กระทรวงวิทย์จัดทัวร์ประจวบฯ เมืองเพชร ตามรอย ร.4 น้อมระลึกถึงพระอัจริยภาพทางด้านดาราศาสตร์ของพระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย ที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ แสดงให้ฝรั่งมั่งคาที่มองสยามประเทศว่าเป็นบ้านเมืองเถื่อนได้ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ พร้อมทั้งเผยเอกสารบันทึกการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงของ ร.5 จากนายกสมาคมดาราศาสตร์
เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดกิจกรรม “ตามรอย ร.4” นำสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีหรือ “เขาวัง” จังหวัดเพชรบุรีและอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อระลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
โดยพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยนั้นได้แสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการคำนวณเวลาการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ถูกต้องอย่างไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปีว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวในวันที่ 18 ส.ค.2411 และจะเห็นเงาดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์สนิทนานเป็นเวลา 6.45 นาที โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่มีนักวิชาการของชาติใดคำนวณได้
พระอัจฉริภาพข้างต้นได้ทำให้ชาติตะวันตก (ที่มองว่าสยามประเทศในขณะนั้นเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และหวังจะครอบครองเป็นอาณานิคม) ต้องยอมรับในพระปรีชาสามารถ และพระนาม “คิงมงกุฎ” ก็ได้โด่งดังไปทั่วโลก นอกจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์จะพาชาติให้รอดจากวิกฤติครั้งนั้น พระปรีชาสามารถด้านอื่นๆ ทั้งการเมือง การปกครอง การต่างประเทศและสถาปัตยกรรม เป็นต้น ยังเป็นรากฐานความเจริญของประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ในการเยือน “เขาวัง” นั้นคณะเดินทางและ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ได้เข้าไปเยี่ยมชม “พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมไทยและจีน ที่ประกอบไปด้วย ห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องทรงพระสำราญ ห้องพระสุธารสชา ห้องบรรทม ห้องทรงและห้องแต่งพระองค์ รวมถึงได้เข้าไปสัมผัสห้องบรรทมใน “พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์” ที่ทรงใช้ในการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ อีกทั้งยังได้ชื่นชมกับ “หอชัชวาลเวียงชัย” ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นหอดูดาว แต่แท้จริงแล้วคือประภาคารที่ให้แสงสว่างแก่ผู้เดินเรือ
และสถานที่สำคัญอีกแห่งคืออุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ได้ทรงทำนายไว้ และเราได้ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ซึ่งสร้างบริเวณที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อเกือบ 137 ปีที่ผ่านมา รวมถึงทัศนศึกษาอาคารดาราศาสตร์และอวกาศกับอาคารพิพิธสัตว์น้ำภายในอุทยานอีกด้วย
อย่างไรก็ดี “อุทยานฯ หว้ากอ” ในปัจจุบันยังเป็นแหล่งความรู้วิทยาศาสตร์ในอีกหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี ดาราศาสตร์และอวกาศ ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนั้น เราได้เห็นสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น เต่ากระ ปลาการ์ตูน ปลาฉลาม รวมถึงได้มีโอกาสสัมผัสผิวแข็งๆ ของดาวทะเล ผิวหยุ่นๆ ของปลิงทะเล และสัมผัสตัวเป็นๆ ของแมงดาทะเลอีกด้วย ซึ่งแหล่งความรู้แห่งนี้เกิดขึ้นจากพระบารมีของพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยนั่นเอง
พร้อมกันนี้ นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ร่วมเดินทางไปให้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และได้นำเอกสารชื่อ “The Total Solar Eclipse of April 6, 1875” ที่บันทึกการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2418 โดย เจ.เอ็น ล็อกเยอร์ (J.N. Lockyer) และอาเธอร์ สกัตเตอร์ (Arther Schuster) ซึ่งมีภาพวาดที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5 อยู่ด้วย
“พระมหากษัตริย์ไทยของเรานั้น ตั้งแต่อดีตสมัยพ่อขุนเม็งราย พระยาลิไท จนกระทั่งมาถึงพระนารายณ์มหาราช จนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์ทั้งสิ้น อันนี้จะเป็นพลังที่จะให้เราศึกษาภูมิปัญญาของชาติ”
และนายอารียังได้พูดถึงอนาคตของดาราศาสตร์ไทยต่อไปในอนาคตว่าดีขึ้น เนื่องจากกำลังจะมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์และหอดูดาวที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ อันจะเป็น “แลนด์ มาร์ก” ทางด้านภูมิศาสตร์เทียบเคียงกับต่างประเทศ รวมถึงชี้ว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเรื่องเวลาและปฏิทินนั้นได้จากดวงอาทิตย์และเป็นของขวัญที่ได้จากฟ้า
นอกจากนี้ในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมานั้นยังเป็นวันครบรอบ 317 ปี ที่พระนารายณ์มหาราชได้ทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาร่วมกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2231 นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ตามรอยการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงเวลาเดียวกับวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาตินี้