“ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” เยือนหว้ากอ จากหมู่บ้านเล็กๆ ในอดีตกลายเป็น “แลนด์ มาร์ก” ทางวิทยาศาสตร์ไทยซึ่ง ร.4 ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อ 137 ปีก่อน พร้อมเยี่ยมชมปลานานาชนิดในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและท่องโลกอวกาศในอาคารดาราศาสตร์ ซึ่งอีก 4 ปีข้างหน้าคาดว่าจะบริการผู้เข้าชมให้ได้ปีละ 1 ล้านคน
ภาพในอดีตของ “หว้ากอ” เมื่อร้อยกว่าปีก่อนตามคำบอกเล่าผ่านกาลเวลาคือ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ไปทางทิศใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร เต็มไปด้วยป่าและสิงสาราสัตว์ แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงและคราสจะพาดผ่าน “หว้ากอ” ในวันที่ 18 ส.ค. 2411 จากนั้นหมู่บ้านธรรมดาๆ ก็กลายเป็นสถานที่สำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และกลายเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในทุกวันนี้
จากหมู่บ้านธรรมดา สู่ “แลนด์ มาร์ก” แห่งวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้
ในอดีตนั้นคนทั่วไปมีความเชื่อว่า “ราหู” หรือความมืดที่มาเยือนพร้อมกับสุริยุปราคานั้นคือสัญญาณบอกเหตุร้าย แต่“ผู้จัดการวิทยาศาสตร์”ไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะทุกวันนี้ “หว้ากอ” ซึ่งเป็นจุดที่คราสหรือเงามืดพาดผ่านในอดีตนั้น ได้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเมื่อใดที่เอ่ยถึงชื่อนี้ก็ต้องนึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญสำคัญทางดาราศาสตร์นั้น เสมือนกับเป็น “แลนด์ มาร์ก” ของวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว
และเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสถวายพระราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ในอุทยานฯ “หว้ากอ” ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณที่พระองค์ได้เคยทอดพระเนตรสุริยุปราคาพร้อมด้วยชาวฝรั่งเศสเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานเมื่อ 137 ปีที่ผ่านมา โดยพระองค์ได้ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาตามหลักการของวิทยาศาสตร์ ที่มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และในรัชสมัยของพระองค์ยังได้มีพระบรมราชโองการประกาศเวลามาตรฐานของประเทศไทยขึ้นด้วย
ทั้งนี้เรารู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่สำคัญแห่งนี้ ที่ครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ของไทย ซึ่งทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพให้ชาติตะวันตกเห็นว่าประเทศไทยไม่ด้อยในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเหตุการณ์ครั้งนั้นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสส่วนหนึ่งได้ทดลองวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กโลก พร้อมสร้างสิ่งปลูกสร้างซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโบราณสถานที่นับเป็นห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งแรกในประเทศไทย
ฝูงปลาแหวกว่ายใน “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ในหว้ากอ
สิ่งที่เราได้เห็นที่ “หว้ากอ” คือความน่าตื่นตาตื่นใจของแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์แห่งนี้ บริเวณอุทยานฯ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ติดกับชายทะเลและมีอาคารหลักๆ คือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอและอาคารดาราศาสตร์และอวกาศ ส่วนบริเวณรอบๆ อุทยานเป็นฐานการเรียนรู้ที่เตรียมไว้สำหรับรองรับค่ายวิทยาศาสตร์ที่มีตลอดทั้งปี รวมถึงโบราณสถานที่ชาวฝรั่งเศสได้สร้างไว้เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาตามคำทำนายของ ร.4 แต่ทีมงานมีเวลาอันจำกัดเราจึงได้ชมเพียงอาคารหลักๆ 2 หลังเท่านั้น
แห่งแรกที่เข้าไปคือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอันเป็นไฮไลท์แห่งใหม่ของ “หว้ากอ” ซึ่งด้านหน้าอาคารจะมีรูปปั้นฝูงโลมาแหวกว่ายสายน้ำพุอยู่เหนือทรงกลมฟ้า เมื่อเดินเข้าไปในอาคารก็จะพบกับรูปฉลามตัวโตลอยอยู่เหนือเพดาน ในส่วนที่แสดงสัตว์น้ำเป็นแท็งก์น้ำคล้ายตู้ปลาขนาดใหญ่ติดอยู่ข้างผนังให้เดินชมไปเรื่อยๆ ซึ่งจัดแสดงทั้งปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม เดินได้สักระยะ เราเห็นปลาไหลไฟฟ้าตัวใหญ่ซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่าปลาชนิดนี้สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ถึง 2 หมื่นโวลต์ เราจึงพยายามจะบันทึกภาพปลาไหลไฟฟ้ากลับมาฝาก แต่นายแบบจำเป็นของเราไม่ยอมออกมาจะจากมุมให้เราถ่ายภาพ
