xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยเสี่ยงภัย ”ไต่เอเวอเรสต์” ไขปริศนา มนุษย์เอาตัวรอดได้อย่างไรในภาวะสุดขั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ – ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคบนภูเขาสูงเตรียมเริ่มงานวิจัยสุดเสี่ยง ไต่ขึ้นยอดเอเวอเรสต์ ศึกษากลไกร่างกายมนุษย์เมื่อต้องขึ้นที่สูง เก็บข้อมูลการตอบสนองช่วงที่ผจญกับสภาพรอบตัวแบบสุดโหด ทั้งภาวะแรงกดอากาศต่ำ ขาดอากาศหายใจ ใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองขณะพิชิตยอดเขาสูงสุดของโลก หวังนำมาพัฒนาวิธีรักษาคนไข้วิกฤติในห้องไอซียู

ในปี 2521 ไรน์โฮล์ด เมสส์เนอร์ (Reinhold Messner) และปีเตอร์ ฮาเบเลอร์ (Peter Habeler) นักไต่เขาชาวออสเตรียเป็นมนุษย์ 2 คนแรกที่ได้สัมผัสยอดสูงสุดของเทือกเขาเอเวอเรสต์โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนกระป๋องแต่อย่างใด ขณะที่พวกเขากำลังโซซัดโซเซใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางในอีกไม่กี่เมตรข้างหน้า ก็ต้องพยายามปั๊มลมหายใจเป็นสิบๆ เฮือกในแต่ละก้าว ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์ในการดูแลคนไข้ที่กำลังหายใจระทวยและต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน

เมสส์เนอร์อธิบายถึงห้วงเวลาที่เหยียบอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกว่าช่างเหมือนกับปอดที่หอบหายใจลอยอยู่บนหมอกและยอดเขา และในตำแหน่งนั้นอากาศช่างเบาบางมีออกซิเจนอยู่น้อยมาก ไม่ว่าจะหายใจเข้าไปมากแค่ไหน ร่างกายของเราก็ดูเหมือนจะใกล้เส้นตายเข้าไปทุกที เพราะหากขาดออกซิเจนในปอดก็จะเต็มไปด้วยของเหลว สมองก็จะโป่งบวม และถ้ายังไม่ยอมลดระดับลงให้ต่ำกว่านี้ เจ้าของร่างก็จะเข้าสู่ภาวะโคม่าและสิ้นใจไปในที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครต่อมิใครต่างเรียกพ้นที่จุดนั้นว่า “เขตแดนแห่งความตาย” (death zone)

จุดที่ภาวะมนุษย์ไม่สามารถจะทนไหวของยอดเขานี้ นับเป็นเขตคู่ขนานของคนไข้ที่จะตกสู่โคม่าหรือฟื้นชีพขึ้นมา ภาวะความอดทนต่อระดับออกซิเจนในเลือดต่ำของนักไต่เขาเมื่อไต่ไปถึงระดับสูงๆ ก็เหมือนภาวะที่พบในผู้ป่วยที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยให้ปอดและหัวใจทำงาน หรืออยู่ในภาวะ “บลู เบบี” (blue baby) เหมือนเด็กที่มีลักษณะตัวเขียวคล้ำเพราะเลือดขาดออกซิเจนเข้าไปเพิ่มเติม

ใช้กลไกการต่อสู้วิกฤติของนักไต่เขา เข้ารักษาคนไข้ไอซียู

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในภาวะเดียวกันทำไมบางคนยังอยู่รอดด้วยตัวเขณะที่บางคนต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและหากทั้งคู่กำลังเผชิญชะตาร่วมกันฝ่ายหนึ่งจะช่วยเหลืออีกฝ่ายได้อย่างไร นี่เป็นคำถามจากทีมแพทย์ด้านการไต่เขา ศูนย์การแพทย์ด้านการบิน อวกาศและสภาวะผิดธรรมดารุนแรง (Centre for Aviation, Space and Extreme Environment Medicine : Case) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) โดยพวกเขาจะเริ่มเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อหาคำตอบดังกล่าว

ระหว่างที่ไต่ขึ้นสู่ยอดเขานั้น ทีมงานจะวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดของพวกเขาเสียก่อน พร้อมทั้งตรวจสอบการทำงานของสมอง ปอด และกระบวนการเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึมอีกด้วย โดยพวกเขาหวังว่าระหว่างเดินทางจะได้เปรียบเทียบแรงขับในร่างกายมนุษย์เมื่อถึงขีดสุดในการเผชิญกับภาวะป่วยไข้อย่างวิกฤติ และการปรับตัวเองในระดับเอ็กซ์ตรีม หรือภาวะผิดแปลกอย่างสุดขั้ว

แต่ว่าการปีนป่ายเอเวอเรสต์สู่ไปถึงจุดที่สูงที่สุด เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้น ดูจะเสี่ยงภัยมากเกินไปสำหรับนักปีนเขามือใหม่ โดย ดร.ไมค์ กรอค็อตต์ (Dr Mike Grocott) ผู้นำทีมวิจัยไต่เขาครั้งนี้ พยายามหานักปีนเขามืออาชีพที่เคยผ่านการปีเขาสูงๆ มาแล้วหลายครั้งหลายหน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบหิมาลัย อีกทั้งยังต้องการนักปีนเขามากประสบการณ์ที่สามารถทำงานทางวิทยาศาสตร์ไปด้วยได้มาร่วมทีม

