หลังจากที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในทฤษฎีและการเรียกชื่อทฤษฎีของว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ซึ่งเขียนโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ไปแล้วนั้น โดยบทความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในบทความ “7 ความเชื่อผิดๆ เพี้ยนๆ เกี่ยวกับไอน์สไตน์” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดีฉบับที่ 243 ประจำเดือนพฤษภาคม 2548
สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปก็ยังคงเป็นเรื่องของความเข้าใจที่อาจจะเกิดจากการปะติดปะต่อเรื่องราวอย่างไม่ชัดเจนว่าไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรารู้จักเขาในฐานะผู้คิดค้นทฤษฎีนี้มากกว่าผลงานอื่นๆ ก็เป็นได้
ความเชื่อผิดเพี้ยน: ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ
ข้อชี้แจง: เรื่องนี้ชี้แจงง่ายมาก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา แต่ที่ใส่ไว้ก็เพราะมีเกร็ดที่น่าสนใจรายล้อมประเด็นนี้อยู่ด้วย
แม้ว่าไอน์สไตน์จะเริ่มมีชื่อเสียงก้องโลก เนื่องจากการที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาสามารถทำนายปรากฏการณ์ที่เส้นทางเดินของแสงถูกเบี่ยงเบนโดยดวงอาทิตย์ได้อย่างถูกต้องก็ตาม แต่ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 1921 จากผลงานเกี่ยวกับปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect) ที่เขาตีพิมพ์ในบทความชื่อ “On a Heuristic Point of View Concerning the Production and Transformation of Light” ในปี ค.ศ.1905 โดยข้อความประกาศเกียรติคุณในพิธีรับรางวัลโนเบลระบุว่า
“for his services to Theoretical Physics, and especially for his discovery of the law of the photoelectric effect”
“สำหรับการที่เขาได้มีส่วนในการพัฒนาฟิสิกส์ทฤษฎี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้นพบกฎเกี่ยวกับปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก”
แก่นสาระของทฤษฎีของไอน์สไตน์ซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกก็คือ แสงอาจประพฤติตัวเป็นอนุภาคได้ และเรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดเดียวที่ไอน์สไตน์ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” อย่างแท้จริง! (แบบว่าถ่อมตัวแบบอัจฉริยะนั่นแหละ)
รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์สำหรับปี ค.ศ.1921 นี้ ประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1922 และมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม 1922 แต่น่าสังเกตว่าไอน์สไตน์ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีด้วย โดยเว็บไซต์ที่เป็นทางการของรางวัลนี้ (Nobelprize.org) ระบุว่า
“Being too remote from Sweden, Professor Einstein could not attend the ceremony.”
นั่นคือ ศาสตราจารย์ไอน์สไตน์พำนักอยู่ห่างจากประเทศสวีเดนไกลเกินไป ก็เลยเข้าร่วมพิธีไม่ได้ (ฟังแล้วแปลกๆ อยู่เหมือนกัน ใครรู้ว่าตอนนั้นไอน์สไตน์อยู่ไหนและทำไมไปร่วมงานไม่ได้ ช่วยบอกผมที)
แล้วทำไมไอน์สไตน์ถึงไม่ได้รับรางวัลโนเบลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ? ที่จะตอบต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของผมเอง
คือหากพิจารณาจากเหตุการณ์ในช่วงนั้น และจากปาฐกถานำเสนอ (Presentation Speech) โดยศาสตราจารย์อาร์รีเนียส (Professor S. Arrhenius) ผู้เป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จะพบว่าในช่วงปี 1922 ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็ยังคงถูกตรวจสอบอยู่อย่างเข้มข้น และแน่นอนที่ว่าย่อมมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งกังขาอยู่มาก
และหากมองจากปัจจุบัน มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก็คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์กำลังได้รับการตรวจสอบ โดยการใช้ Gravity Probe B ซึ่งบรรจุอุปกรณ์ตรวจวัดความโค้งของกาลอวกาศ (curvature of spacetime) ที่เกิดจากมวลของโลก โดยการตรวจสอบคาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ.2548 นี้ (ถึงช่วงนั้น ก็คงจะมีข่าวใหญ่ในวงการฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่ง) ส่วนคลื่นความโน้มถ่วง (gravity wave) นั้นยังคงตรวจวัดไม่พบ (เท่าที่ผมทราบ ณ วันที่เขียนบทความนี้)
พูดง่ายๆ ก็คือ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (ทั่วไป) ของไอน์สไตน์ยังไม่ได้รับการยืนยัน 100% ในทุกแง่มุมนั่นเอง แต่การตรวจสอบก็กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง