xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยน้อยเพิ่มค่ายางพารา คิดกาวสูตรใหม่เพิ่มน้ำยาง 4 เท่า ติดหนึบกว่ากาวทั่วไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยน้อยจาก จ.นราธิวาส คิดเพิ่มค่าราคายางพารา ด้วยการคิดค้นกาวสูตรใหม่ที่มีปริมาณน้ำยางดิบมากกว่ากาวในท้องตลาดถึง 4 เท่า ในขณะที่ให้คุณสมบัติในการยึดติดดีกว่า แต่ยังมีข้อเสียที่เก็บได้เพียง 5 วันก็ส่งกลิ่นเหม็น จึงต้องพัฒนาต่อไป

ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่กำลังมีปัญหากันเรื่องกล้ายางพารานั้น เด็กๆ จาก ร.ร.อัตตัรกียะห์อิสลามียะ จ.นราธิวาสก็ได้รวมกลุ่มกันเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยการพัฒนา “กาวอเนกประสงค์” เพื่อสร้างทางเลือกในการหารายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดยผลงานของพวกเขาได้รับรางวัลที่ 1 จากโครงการยุววิจัยยางพาราของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งนักวิจัยน้อยที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้คือ น.ส.ดุษฎี บำรุง, นายบุคอรี ปุตสะ และนายอัสรอน อุมา

พวกเขาทั้ง 3 คนได้ทำวิจัยเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางแบบเล็กๆ เท่าที่เด็ก ม.ปลาย จะสามารถทำได้ โดยนายอัสรอนเล่าว่าปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นทำให้อาชีพกรีดยางอย่างเดียวไม่พอเลี้ยงชีพเกษตรกร จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อจะหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพารา และก็มีเกิดความคิดที่จะทำกาวเพราะโดยปกตินั้นกาวที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดก็มีส่วนผสมยางพาราแต่มีในปริมาณที่ไม่มากนัก

และผลจากการคิดค้นและสอบถามข้อมูลผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขานำยางพารามาทำกาวดักหนูนั้น ทำให้พวกเขาสามารถผลิตกาวที่มีส่วนผสมของน้ำยางมากกว่ากาวตามท้องตลาดถึง 4 เท่า และเมื่อทดสอบคุณสมบัติการยึดติดของกาวกับพื้นผิวต่างๆ แล้ว พบว่ามีคุณสมบัติดีพอๆ กับกาวที่มีขายทั่วไป ส่วนคุณสมบัติของการทนต่อน้ำนั้นกาวของพวกเขาดีกว่ามาก

โดยพวกเขาได้ทดสอบกับวัสดุ 2 ชนิดคือ ไม้และพลาสติก ซึ่งได้ลองทากาวประกบ ไม้กับไม้, ไม้กับพลาสติกและพลาสติกกับพลาสติก จากนั้นนำวัสดุที่ทากาวเชื่อมไปแช่น้ำเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าในสัปดาห์ที่ 4 มีเพียงพลาสติกกับพลาสติกเท่านั้นที่หลุด และทำการทดลองเดียวกันนี้กับกาวตามท้องตลาดพบว่าในสัปดาห์ที่ 3 วัสดุทุกชนิดก็สามารถยึดติดกันต่อไปได้

ส่วนคุณสมบัติการทนต่อแรงดึงพบว่ากาวของพวกเขาสามารถทนแรงดึงเฉลี่ย 309.67 นิวตัน ส่วนกาวตามท้องตลาดทนได้ 282.33 นิวตัน อย่างไรก็ดี “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ต้องขอย้ำตรงนี้อีกเล็กน้อยว่า การวิจัยของพวกเขาเป็นงานของนักเรียนที่มีข้อจำกัดทั้งความรู้และเครื่องมือ ดังนั้นข้อมูลในการทดสอบจึงเป็นไปในเชิงคุณภาพ (Qualitative) มากกว่าเชิงปริมาณ (Quantitative)

สำหรับสูตรที่ใช้ในการทำกาวคือ 1.น้ำยางพารา 20 กรัม 2.ชัน (ยางจากต้นสน) 1 กรัม 3.น้ำมันพืช 1 กรัม 3.โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) 10 มิลลิลิตร และกำมะถัน 1 กรัม ซึ่งเด็กๆ ทั้ง 3 ยินดีที่จะคนอื่นนำสูตรนี้ไปใช้ได้ แต่พวกเขาก็ยอมรับว่ากาวของพวกเขายังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก เพราะผลจากการทดลองพบว่าเมื่อผสมกาวไปได้เพียง 4-5 วัน กาวของพวกเขาก็มีกลิ่นเหม็นรุนแรงและไม่น่าใช้

ทั้งนี้แม้ว่างานของนักวิจัยน้อยเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากมีการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น รวมถึงช่วยลดตัวเลขที่น่าวิตกว่าประเทศไทยซึ่งส่งออกน้ำยางดิบมากเป็นอันดับ 1 ของโลกแต่กลับมีรายได้จากการขายยางน้อยกว่ามาเลเซียถึง 4 เท่าลงได้

กำลังโหลดความคิดเห็น