐบาลก็ไม่สนับสนุน ผมพูดความจริงไม่ต้องกลัวใคร รัฐบาลไม่สนับสนุน เป็นมาแล้วก็เหมือนกับว่าชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่า เออนี่ เราจะส่งมันไปเรียนสูงๆ ทำไม กลับมาก็ไม่ได้ช่วยประเทศเลย แต่จริงๆ แล้วต้องส่งไปเรียนครับ แม้ว่าตอนนี้เราอาจช่วยอะไรไม่ได้เพราะว่าเรายังห่างเขาอีกหลายขุม คือเราต้องตามเขาทันก่อน เรื่องอย่างนี้ต้องตามทันสักวันจนได้ล่ะครับ อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้นเอง”
ฟิสิกส์เหมือนเรื่องไกลตัวแต่คนทั่วไปเข้าใจได้
วุฒิวัฒน์กล่าวว่าหลายคนอาจจะคิดว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องไกลตัว หากจริงๆ แล้วคนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ในหลักการของฟิสิกส์ที่เขามองว่าความสวยงาม มีเหตุผล และจบในตัวเอง โดยเขาได้ยกตัวอย่างการนำฟิสิกส์ไปอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวให้ฟังว่า
“อย่างเอนโทรปีที่อธิบายว่าความยุ่งเหยิงในจักรวาลไม่หายไปไหน มีแต่จะเพิ่มขึ้น เช่น เราจะแก้ปัญหาจราจรที่มันยุ่งเหยิง ทำไง ก็ต้องย้ายความยุ่งเหยิงออกไปจากการจราจร แล้วเราจะเอาไปไว้ที่ไหนก็ในเมื่อเมื่อมันไม่หายไป ก็อาจจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาจัดการ ก็เหมือนกับว่าเราย้ายความยุ่งเหยิงจากถนนไปไว้ในหน่วยงานนี้ หน่วยงานนั้นก็จะมีความยุ่งเหยิง เช่น มีเอกสาร มีการจัดการจับ ความยุ่งเหยิงจากตรงนั้นไปยัดใส่ตรงนี้ ตามทฤษฎี อะไรอย่างนี้ครับ” วุฒิวัฒน์กล่าว
นอกจากนี้วุฒิวัฒน์มองว่าความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องจักรวาลของนักวิทยาศาสตร์นั้นเหมือนการตั้งคำถาม "ตายแล้วไปไหน" ที่คนเราอยากรู้อดีตเพื่อจะทำนายอนาคต และหาหนทางที่จะมีชีวิตต่อไปได้นานที่สุด พยายามที่ฝืนธรรมชาติแม้จะรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วก็ฝืนไม่ได้อยู่ดี แต่ก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยหรือสวดมนต์อ้อนวอนขออย่างเดียว พร้อมกันนั้นเขายังมองว่าพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกันที่สุดท้ายต้องกลับมารวมกันอยู่ดี
"เราไม่ได้กลัวว่าเราฝืนธรรมชาติไม่ได้ แต่เรากลัวว่าเราไม่ได้พยายามที่จะฝืนธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้เราได้คิด เป็นจิตวิทยา คนเราอยากเอาชนะ อยากทำอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อเราก็เพื่อรุ่นต่อๆ ไป เราก็ทำทุกอย่างเพื่อให้เราไม่สูญพันธุ์ คือเป็นเหตุผลทางชีววิทยาเลยครับ เกิดมาเพื่อสร้างรุ่นใหม่ เป็นการพัฒนาอารยธรรมให้คนรุ่นใหม่ โอกาสที่จะพัฒนาก็มีขึ้นเรื่อยๆ" วุฒิวัฒน์กล่าว
สำหรับนักเรียนอีกคนที่ได้รับโอกาสให้เป็นนักวิทยาศาสตร์จากความสามารถที่ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับนานาชาติและเป็นเจ้าของเหรีญยเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกครั้งล่าสุด คือนายรณชัย เจริญศรี นักเรียนชั้น ม.5 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเขายังมีเวลาอีกหลายปีสำหรับตัดสินใจว่าจะรับทุน พสวท.หรือไม่
พ่อทำให้สนใจวิทย์หลังสอนพันสายไฟ
รณชัยได้รับเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกนานาชาติครั้งนี้ และก่อนหน้านั้นไม่นานนักเขาก็ได้รับเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้เขาได้รับการสนับสนุนให้มาสนใจวิทยาศาสตร์จากพ่อซึ่งเป็นวิศวกรไฟฟ้า
“สนใจวิทยาศาสตร์ตอนประถมครับ คุณพ่อให้พันขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า ทำไฟฉายเล่นตั้งแต่เด็ก คือคุณพ่อจบทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า” รณชัยเล่าซึ่งการส่งเสริมของพ่อก็ทำให้เขาได้ความคิดในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนสำหรับส่งอาจารย์ โดยเขาจะนำน้ำทิ้งมาผลิตกระแสไฟฟ้าจากปฏิกิริยาเคมี