ต่างจาก “เต่าตนุ” (Olive Ridley Turtle, ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Lepidochelys olivacae) ที่แหวกว่ายในแทงก์น้ำอวดโฉมตัวเองเหมือนอยากจะทำความรู้จักกับทีมงาน และเราก็ชมสัตว์น้ำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสัตว์น้ำที่นำมาแสดงเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการเพาะเลี้ยงและส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำที่พบได้ในทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เมื่อสัตว์เจ็บป่วยทางเจ้าหน้าที่ก็ค่อยดูแลรักษา
นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นลักษณะอ่างน้ำกว้างๆ (Touch Pool) จัดแสดงสิ่งมีชีวิตในทะเลให้ดูอย่างใกล้ชิดคือสามารถสัมผัสได้ ทางทีมงานจึงได้จับแมงดาทะเล ดาวทะเลและเต่าทะเลตัวเป็นๆ แต่น่าเสียดายที่อุโมงค์ใต้น้ำ (tunnel) อยู่ในระหว่างการปรับปรุงในช่วงที่เราไปเที่ยวชมพอดี ก็เลยอดที่จะได้เห็นบรรยากาศฝูงปลาแหวกว่ายผ่านศีรษะเหมือน “โลกใต้น้ำ” (Under Water World) ที่สิงคโปร์ อย่างไรก็ดีคาดว่าตอนนี้คงจะพร้อมให้เข้าชมได้แล้ว
เรียนรู้ดาราศาสตร์ จุดเริ่มแห่งวิทยาศาสตร์ไทยยุคใหม่
หลังจากนั้นเราก็ไปหาความบันเทิงเชิงมีสาระกันต่อที่อาคารดาราศาสตร์และอวกาศ ซึ่งมีระยะทางไกลจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำพอสมควรและแดดก็ค่อนข้างแรง แต่สะดวกตรงที่มีถนนขนานไปกับชายหาด เรานั่งรถตรงไปไม่นานก็จุดหมาย และก่อนเข้าไปในตัวอาคารจะพบท้องฟ้าจำลองกลางแจ้ง (Outdoor Planetarium) ที่มีลักษณะเป็นโดมซึ่งเป็นฐานสำหรับกิจกรรมในค่ายวิทยาศาสตร์ โดยจำลองกลุ่มดาวในแต่ละเดือนและมีคำอธิบายภาพกลุ่มดาวอยู่ภายในโดม ทำให้ได้รู้ว่าเรื่องดาราศาสตร์ก็ใช่จะต้องศึกษากันตอนกลางคืนอย่างเดียว
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานฯ เปิดเผยว่ามีโครงการที่จะสร้างท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ 22 เมตร จุคนได้ 100 คน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 200 ล้านบาท หรืออาจจะประหยัดงบประมาณด้วยการสร้างหอดูดาวขนาดกลางที่รองรับคนจำนวน 60 คน และใช้งบประมาณ 40-50 ล้านบาทแทน ส่วนปัจจุบัน “หว้ากอ” ได้รองรับค่ายวิทยาศาสตร์ต่างๆ ตลอดทั้งปี รวมผู้เข้าเยี่ยมชมหลายแสนคนและทางอุทยานฯ ตั้งเป้าไว้ว่าในปี พ.ศ. 2552 นั้นจะให้บริการผู้เข้าเยี่ยมชมให้ได้ 1 ล้านคนเป็นอย่างน้อย
จากนั้นทีมงานได้เข้าไปในอาคารดาราศาสตร์ฯ ซึ่งมองจากข้างนอกจะเห็นว่าอาคารส่วนหนึ่งจำลองมาจาก “หอชัชวาลเวียงชัย” ซึ่งตั้งอยู่บนพระนครคีรีหรือเขาวัง (พระราชวังในรัชกาลที่ 4) จ.เพชรบุรี และพอเข้าไปข้างในจะพบกับทางขึ้นเป็นบันไดวนสู่ยอดโดมที่ผนังข้างทางเดินจะมีประวัติของดาราศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และมีภาพของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ที่มีผลงานเกี่ยวข้องกับจักรวาลและอวกาศ รวมถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่ปีนี้เป็นมหัศจรรย์ของเขา จากนั้นเมื่อไปถึงยอดโดมจะสามารถมองทิวทัศน์รอบๆ อุทยานได้
และภายในส่วนอื่นๆ ของอาคารยังมีนิทรรศการดาราศาสตร์อีกมากมาย เช่น เทพนิยายกรีกที่เกี่ยวกับดวงดาว เช่น “ดาวลูกไก่” ก็มีตำนานที่ต่างไปจากเรื่องตากับยายของไทย รวมถึงท้องฟ้าจำลอง และการกำเนิดของจักรวาลซึ่งในส่วนนี้มีจุดเด่นอยู่ที่หุ่นจำลอง "ระบบสุริยะ" แบบใช้ไฟฟ้า ที่จะแสดงให้เห็นดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลางด้วยระยะห่างต่างกัน หรือ “ตู้ไดโอรามา” แสดงหุ่นจำลองตัวดาวเคราะห์ 9 ดวง หรือพื้นผิวดาวเคราะห์แต่ละดวง พร้อมทั้งพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่และเรื่องราวดาราศาสตร์ไทยในอดีต
และถึงแม้จะยังไม่มีหอดูดาว แต่ทีมงานก็รู้สึกว่าถ้าจะเยี่ยมชมอุทยานแห่งนี้ให้ทั่วทั้งหมดคงใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวไม่ได้แน่ เพราะเรายังไม่ได้ชมส่วนอื่นๆ ของอุทยานอีก เช่น สวนผีเสื้อ สวนนก เป็นต้น นอกจากนี้ที่ “หว้ากอ” ยังมีฐานการเรียนรู้ที่เตรียมไว้เพื่อรองรับค่ายวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อกลุ่มของนักเรียน นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมี “ค่ายครอบครัว” ที่สามารถพาสมาชิกภายในมาร่วมกิจกรรมของทางอุทยานฯ อีกด้วย โดยค่ายดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกเดือน เม.ย. และรับเพียง 20 ครอบครัวเท่านั้น
สำหรับการเดินทางครั้งนี้มีสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือ กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “ตะวันดับ” ไม่ใช่ลางบอกเหตุร้ายแต่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพราะคราสที่พาดผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ในอดีตได้ทำให้สถานที่ธรรมดาแห่งนี้กลายเป็น “แลนด์ มาร์ก” ที่จะทำให้เรานึกถึงวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