xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยยาเอดส์เผย “ไทยต้องรอฟลุคถึงจะได้ยารักษา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิทย์ดีเด่น’ 46 จากผลงานหาโครงสร้างยารักษาเอดส์ เผยไทยจะผลิตยาได้ต้องรอ “ฟลุค” อย่างเดียวเพราะประเทศไม่รวย และนักวิจัยต้องทำงานขึ้นทั้ง “หิ้ง” และ “ห้าง” เล่าปัญหาการผลิตวัคซีนว่าเชื้อดื้อยาเป็นว่าเล่น 1 ปียาก็ใช้ไม่ได้ผลแล้ว ซ้ำยาดีที่รักษาได้ชะงัดก็ไปไม่ถึงเชื้อ นักวิจัยต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มหายาใหม่ที่ระงับการดื้อยาของเชื้อและกลุ่มผลิตตัวนำยาไปฆ่าเชื้อโรค

ปัจจุบันปัญหาเรื่องโรคเอดส์ยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก และประเทศไทยเองก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในความพยายามที่จะลดความเดือดร้อนดังกล่าวออกจากสังคม ซึ่งนอกจากรณรงค์ทางด้านสังคมในการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังมีการศึกษาค้นคว้าที่จะหาตัวยาโรคเอดส์ตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากป้องกันเอดส์ด้วยวิธีทางสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ก็กำลังลุย
รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัยไทยคนหนึ่งที่แอบฝันเล็กๆ ว่าจะผลิตยารักษาให้ได้เช่นเดียวกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งนี้เขาเคยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งผลงานวิจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลดังกล่าวคือ การพัฒนาระเบียบวิธีทางคอมพิวเตอร์ในการออกแบบโครงสร้างยายับยั้งโรคเอดส์และการออกแบบโครงสร้างสามมิติของเชื้อไวรัสของโรคซาร์

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุพจน์ยังเป็นหัวหน้าโครงการของศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาฯ งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีบางส่วนจึงเกี่ยวข้องกับการค้นคว้าตัวยาเพื่อรักษาโรคเอดส์ แต่เป็นงานวิจัยของนักวิจัยท่านอื่น ทั้งนี้ รศ.ดร.สุพจน์ อธิบายว่าในการวิจัยยาต้านไวรัสเอชไอวีนั้นมี 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ทำยาเก่าซึ่งมีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และกลุ่มที่มุ่งหาตัวยาใหม่ซึ่งเขาเองจัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้

รศ.ดร.ได้อธิบายถึงปัญหาของการผลิตรักษาโรคเอดส์ในปัจจุบันว่า ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะตัวยาไม่สามารถเข้าไปฆ่าเชื้อเอชไอวีได้โดยตรง เนื่องจากตัวยาไม่สามารถละลายน้ำได้จึงจำเป็นต้องมีตัวพายาไปต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งตรงนี้ก็มีนักวิจัยของศูนย์นวัตกรรมนาโนฯ ที่พยายามจะนำสารสกัดจากเปลือกกุ้งหรือไคโต-ไคโตซานมาใช้เป็นตัวพายา

“ยารักษาโรคเอดส์ทุกวันนี้มีอยู่ 6-7 ตัวเท่านั้นที่ใช้ได้ แต่ตัวที่ฆ่าเชื้อเอดส์ได้มีเป็นหลายสิบตัว แต่รักษาไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ 1.คือไม่ละลายน้ำ ทั้งที่เจอเชื้อเอดส์แล้วฆ่าได้ดีกว่า 6-7 ตัวที่ใช้อยู่ เพียงแต่ว่ามันไปไม่เจอกัน กินลงไป 5 กรัม อาจจะลงไปฆ่าเชื้อได้ไม่ถึงกรัม เพราะฉะนั้นจึงต้องมีตัวนำยา ซึ่งใช้ได้กับทุกโรค เพราะโรคอื่นๆ ก็เหมือนกันที่มียารักษาดีๆ แต่ใช้ไม่ได้ และ 2.ดูดซึมได้ง่ายเกินไปก็ไม่ถึงเป้าหมาย เพราะลงไปในร่างกายก็ถูกขับออก”

