รอยเตอร์ - นักวิทยาศาสตร์เผยสามารถเพาะหลอดเลือดมนุษย์จากเซลล์ที่นำมาจากผู้ป่วยสูงวัย ถือเป็นการทดลองนำร่องที่อาจนำไปสู่การทดลองใหม่ๆ ในการรักษาโรคหัวใจในทศวรรษหน้า
โรคหัวใจร่วมหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะในสหรัฐฯ มีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้กว่า 40% ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด กระนั้นก็ดี การเพาะหลอดเลือดใหม่ที่มาจากเซลล์ของคนไข้รายอื่น จะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดแดงที่อุดตันในคนไข้ที่มีหลอดเลือดไม่แข็งแรงได้ รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันในคนไข้
ดร.ลอรา นิกลาสัน (Dr. Laura Niklason) จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University ) ในนอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า พวกเขานำเซลล์หลอดเลือดจากชายสูงวัย 4 คนที่เป็นโรคหัวใจมาเพาะเป็นหลอดเลือดใหม่ ทั้งนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ซึ่งเผยแพร่รายงานดังกล่าวลงในนิตยสารการแพทย์แลนเซต (Lancet) ได้เพาะหลอดเลือดในห้องทดลองจากเซลล์ของชายวัย 47-74 ปีจำนวน 4 คน ซึ่งเคยผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดแดง
ขั้นตอนสำคัญของกระบวนการก็คือ การฉีดยีนเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงที่นำมาจากเส้นเลือดดำ เพื่อทำให้เซลล์นั้นมีชีวิตอยู่และเกิดการแบ่งตัวตลอดไป หลังจากที่เซลล์ดังกล่าวเจริญเติบโตในห้องแล็บแล้ว เซลล์เหล่านี้จะถูกนำไปใส่ไว้ในหลอดโพลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ โดยจะมีวิตามินและสารอาหารหล่อเลี้ยงรอบๆ หลอดโพลีเมอร์นี้ ซึ่งเป็นการจำลองสภาวะในร่างกายของมนุษย์
เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อเติบโตขึ้นและหลอดโพลิเมอร์ย่อยสลายไป นักวิทยาศาสตร์จะใส่เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงเพื่อสร้างหลอดเลือดที่สมบูรณ์ โดยจะใช้เวลาในการเติบโตราว 7 สัปดาห์ ทั้งนี้หลอดเลือดดังกล่าวมักไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะปลูกถ่ายในคนไข้ ทว่าบรรดานักวิจัยมองว่าการศึกษานี้สะท้อนถึง "ข้อพิสูจน์ของหลักการ" และหากมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พวกเขาก็เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะปัญหาดังกล่าวและสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของกระบวนการรักษาได้