การศึกษาวิจัยเรื่องนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคนั้นมีแพร่หลายในต่างประเทศมานานแล้ว แต่การศึกษาสเต็มเซลล์ที่ผ่านมานั้นนำมาจากตัวอ่อนหลังการปฎิสนธิ ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่าผิดศีลธรรมหรือไม่ในการใช้ชีวิตหนึ่งรักษาอีกชีวิตหนึ่ง ล่าสุดนักวิจัยชาวเกาหลีค้นพบวิธีการสร้างสเต็มเซลล์ให้เข้าคู่กับสารพันธุกรรมของคนไข้ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปฎิสนธิ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย
สำหรับวิทยาการทางการแพทย์เรื่องเซลล์บำบัด(Autologous Stem Cell Therapy) ในประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยมากว่า 2 ปีแล้วโดยบริษัทเทอร่า วีเต้ จำกัด (Thera Vitae Co.Ltd.)ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง วิจัยร่วมกันถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคหัวใจโดยใช้สเต็มเซลล์จากเลือดของผู้ป่วยเอง ตามหลักความคิดที่สำคัญคือ การรักษาคนไข้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดและปลอดภัยที่สุดซึ่งผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเลย
“สเต็มเซลล์จากเลือดของผู้ป่วยเองนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าการเอาสเต็มเซลล์มาจากแหล่งอื่น อีกทั้งยังกำจัดปัญหาเรื่องการต่อต้านจากภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนที่ทำการศึกษาต้องง่าย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ดร. วาเลนติน ฟูลก้า ซีอีโอของบริษัทเทอร่า วีเต้กล่าว ( Dr. Valentin Fulga: CEO of Thera Vitae Co.Ltd.)
หลักการคือการดึงเซลล์อ่อนออกมาจากเลือด จากนั้นก็คัดเลือกเอาเฉพาะที่ต้องการ จากนั้นเอามาเลี้ยง เอามาไว้ในสภาวะที่เหมาะสม เซลล์อ่อนก็จะเพิ่มจำนวนในจานเพาะซึ่งหากอยู่ในร่างกายจะไม่เพิ่มจำนวนแล้วอย่างเช่นเซลล์สมองที่ไม่เพิ่มแล้ว ต้องใช้สเต็มเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน แล้วใส่กลับไป เทคโนโลยีหลายอย่างเกี่ยวข้องกับสเต็มเซลล์ซึ่งบางอย่างก็พัฒนาขึ้น บ้างก็ถดถอยลงซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำคือให้อยู่ในสภาวะตามธรรมชาติเช่นเดียวกับที่อยู่ในร่างกาย ดังนั้นเมื่อเอาสเต็มเซลล์ใส่กลับคืนไปในร่างกายของผู้ป่วยก็จะไม่มีการต่อต้านหรือเกิดปัญหาจากภูมิคุ้มกัน
สเต็มเซลล์: เซลล์อ่อนที่พร้อมจะโตและทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ดร. วาเลนติน อธิบายถึงลักษณะของสเต็มเซลล์ในร่างกายคนเราว่า เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของมนุษย์จะทำหน้าที่จำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ย้อนกลับมา ซึ่งเซลล์ที่พัฒนาไปจนสุดทาง (เซลล์จำเพาะ) อย่างเซลล์หัวใจ หรือเซลล์สมอง เมื่อตายไปแล้วจะไม่มีเซลล์ใหม่มาทดแทน ในขณะเดียวกันร่างกายของคนเราก็มีเซลล์อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตได้อีก โดยเซลล์อ่อนพวกนี้ในทางทฤษฎีสามารถพัฒนามาเป็นเซลล์จำเพาะได้
เมื่อในร่างกายมนุษย์มีเซลล์อ่อนที่พร้อมทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแต่ยังมีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเซลล์อ่อนเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเอาเซลล์อ่อนที่ถูกคัดเลือกพร้อมทั้งเพิ่มจำนวนแล้วฉีดกลับเข้าไปยังอวัยวะส่วนที่ต้องการรักษา อย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นหัวใจอุดตัน ในการรักษาโดยวิธีการใช้เซลล์บำบัด แพทย์จะฉีดเซลล์อ่อนไว้ที่บริเวณหลอดเลือดที่หัวใจเพื่อให้เซลล์เหล่านั้นเติบโตเป็นหลอดเลือดหัวใจต่อไป
ในความเป็นจริงนั้น การรักษาโรคหัวใจมีหลายวิธี อย่างโรคหัวใจขาดเลือดก็จะมีการเอาท่อเข้าไป หรือทำบอลลูนทำให้หลอดเลือดมันโตขึ้น หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัดบายพาส(By pass) ซึ่งคนไข้จำนวนหนึ่งใช้การรักษาด้วยวิธีเหล่านั้นได้ ในขณะที่บางส่วนไม่ได้หรือผ่านวิธีเหล่านั้นแล้วแต่ไม่ดีขึ้น เซลล์อ่อนที่ว่านี้อาจจะไปช่วยทำให้เกิดเส้นเลือดใหม่ที่ให้เลือดไปเลี้ยงส่วนที่กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เสียไปได้ดีขึ้นหรือ เซลล์อ่อนอีกส่วนหนึ่งจะไปทำหน้าที่ให้เนื้อเยื่อหัวใจบริเวณนั้นบีบตัวได้ดีขึ้น