เชื้อดื้อยาอีกหนึ่งปัญหาของยารักษาเอดส์
และอีกปัญหาหนึ่งคือการดื้อยาซึ่ง รศ.ดร.สุพจน์ได้อธิบายว่าเชื้อโรคนั้นมีการต่อสู้อยู่ตลอดเวลา และการได้รับยาเดิมซ้ำๆ จะทำให้เชื้อต้องปรับตัวที่จะทนต่อยาเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 ปียาเดิมก็ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป อีกทั้งการรับยาแบบขาดๆ เกินๆ ไม่ตรงเวลาจะทำให้เชื้อมีโอกาสปรับได้สูง และระยะเวลาของประสิทธิภาพในการรักษาก็จะลดลง

“เชื้อดื้อยาเรื่อยๆ ดังนั้นในกลุ่มเวลาเชื้อดื้อยาจึงต้องลงไปดูถึงโมเลกุลเอนไซม์ของเชื้อเลยว่าเกิดอะไรขึ้นมันถึงดื้อ เราจะเห็นเลยว่ามันเหมือนกับรูปร่างของเอนไซม์ มันแค่เปลี่ยนแปลงอะไรไปนิดเดียว มันแค่เปลี่ยนหมู่ไปนิดเดียวมันก็เปลี่ยนสภาพแล้ว เอากรดอะมิโนตัวหนึ่งออกแล้วเอาตัวใหม่ใส่เข้าไปแทน ยาที่เคยรักษาได้ก็รักษาไม่ได้ จึงต้องศึกษาทำไมมันถึงดื้อยา หรือถ้ามันดื้ออย่างนี้ ยาใหม่ที่จะเข้ามาในล็อกนั้นไม่ให้มันดื้อควรจะออกแบบแบบไหน”

และ รศ.ดร.สุพจน์ยังกล่าวอีกว่าการมียารักษาเอดส์นั้นก็ไม่สามารถวางใจว่าปลอดภัย เพราะวันดีคืนดีเชื้ออาจจะเกิดการดื้อยาขึ้น จึงต้องเตรียมรับสถานการณ์ด้วยการเก็บตัวยาที่คิดค้นขึ้นมาได้ใหม่ที่แม้จะมีประสิทธิภาพดีกว่ายาตัวเก่าไว้ก่อน จนกว่าเชื้อจะดื้อยาจนไม่สามารถใช้ยาตัวเก่าได้ และต้องค้นคว้าหายาตัวใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นการหายารักษาโรคเอดส์จึงไม่ได้หยุดอยู่ที่การมีรักษาที่ได้ผลดี แต่ต้องยับยั้งการดื้อยาของเชื้อได้ด้วย

โดยกลุ่มของ รศ.ดร.สุพจน์ไม่ได้มองเพียงเงื่อนไขของการดื้อยาเท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดว่า “ธรรมชาติย่อมรักษาธรรมชาติได้ดีที่สุด” ดังนั้นทางกลุ่มจึงมุ่งที่จะหาตัวยาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรซึ่งมีอยู่มากในเมืองไทย หรือสารต่างๆ จากราและยีสต์ เป็นต้น ที่จะนำมาใช้รักษาโรคเอดส์ โดยลักษณะการทำวิจัยคือการใช้คอมพิวเตอร์สร้างโครงสร้างสามมิติของเชื้อโรคและตัวยา เพื่อที่จะดูว่าตัวยาตัวใดมีโอกาสที่จะฆ่าเชื้อเอชไอวีได้ การทำวิจัยลักษณะนี้จึงไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโดยตรง แต่จะเป็นการหาแนวทางในการพัฒนาตัวยาก่อนลงทดลองกับตัวจริง

“เราก็จะเอาข้อมูลที่เขาสังเคราะห์ไว้เยอะมาใช้วิธีทางคอมพิวเตอร์ดูว่าน่าจะมีสารจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสัก 2-3 หมื่นตัว โครงสร้างเป็นไง อะไรเป็นไง เอามาใส่เชื้อเอชไอวี ถ้าตัวไหนมีรูปร่างที่จะเข้ากันได้พอดี เราเชื่อว่ามันน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคนี้ได้ แล้วจะให้คนทำแล็บดูว่ามันใช้ได้หรือไม่ คือกลุ่มหนึ่งที่เรากำลังค้นคว้าวิจัยอยู่”

