xs
xsm
sm
md
lg

"น้ำมัน" จากยางและพลาสติกใช้แล้ว ผลงานช่วยชาติในยามวิกฤติ โดยวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์จุฬาผลิตน้ำมันจากยางและพลาสติกใช้แล้ว ช่วยเหลือชาติในภาวะน้ำมันแพงพร้อมลดปัญหาขยะไปในตัว ด้วยการเผาโดยไม่ใช้ออกซิเจนซึ่งได้น้ำมันที่คุณสมบัติเหมือนน้ำมันเตา และหากสามารถผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีก็จะได้น้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น

ท่ามกลางปัญหาน้ำมันแพงที่เราทุกคนต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า บรรดานักวิจัยซึ่งเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ต่างพยายามที่จะหาพลังงานทดแทนที่จะมาแก้ปัญหาดังกล่าว และเป็นเรื่องน่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งที่ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า อาจารย์จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยที่จะเปลี่ยนยางและพลาสติกใช้แล้วต่างๆ ให้กลับไปเป็นน้ำมัน

ผศ.ดร.ศิริรัตน์ เจ้าของงานวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากขยะพลาสติกและยางโดยใช้กระบวนการไพโรไลซิส” ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม (Texas A&M University) เล่าว่าหลังจากจบกลับมาแล้วก็มาคิดว่าควรจะทำงานวิจัยอะไรที่บ้านเรากำลังประสบปัญหาและขาดแคลนซึ่งก็คิดว่าต่อต้องขาดแคลนน้ำมัน โดยช่วงเวลานั้นทุกคนให้ความสำคัญกับไบโอดีเซลซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไม

แต่ ผศ.ดร.ศิริรัตน์มองว่าน่าจะมีพลังงานทดแทนอย่างอื่นนอกจากไบโอดีเซล อีกอย่างบ้านเราก็มีปัญหาทางด้านขยะ และจากการศึกษาปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่นำร่องพบว่า บริเวณกรุงเทพมหานครมีขยะพลาสติกราว 6 แสนตัน/ปี บริเวณเขตเทศบาลสมุทรปราการมีปริมาณ 4 พันตัน/ปี และจังหวัดนครปฐมมีปริมาณเกือบ 1 หมื่นตัน/ปี การนำไปเผาทิ้งหรือฝังกลบก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหามากนัก หรือขยะจำพวกยางแม้จะจะนำไปทำรองเท้หรือกระถางต้นไม้ แตถึงที่สุดแล้วก็กลับไปเป็นขยะเช่นเดิม จึงน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่า

ส่วนหลักการในการผลิตน้ำมันด้วยวิธีนี้คือจะเผายางหรือพลาสติกนั้นโดยไม่ใช้ออกซิเจน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาจะได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันเตา ซึ่งทั้งน้ำมัน พลาสติกและยางต่างก็เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) แต่แตกต่างกันที่ความยาวของสายโซ่ของสารประกอบ ยางและพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสารมอนอเมอร์ (Monomer) ของปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงจากยางหรือพลาสติกนี้ ผศ.ดร.ศิริรัตน์กล่าวว่าเป็นวิธีที่หลายประเทศก็ทำอยู่แล้ว ซึ่งบางประเทศก็ให้ความสำคัญและบางประเทศก็มองข้ามไปเนื่องจากไม่คุ้มทุน แต่บางประเทศอย่างไต้หวันก็สามารถผลิตน้ำมันจากยางที่มีประสิทธิภาพคือได้เป็นน้ำมันเบนซินถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการลงทุน

ทั้งนี้การผลิตน้ำมันจากขยะทั้งหลายของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์นี้ มุ่งที่จะพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันที่ได้จากขยะให้ดีขึ้น และที่ไต้หวันสามารถผลิตนำมันเบนซินเนื่องจากสามารถผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาที่คุณภาพและเป็นความลับที่ไม่เปิดเผย ซึ่งนักวิจัยคนเก่งของไทยก็กำลังพยายามพัฒนาเพื่อที่จะได้น้ำมันที่คุณภาพมากขึ้น ซึ่งในการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ก็มีอยู่ 2 วิธีคือ 1.สังเคราะห์ขึ้นมาเอง และ 2.นำตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีมาดัดแปลงโดยการเพิ่มธาตุต่างๆ ในตารางธาตุลงไป

และเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ศิรัรตน์ได้ลองใช้ซูเปอร์เอซิด (Super acid) หรือสารประกอบออกไซด์ของกรดยิ่งยวดผสมลงไปในน้ำมันที่ได้จากการเผายาง ซึ่งได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติดีขึ้น จากน้ำมันเตาได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลและได้แก๊สโซลีนเพิ่มขึ้น อีกทั้งน้ำมันที่ผลิตขึ้นได้นี้ยังสามารถนำไปใช้ได้จริงกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้กับรถยนต์เพราะต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น