อยากใช้ฉี่ทดลองแต่ใจไม่กล้า
“เห็นคุณพ่อทดลองให้น้องดู เอาน้ำประปามาทดลองแล้วเกิดไฟฟ้า เลยคิดว่าพวกนี้น่าจะเกิดไฟฟ้าได้” ทั้งนี้เขาจะใช้น้ำจากห้องครัว นำฝนและน้ำล้างห้องมาทำการทดลองโดยก่อนหน้านี้เขาก็คิดจะเอาน้ำปัสสาวะมาใช้ทดลองด้วยแต่หาตัวอย่างไม่ได้
“ตอนแรกจะเอาน้ำฉี่แต่ไม่มีใครยอมฉี่ เลยต้องเอาน้ำล้างห้องน้ำ ไม่มีใครกล้าฉี่ผมก็ไม่กล้าฉี่ เดี๋ยวจะโดนแซวต่อไปอีกยาวนาน” รณชัยเล่าว่าหากโครงงานของเขาและเพื่อนๆ สำเร็จก็อาจเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกหนึ่ง โดยคาดว่าอาจจะไปใช้สำหรับประจุกระแสไฟฟ้าให้กับถ่านขนาด AA ที่ชาร์จได้
รณชัยเล่าว่าพ่อของเขายังช่วยปูพื้นฐานเกี่ยวกับไฟฟ้าเบื้องต้นให้กับเขาตั้งแต่ช่วง ป.6-ม.1 จึงทำให้เขามีความตั้งใจที่จะเป็นวิศวกรมากกว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเขาก็เปรยๆ ว่าไม่ถนัดในเรื่องการทำวิจัยนัก แต่หากได้เป็นนักวิทยาศาสตร์เขาก็คิดว่าจะทำงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี
อยากสร้างเทคโนโลยีนาโนให้เมืองไทย
“ถ้าเป็นนักวิจัยคิดว่าจะเรียนเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี เพราะว่าตอนนี้สินค้าทางบ้านเราผลิตไม่ค่อยได้ เป็นนักวิจัยทางด้านนี้น่าจะวิจัยสร้างเทคโนโลยีให้เมืองไทยได้” รณชัยเล่าว่าตอนเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการนั้น อาจารย์ที่ดูแลค่ายได้นำเครื่อง “เอเอฟเอ็ม” (AFM) มาให้ดู และทำตัวอย่างการทดลองให้ดูภาพพื้นผิวของทอง โดยเครื่องดังกล่าวจะสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของวัสดุที่เป็นโลหะได้เท่านั้น
หลังจากกลับมาจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้วรณชัยเล่าว่าเขามีงานและการบ้านที่ต้องส่งอาจารย์ตามหลังเพื่อนๆ อีกเยอะมาก ซึ่งก็หนักพอสมควรแต่เขายังพอมีเวลาที่จะทำงานเนื่องจากเขาไม่ได้เสียเวลาไปการเรียนพิเศษเหมือนเพื่อนคนอื่น
นอกจากนี้รณชัยยังเป็นสมาชิกชมรมวิทยาศาสตร์ เขาเล่าว่ากิจกรรมในชมรมส่วนใหญ่จะเน้นด้านวิชาการ เช่น การติวหนังสือให้กับรุ่นน้อง การจัดสอบวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนระดับ ม.ต้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ในการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่และการอนุมัติโครงการต่างๆ ซึ่งในวันที่ 9-10 ส.ค.นี้จะมีกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ภายในโรงเรียน ส่วนเวลาว่างนั้นเขาจะใช้ไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตและอ่านหนังสือ
ครูเก่งแม้อยู่ที่กันดารก็สอนได้
สำหรับมุมองต่อวงการศึกษาของไทยนั้นรณชัยกล่าวว่าเขาได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนต่างจังหวัดซึ่งอาจจะไม่มากพอที่จะสรุปถึงภาพรวมทั้งหมดแต่ก็ทำให้เขาเห็นความไม่พร้อมของการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับทำการทดลอง อย่างไรก็ดีเขามองครูมีสอนสำคัญต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว
“ผมมีโอกาสคุยกับเด็กนักเรียนต่างจังหวัด เห็นว่าอุปกรณ์ไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่ แต่เห็นแค่ไม่กี่ตัวอย่าง ก็ยังสรุปไม่ได้ คิดว่าน่าจะปรับปรุงที่อาจารย์ เพราะถ้าอาจารย์เก่งแล้วไม่ว่าจะกันดารแค่ไหนก็น่าจะนำทรัพยากรในธรรมชาติมาประยุกต์ให้นักเรียนเห็นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมด้วย ที่คนเก่งมักจะไม่เรียนครู ก็ต้องหาทางให้นักเรียนเก่งๆ หันมาเรียนครูเยอะๆ” รณชัยสรุปทิ้งท้าย