ส่วนการทดลองที่ต้องใช้เชื้อเอชไอวีนั้นจะมีมาตรฐานที่ใช้ควบคุมต่างหากเพื่อความปลอดภัยของผู้ทดลองและวิจัย แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ รศ.ดร.กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งงานวิจัยของเขาเองก็ไม่ง่ายนักที่จะได้ตัวยาที่ใช้การได้ออกมา ทั้งเนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากร เงินทุนหรือเครื่องมือต่างๆ แต่จำเป็นต้องทำเพราะอย่างน้อยอาจจะมีโชคขึ้นมาบ้างและเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานที่จะเท่าทันกับโรค

“ยังอีกไกล ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก บริษัทยามีคนเป็นร้อยเป็นพัน เขาก็ทำเหมือนเรา แต่ปัญหาคือพอเขาได้ เขารู้เขาก็ไม่บอกใคร แต่เราทำได้เราก็บอกชาวบ้านให้รู้ ยังไงโอกาสที่จะทำให้ทันบริษัทเป็นไปได้น้อยมาก แต่ถ้าไม่ทำเราก็ไม่รู้ เราก็ทำเพื่อที่อย่างน้อยๆ เกิดฟลุคขึ้นมา พวกเราต้องอาศัยฟลุคอย่างเดียว เพราะเอกชน บริษัทยาเขาลงทุนมหาศาล แต่แน่นอนว่าเขาทำได้เขาก็ต้องขายราคาแพงมหาศาลเหมือนกัน”

นักวิจัยไทยต้องทำใจ ประเทศไม่รวยต้องทำทั้งเรื่องบน “หิ้ง” และ “ห้าง”
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจมองว่านี้เป็นเพียงงานวิจัยที่ทำเพื่อขึ้น “หิ้ง” และไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง แต่รศ.ดร.สุพจน์กล่าวว่าก่อนที่จะมีผลงานขึ้นห้างได้นั้นต้องมีงานวิจัยที่หิ้งเสียก่อน มิฉะนั้นเราก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าอะไรเกิดจากอะไรได้เลย การรักษาเอดส์ของบ้านเราก็อาจเป็นไปในรักษาของการเดาสุ่มด้วยการทดลองว่ากินโน่นกินนี่แล้วจะหายโดยที่ไม่ทราบว่าเพราะอะไร

“นั่นคือปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา คือปัญหาหนึ่งของบ้านเราด้วย การจะเข้าใจธรรมชาติจะต้องทุ่มเทนะ บางคนเรียนปริญญาเอก 3 ปี 5 ปี แค่จะไปเข้าใจว่าทำไมมัน (เชื้อ) ถึงดื้อยา พอดื้อยาแล้วเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เรียนปริญญาเอก 5 ปีแล้วจะเข้าใจนะ คืออาจจะมีนักวิจัยทำเรื่องนี้อยู่เป็นล้านๆ คนทั่วโลก เพื่อแค่จะเข้าใจเรื่องเดียวกันว่าทำไมเชื้อมันถึงดื้อยา”

และ รศ.ดร.สุพจน์ยังได้พูดถึงข้อจำกัดในการทำวิจัยของบ้านเราว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัดจึงทำให้นักวิจัยที่ควรจะทำงานเชิงวิชาการหรือสร้างความรู้พื้นฐานเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องมองต่อไปด้วยว่างานวิจัยของตนนั้นจะนำไปต่อยอดได้อย่างไร หรืออาจจำเป็นต้องทำงานวิจัยในลักษณะที่ได้ผลงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งๆ ที่วิธีดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เป็นสากลนักเพราะประเทศที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะไม่มองว่างานวิจัยนั้นๆ จะออกมาเป็นผลงานหรือไม่ เนื่องจากการนำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์นั้นเป็นหน้าที่ของคนอีกกลุ่มเช่น วิศวกร เป็นต้น

“คงยากที่จะให้คนทั่วไปมองเห็นความสำคัญตรงนี้ เป็นเรื่องยาก ถ้ายังเป็นประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องปรับตัวทั้ง 2 ฝ่าย ตัวนักวิจัยเองก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่าประเทศเราไม่ได้รวยพอที่จะให้มานั่งก้มหน้าก้มตาเขียนเปเปอร์ (รายงานผลงานวิจัย) อย่างเดียว เราต้องพยายามแบ่งส่วนให้น้ำหนัก อาจจะ 70 ต่อ 30 ขณะเดียวกันต้องมองว่าถ้าขายได้ต้องทำอย่างไร” รศ.ดร.สุพจน์ทิ้งท้ายถึงสิ่งที่นักวิจัยไทยต้องเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น