รอยเตอร์/นาซา – “สปิตเซอร์” จับภาพดวงดาวเกิดใหม่ 100,000 ดวงท่ามกลางกลุ่มเมฆก๊าซที่ฟุ้งกระจายในกลุ่มดาวกระดูกงูห่างจากโลกไป 10,000 ปีแสง หลังจากเกิดซูเปอร์โนวาครั้งใหญ่ นับเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าใกล้และบักทึกภาพ “ตัวอ่อนของดวงดาว”
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซา เปิดเผยภาพจากกล้องโทรทัศน์อวกาศอินฟาเรดสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ที่บันทึกภาพการก่อตัวของดาวดวงใหม่ราว 100,000 ดวงในเนบิวลาคารินา (Carina nebula) หรือกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ห่างออกไปจากโลก 10,000 ปีแสง ซึ่งเป็นบริเวณที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีการแผ่รังสีและลมออกมาจากเนบิวลาแห่งนี้ ซึ่งฝุ่นและก๊าซของกลุ่มดาวที่ฟุ้งออกมานั้น น่าจะนำไปสู่การก่อตัวของหมู่ดาวดวงใหม่
กล้องโทรทัศน์อวกาศสปิตเซอร์บันทึกภาพผ่านทะลุเข้าไปในกลุ่มเมฆของเนบิวลากระจุกนี้เป็นครั้งแรก และแสดงให้เห็นถึงการก่อตัวของดาวดวงใหม่ในบริเวณแกนหลักของกลุ่มฝุ่นควันที่คลุ้งออกมาจากเอตา คารินา (Eta Carinae) ซึ่งนับเป็นกลุ่มดาวที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวกระดูกงู เอตา คารินาประกอบไปด้วยกลุ่มควันและฝุ่นขนาดใหญ่ มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 100 เท่า พาดผ่านกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way galaxy) 200 แสงและยังเคยเป็นดาวที่สว่างที่สุดอันดับ 2 ของท้องฟ้ายามค่ำคืน แต่ก็ต้องตกอันดับไป หลังจากเกิดระเบิดซูเปอร์โนวา (supernova)
ภาพการก่อตัวของดาวดวงใหม่ในกลุ่มดาวกระดูกงูจากล้องสปิตเซอร์นั้น นาซาได้นำมาเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน (American Astronomical Society) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยเป็นที่รู้กันดีกว่า กลุ่มดาวดังกล่าวได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ อันเป็นสัญญาณแห่งการดับและเกิดใหม่ของดวงดาว แต่สปิตเซอร์เพิ่งได้มีโอกาสบันทึกภาพ “ตัวอ่อน” ของดาวดวงใหม่ ซึ่งยังไม่เคยได้เห็นตัวอย่างเช่นนี้มาก่อน