xs
xsm
sm
md
lg

บริติช เคาน์ซิลชวนสื่อร่วมเป็นทูตสร้างความเข้าใจวิทย์แก่มวลชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ เปิดเผยความคืบหน้าในการเฟ้นหาเยาวชนเป็นทูตวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าร่วมงานชุมนุมวิทย์ในอังกฤษ ล่าสุดได้ตัวแทน 36 คนที่จะคัดเลือกให้เหลือ 2 คนระหว่างวันที่ 21-24 เม.ย.นี้ ด้านผุ้อำนวยการบริติชฯ ประจำประเทศไทย วอนสื่อร่วมสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องในฐานะที่สามารถสื่อสารกับมวลชนได้อย่างกว้างขวาง

วานนี้ (20 เม.ย.) เวลา 14.00 น. นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ “ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ ปี 2548” ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์ และบริติช เคาน์ซิล ประเทศไทย (British Council Thailand) เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย 2 คนไปร่วมงานชุมนุมเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ (London International Youth Science Forum) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นายกรกล่าวว่าขณะนี้ได้คัดเลือกเยาวชนผู้มีความเหมาะสมจากซึ่งเป็นนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศได้แล้ว 36 คน และจะทำการคัดเลือกให้เหลือ 2 คนในระหว่างวันที่ 21 เม.ย.-24 เม.ย. นี้ โดยผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมงานชุมนุมฯ กับตัวแทนเยาวชนจาก 60 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เยาวชนทั้ง 36 คนถือว่าได้เป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ของไทยแล้วทั้งสิ้นแม้จะไม่ได้คัดเลือกให้ร่วมชุมนุมที่อังกฤษก็ตาม

โดยก่อนหน้าทางบริติชฯ และอพวช.ได้ส่งจดหมายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้นักศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ที่มีกล้าแสดงออกและสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี ได้ส่งวิดีโอแนะนำตัวเองให้กรรมการคัดเลือกผู้มีความเหมาะสมเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ไม่ได้พิจารณาในเรื่องผลการเรียนแต่อย่างใด

ทางด้าน มร.ปีเตอร์ อัพตัน (Mr.Peter Upton) ผู้อำนวยการบริติช เคาน์ซิล ประเทศไทยกล่าวว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพืชตัดต่อพันธุกรรม เทคโนโลยีใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่คนทั่วไปยังขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีปัจจัยมาแก้ไขปัญหาความเข้าใจ

ซึ่งได้แก่ 1.การมีนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจความรู้ใหม่ๆ ที่ค้นพบ 2.เยาวชนและประชาชนที่มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 3.ความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ ดังเช่นที่บริติช เคาน์ซิลฯ ได้ทำอยู่ พร้อมกันนี้เขาได้ฝากถึงสื่อมวลชนให้กันเผยแพร่ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง เพราะสื่อฯ จะเป็นองค์กรสำคัญที่สามารถสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ได้

พร้อมกันนี้นายภวดล ธนะเกียรติไกร นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้เปิดเผยถึงการได้เป็นตัวแทนในครั้งที่ผ่านมาว่าเขามีโอกาสได้เข้าร่วมฟังบรรยาย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังสนใจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสร้างอวัยวะเทียมในส่วนข้อต่อกระดูกเชิงกรานของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ทำให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้นและรับรู้ว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดโอกาสที่เป็นไปได้อีกมากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น