กระบวนการรักษาด้วยเซลล์บำบัดในเมืองไทย
เมื่อคนไข้ถูกประเมินจากหมอแล้วว่าควรรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด(Stem cell therapy) สาเหตุที่หมอต้องประเมินก่อนนั่นเพราะคนไข้บางคนอาจรักษาได้ด้วยยา แต่บางคนเป็นหนักมากแล้วหมอวินิจฉัยแล้วว่าควรรักษาด้วยวิธีนี้ กระบวนการรักษาด้วยเซลล์จึงเริ่มต้นโดยเอาเลือดของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจากโรงพยาบาลในไทยประมาณ ¼ ลิตรหรือ 250 ซีซีส่งไปยังห้องวิจัยที่ประเทศอิสราเอล เอาไปผ่านกระบวนการมิมิค (Mimic) ซึ่งหมายถึงการเอาเซลล์ออกมาจากเลือด คัดเลือกและเพิ่มจำนวนเซลล์ที่มีประโยชน์ในกรณีภาวะโรคหัวใจ
“ในขั้นตอนของการทำมิมิคนั้น การเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเซลล์ทำในจานเพาะตามสภาวะเช่นเดียวกับในร่างกาย แต่เลี้ยงเฉพาะเซลล์ที่ถูกเลือกเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวเกิดในห้องที่สะอาด ไม่มีแบคทีเรียหรือสิ่งปนเปื้อนอื่นใด อาจใช้เวลาหลายวันเพื่อปล่อยให้เซลล์อ่อนโตและเพิ่มจำนวนให้เพียงพอ” ดร. วาเลนตินอธิบาย
“หลังจากนั้นจึงนำเซลล์อ่อนมาทดสอบว่าสะอาด (Sterile) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ส่งเซลล์อ่อนที่มีแบคทีเรียกลับมา นอกจากนี้ยังมีการทดสอบในระดับสูง ดูลักษณะเฉพาะที่เซลล์นี้จะไปโต ตรวจดูว่าเซลล์อ่อนสามารถโตได้อย่างปกติหรือไม่ พอเอากลับเข้าร่างกายจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ ที่สำคัญคือเซลล์ของคนไข้คนไหนก็ต้องตรงกับสภาวะร่างกายของคนนั้น ต้องมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เมื่อทดสอบและมั่นใจว่าตรงกับของคนไข้แล้วก็จะส่งเซลล์นั้นกลับเมืองไทย ดังนั้นเซลล์อ่อนที่มาจากห้องวิจัยจากอิสราเอลจึงถือว่ามีประสิทธิภาพมาก”
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ค่อนข้างซับซ้อนที่ต้องอาศัยระยะเวลา โดยคนไข้หลังจากได้รับการฉีดเซลล์อ่อนในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว เซลล์จะมีสภาวะในการลิ้งค์ทำให้เซลล์อ่อนเติบโตเป็นอวัยวะที่ต้องการซึ่งต้องอยู่ภายใต้กระบวนการเลี้ยงที่ถูกต้องด้วย อย่างเช่น ฉีดให้เข้าไปในหัวใจเซลล์นั้นก็จะเติบโตได้ดีเป็นเซลล์หัวใจ แต่ต้องฉีดเซลล์อ่อนไว้ในที่ที่ถูกต้องจะเกิดกระบวนการคัดเลือกทำให้เซลล์โตไปเป็นเซลล์ที่ต้องการโดยอาศัยสภาวะในการลิ้งค์เซลล์ (สภาวะในการลิ้งค์ให้เซลล์คือ สภาวะเกิดในขณะทำการเลี้ยงเซลล์อ่อน โดยผ่านกระบวนการมิมิคซึ่งเลียนแบบสภาพในร่างกายตามธรรมชาติและใช้สารที่ได้จากร่างกายในการกระตุ้นให้เซลล์อ่อนเติบโต)
ในขณะที่เริ่มมีการทดลองรักษาด้วยวิธีนี้มีคนไข้เข้ารับการรักษา 17 คน คาดว่าภายในเดือนนี้จะมีเพิ่มเป็น 20 คนไทยและอีก10 คนเป็นชาวต่างชาติ
การบำบัดด้วยเซลล์จะขยายไปสู่การรักษาโรคอื่นๆ
ด้วยคุณสมบัติที่เซลล์อ่อนสามารถพัฒนาเป็นเซลล์ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลอดเลือด (Angiogenic cell precursor) ดังนั้นเซลล์อ่อนจึงสามารถนำไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคอื่นๆที่มีสาเหตุมาจากการอุดตันของหลอดเลือดอีกเกือบทุกโรค ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน หลอดเลือดที่ขาอุดตัน ตีบเล็กลง เมื่อ ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะต้องตัดขาเพราะเลือดไม่ไปเลี้ยง นั่นอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้ แต่เมื่อฉีดเซลล์อ่อนเข้าไปโตเป็นหลอดเลือดก็ไม่จำเป็นต้องตัดขา
ความสามารถในการรักษาโรคอื่นๆยังขึ้นอยู่กับขั้นตอนการแยก คัดเลือกเซลล์แล้วเพิ่มจำนวนแล้วถึงจะเปลี่ยนเป็นหลอดเลือดหรือเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้อีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เปลี่ยนเป็นหลอดเลือด อาจจะเป็นกล้ามเนื้อ ไขมัน ผิวหนัง เซลล์ประสาทหรืออื่นๆอีก ซึ่งต้องมีการพัฒนาวิจัยโดยจะต้องมีการทดสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้การศึกษาลงลึกเฉพาะแก้ไขปัญหาโรคหัวใจในลำดับแรก