xs
xsm
sm
md
lg

นกทะเลพาหะนำสารพิษสู่ขั้วโลกเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยแคนาดาพบนกทะเลเป็นพาหะนำสารพิษจากอุตสาหกรรมและการเกษตรไปยังแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตในขั้วโลกเหนือ อันอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมีสารเคมีอุตสาหกรรมสะสมอยู่ในร่างกายจำนวนมาก

จากงานศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร "ไซน์" (Science) ฉบับล่าสุด พบว่าชาวอินูอิต (inuits) สมาชิกของชนเผ่าเอสกิโมในแคนาดาในบริเวณขั้วโลกเหนือ มีโพลีคลอริเนต ไบเฟนิล หรือพีซีบี (polychlorinated biphenyls : PCBs) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเคมีทางอุตสาหกรรมสำคัญสะสมในร่างกายสูงกว่าคนควิเบกถึง 30 เท่า

พีซีบีเป็นตัวอย่างหนึ่งของสารเคมีที่มีผลความเป็นพิษระยะยาว หรือเรียกย่อๆ ว่า "พีโอพี" (Persistent Organic Pollutant : POP ) ซึ่งย่อยสลายช้ามาก และสามารถสะสมในร่างกายของสิ่งมีชีวิต รวมถึงคน ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ของพีโอพีก็คือ ยาฆ่าแมลง เช่น ดีดีที และสารอเนกประสงค์อย่างเฮกซาคลอโรเบนซิน หรือเอชซีบี (hexachlorobenzene : HCB)

ก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่าสารเหล่านี้ไปถึงขั้วโลกเหนือและไปสะสมในร่างกายสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าวได้อย่างไร มีการตั้งสมมติฐานว่าอาจเกิดจากการฟุ้งกระจายในอวกาศ ลอยตามน้ำ และติดไปกับสัตว์ที่อพยพย้ายถิ่น แต่ตอนนี้กลุ่มนักวิจัยที่นำโดยจูลส์ เบลส (Jules Blais) จากมหาวิทยาลัยออตตาวา (University of Ottawa) ยืนยันว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนกย้ายถิ่นพันธุ์นอร์ธเทิร์นฟูลมาร์ (northern fulmar หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Fulmarus glacialis)

นักวิจัยกลุ่มนี้ศึกษาจากบริเวณที่มีนกพันธุ์ที่ว่ามาอยู่ร่วมกันถึง 10,000 คู่ ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอุดมไปด้วยไนโตรเจนซึ่งเกิดจากมูลนก และในพื้นที่บริเวณนั้นยังมีดีดีทีปนเปื้อนอยู่สูงเช่นกัน เบลสสำทับว่า บริเวณที่ฟูลมาร์ชอบแวะเวียนไปมีเอชซีบีสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ 10 เท่า สารปรอท 25 เท่า และดีดีที 60 เท่า ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่าสารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในมูลนก

นกฟูลมาร์เหล่านี้หากินอยู่ในขั้วโลกเหนือระหว่างฤดูผสมพันธุ์ โดยอาหารของมันคือแพลงตอน ปลาหมึก ปลา และซากสัตว์ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของดีดีที สารปรอท และเอชซีบี และปัญหาก็คือบริเวณดังกล่าวเป็นโอเอซิสทางชีววิทยา เช่น มีแมลงมากมายถือกำเนิดขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นอาหารของนกสโนว์บันติง และมีสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารอย่างหมาจิ้งจอก ซึ่งอาจอยู่ที่นั่นเพราะมีอาหารที่นกฟูลมาร์นำเข้ามา

“และคนแถวขั้วโลกเหนือก็กินไข่นกทะเล ดังนั้นจึงอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่คนได้รับเข้าสู่ร่างกาย กับการขนส่งสารพิษโดยกระบวนการทางชีววิทยาจากมหาสมุทร แต่นั่นเป็นสิ่งที่เรายังต้องค้นหาต่อไป”

ทางด้าน กวิน ลียงส์ (Gwynne Lyons) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารพิษของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) แสดงทัศนะว่ารายงานชิ้นนี้พิสูจน์ว่าควรมีการแบนสารอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากสารพีโอพี 12 ชนิด ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) ของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าสหภาพยุโรปต้องการเพิ่มรายการสารเคมีต้องห้ามอีก 9 ชนิด เช่นเดียวกับนอร์เวย์ที่ต้องการขยายรายการเช่นกัน ซึ่งข่าวดีก็คือในการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมว่าด้วยอนุสัญญาสตอกโฮล์มได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น