xs
xsm
sm
md
lg

เมธีนวัตกรรมย้ำ “อาร์แอนด์ดี” สำคัญ แต่ต้องทำการตลาดด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมธีนวัตกรรมย้ำ “อาร์แอนด์ดี” จะเป็นจุดแข็งที่ให้ทำผลิตภัณฑ์มีข้อได้เปรียบในการค้า แต่ต้องทำการตลาดไปพร้อมๆ กัน ผลิตภัณฑ์จึงจะคงอยู่ได้นาน พร้อมยก “ไพล” และเกสรบัวหลวงเป็นกรณีศึกษาในการวิจัยเป็นนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์สินค้า ภายใต้ยี่ห้อ “ไพลทานอยด์” และ “โลตัสเซีย”

หากเอ่ยถึง “เมธีวิจัยส่งเสริมนวัตกรรม” หลายท่านคงไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร แต่คงจะพอคุ้นเคยกับคำว่า “เมธี” ที่เป็นคำยกย่องผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ ซึ่งเมธีส่งเสริมนวัตกรรมเป็นตำแหน่งที่ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มอบให้แก่ผู้ผลักดันงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งปีนี้มีการมอบตำแหน่งดังกล่าวเป็นครั้งแรกให้แก่เมธี 12 คน ใน 3 สาขาคือ ธุรกิจชีวภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อมและการออกแบบและสร้างตราสินค้า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา

นายสมบัติ วนาอุปถัมภ์กุล ผู้จัดการแผนกวิจัย ส่วนวิจัยและพัฒนาสินค้า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด (ILC) เป็นเมธีคนหนึ่งที่มีผลงานส่งเสริมนวัตกรรมในสาขาธุรกิจชีวภาพ โดยเขาได้ผลักดันให้ “ไพล” ซึ่งเป็นสมุนไพรไทย กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ภายใต้ชื่อทางการค้า “ไพลทานอยด์” (Plaitanoids) อีกทั้งเขายังมีส่วนในการพัฒนาเกสรบัวหลวงไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ เป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า “โลตัสเซีย” (Lotusia)

“ด้วยความเป็นเอกชน มุมมองหนึ่งที่เราได้คือภาคเอกชนมองยังไง ตลาดต้องการอะไร ซึ่งจะช่วยเหลือเอกชนรายย่อยได้เพื่อที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาในประเทศเรา” นายสมบัติซึ่งเป็นเมธีจากภาคเอกชนรายเดียวกล่าวว่าความต้องการของผู้บริโภคในธุรกิจเครื่องสำอางคือ อยากสวย อยากงาม มีรูปร่างดี จึงต้องหางานวิจัยที่จะมาตอบโจทย์ของตลาดตรงนี้ให้ได้และนำไปใช้ได้จริง

โดยก่อนหน้าที่นายสมบัติจะมาทำงานที่ “ไอแอลซี” ในปี พ.ศ.2546 เขาได้ทำงานอยู่ที่สำนักงานนวัตกรรมฯ หรือกองทุนพัฒนานวัตกรรมในขณะนั้น โดยได้เริ่มร่วมงานกับบริษัทเอกชนในการสรรหาสมุนไพรไทยมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และพบว่าเกสรบัวหลวงมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการต้นอนุมูลอิสระ อีกทั้งจากการค้นข้อมูลพบว่ายังไม่มีใครทำเรื่องนี้มาก่อน จึงเป็นแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาเกสรบัวหลวงสู่อุตสาหกรรมต่อไป และเมื่อปี พ.ศ.2547 ก็ได้รับอนุสิทธิบัตรให้นำเกสรบัวหลวงมาใช้ในเครื่องสำอาง

“ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Lotusia ที่ได้มาจากเกสรบัวหลวง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งเราได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการได้รับอนุสิทธิบัตร หมายความว่า มันเป็นเอกสิทธิแรกของโลก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็สร้างความภาคภูมิใจให้กับเรา และเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ ให้มาเร่งศึกษาวิจัยและต่อยอดให้เข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น”

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินงานทางด้านธุรกิจทุกวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิจัยและค้นคว้าอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะแข่งขันในตลาดต่อไปได้ แต่เมธีนวัตกรรมท่านนี้ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะคงอยู่ในตลาดต่อไปได้นั้น นอกจากการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีแล้ว การทำการตลาดก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่ในตลาดต่อไปได้

“การที่บริษัทมีอาร์แอนด์ดีผมถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในเชิงการค้า แต่ถ้าบริษัทไหนไม่มีการวิจัย การแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น มันก็จะลำบาก เราต้องสร้าง know how ขึ้นมาให้เราสามารถเดินต่อไปด้วยขาของเราเองได้ เพราะการวิจัยไม่ใช่แค่ 1 ปีหรือ 2 ปี ที่จะเห็นอะไรชัดเจน แต่เป็นการสะสมความรู้ในด้านความสามารถให้เกิดการแข่งขัน” นายสมบัติเสริม

ทั้งนี้นายสมบัติกล่าวว่าจุดยืนของทางไอแอลซีคือการนำสมุนไพรไทยไปใช้ในเครื่องสำอาง และปัจจุบันก็กำลังค้นหาสมุนไพรตัวใหม่ๆ ที่จะมีคุณสมบัติดีขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาทางไอแอลซีได้ลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีไปประมาณ 30 ล้านบาท และมีบุคลากรประมาณ 70 คน อีกทั้งฝ่ายการตลาดจะต้องปรึกษาฝ่ายอาร์แอนด์ดีก่อนนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค

สำหรับตราสินค้าที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยของไอแอลซีขณะนี้คือ “บีเอสซี เพียวแคร์” (BSC pure care) ซึ่งมีส่วนผสมของเกสรบัวหลวง และเป็นงานจากการค้นคว้าของคนไทยที่ยังไม่มีที่ใดในโลกค้นพบคุณสมบัติของสมุนไพรตัวนี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ส่วนภาพรวมของการทำอาร์แอนด์ดีในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั้น นายสมบัติกล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามาก แต่มีเพียง 2-3 บริษัทที่ลงไปในเชิงลึกคือร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้มีการต่อยอดจากงานวิจัยที่มีอยู่สู่ผลิตภัณฑ์ได้มาก ทั้งนี้เขาเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาโดยคนไทยนั้นมีคุณภาพไม่ต่างจากสินค้าที่นำเข้าหรืออาจจะมีคุณภาพที่ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น