เอเอฟพี – นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบความแตกต่างในร่างกายมนุษย์ที่ทำให้คนคอแข็ง-คออ่อนไม่เท่ากัน เชื่อช่วยชี้ทางลัดในการพัฒนาตัวยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ฮิตาชิ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และมหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) ร่วมกันทำการทดลองจนสามารถออกมายืนยันเป็นครั้งแรกว่า ระดับการไหลเวียนของเลือดที่แตกต่างกันหลังสาดเหล้าเข้าปาก เป็นตัวการทำให้คนมีความต้านทานต่อแอลกอฮอล์ต่างกัน
การศึกษาชิ้นนี้ซึ่งเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครที่ยอมสละตัวเองกินเหล้าฟรีเพื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าเลือดไหลเวียนไปสู่สมองส่วนที่ควบคุมการมองเห็นมากขึ้นหลังจากพวกคออ่อนดื่มเหล้าเข้าไป แต่สำหรับพวกคอทองแดง นักวิจัยแทบไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในสมองส่วนดังกล่าวเลย
ทั้งนี้ เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายจะแปลงสภาพเป็นก๊าซอะเซตัลเดไฮด์ (acetaldehyde) ที่เป็นสาเหตุของอาการเมาค้าง
การศึกษาพบว่าผู้ที่มีความต้านทานแอลกอฮอล์สูงจะใช้เอนไซม์ ALDH2 ที่มีฤทธิ์เปลี่ยนก๊าซอะเซตัลเดไฮด์ให้เป็นกรดที่ไม่เป็นอันตราย ตรงข้ามกับพวกเมาง่าย ที่ร่างกายเรียกใช้ ALDH2 ต่ำกว่า ทำให้คนเหล่านี้อยู่ในสภาวะล่อแหลมที่จะเมาค้าง
ALDH2 (Aldehyde dehydrogenase 2) เป็นเอ็นไซม์ที่มีอยู่ทั่วไปตามเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะแสดงออกในระดับสูงสุดที่ตับ อีกทั้ง ALDH2 มีมากในหมู่ชาวเอเชีย และเอ็นไซม์ชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดถึงอัตราการต่อต้านของแอลกอฮอล์ โดยควบคุมภาวะอาการมึดเมาหลังจากได้รับแอลกอฮอล์ แต่ถ้าผู้ที่นิยมดื่มแอลกฮอล์มีเอ็นไซม์ชนิดนี้อยู๋ในร่างกายมากก็จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งที่ช่องหลอดอาหาร หลอดลมช่วงบน มือและคอ
ฮิตาชิแถลงว่า การวิจัยครั้งนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีแผนที่สมองของบริษัทที่เรียกว่า ออปติคัล โทโปกราฟี (optical topography) มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้การตอบสนองของสมองต่อแอลกอฮอล์และสารเคมีอื่นๆ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาตัวยาให้มีประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น