เพราะสิ่งที่นักวิจัยต้องการศึกษาในครั้งนี้ก็คือขีดจำกัดของร่างกายที่ทนความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เหล่านักปีนได้ประสบเมื่อขึ้นไปแตะถึงระดับที่สูงมากๆ โดยต้องการศึกษาว่าสภาพที่พวกเขาประสบจะเหมือนกลุ่มอาการชนิดใดบ้าง เช่น เหนื่อยอ่อน เสียสมดุล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไม่มีความอยากอาหาร คลื่นเหียน ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อเราต้องขึ้นไปอยู่บนที่สูงๆ รวมทั้ง “โรคขาดออกซิเจนในเนื้อเยื่อร่างกาย” (hypoxia) จนทำให้เจ้าของร่างต้องพยายามหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น

ในอากาศมีออกซิเจนอยู่ 21% และสัดส่วนเช่นนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเราจะอยู่ในชั้นบรรยากาศ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือความหนาแน่นและแรงดันอากาศ ซึ่งจะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่เรามุ่งขึ้นสู่ที่สูงขึ้น อย่างเช่นยอดเขาเอเวอเรสต์นับเป็นจุดที่สูงที่สุดในโลกและมีความหนาแน่นและแรงดันอากาศต่ำมาก แรงดันอากาศบริเวณนั้นมีเพียง 1 ใน 3 ของระดับน้ำทะเล และในอากาศแต่ละลิตรมีออกซิเจนอยู่ 1 ใน 3 ซึ่งสภาพเหล่านี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร่างกาย

ถ้าเราไม่สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปได้ในปริมาณที่เพียงพอจะเสี่ยงต่ออาการน้ำท่วมปวด ซึ่งปอดเป็นส่วนสำคัญในการนำออกซิเจนส่งไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อขึ้นสู่ที่สูงนักปีนเขาจะหายใจลึกและถี่มากยิ่งซึ่งทำให้สัดส่วนออกซิเจนต่อคาร์บอนไดในปอดเพิ่มมากขึ้นอันมีผลให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามการหายใจแบบนี้ก็จะทำให้เลือดข้นขึ้นและยากที่จะสูบฉีดไปตามร่างกายทำให้เกิดปัญหาใหม่ คือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นโลหิตตีบและหลอดเลือดในสมองมีปัญหาได้

ใช้ประสบการณ์ตรงเก็บข้อมูลตัวเองระหว่างไต่เขา

”พวกเราถามตัวเองว่ายังมีคำถามเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายในพื้นที่ระดับสูงใดบ้างที่ยังไม่มีคำตอบ และเราจะเรียนรู้การตอบสนองเหล่านี้เพื่อนำไปพัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่ประสบภาวะระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำในห้องไอซียูได้อย่างไร” กรอค็อตต์อธิบายจุดประสงค์ของการเดินทางสู่เอเวอเรสต์ครั้งนี้ โดยหวังจะใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองและทีมงานเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยวัดระดับออกซิเจนที่ยอดเขาเอเวอเรสต์มาก่อน ทางทีมงานได้วางแผนว่าจะวัดปริมาณออกซิเจนที่เลือดเส้นโลหิตใหญ่ แต่ภายใต้สภาพอุณหภูมิที่ติดลบของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก หลอดเลือดแดงก่อเป็นกำแพงหนาและต้องใช้แรงดันเลือดอย่างสูงในการสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย ทำให้ภารกิจนี้ทั้งยากเย็นและอันตราย ในการนี้ทางทีมงานจะใช้ตัวแหย่ที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อวัดปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อของร่างกายและการไหลเวียนโลหิตในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ยังมีทฤษฎีที่กล่าวถึงอาการเจ็บป่วยของผู้ที่ไต่เขาสูงว่า อาจจะมีอาการสมองบวมน้ำ เมื่อกะโหลกมีเนื้อที่และช่องว่างที่ตายตัว อาการโป่งพองก็ทำให้เกิดความดันไปในบริเวณที่ว่างของสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เสียสมดุลและอาจถึงแก่ชีวิตได้ เพื่อค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองขณะที่อยู่บนที่สูง ทางทีมงานก็จะวัดแรงดันภายในกะโหลกและใช้กล้องอินฟราเรดหยั่งระดับออกซิเจนในสมองของพวกเขาอีกด้วย

ทั้งนี้ พวกเขาหวังว่า สิ่งที่วัดออกมาได้นั้นจะนำไปพิจารณาหาความสัมพันธ์ของแรงตอบสนองระหว่างร่างกายและจิตใจของนักไต่เขาทั้งหลาย และพร้อมกันนี้ก็มีการศึกษาทางพันธุกรรม เพื่อค้นหาว่าการทำงานของกลไกของร่างกายในการต่อสู้กับสภาพที่วิกฤติเหล่านี้ อีกทั้งทำไมบางคนถึงรับมือกับภาวะออกซิเจนต่ำได้ดีกว่าคนอื่นๆ

”ยีนอดทน” ช่วยนำพาชีวิตให้ผ่านวิกฤติ

พวกเขาได้มองหายีนตัวเอกเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งยีนตัวแรกที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการทำสุขภาพของมนุษย์ให้สมบูรณ์แข็งแรงนั้น ค้นพบครั้งแรกโดย ดร.ฮิวจ์ มองโกเมอรี (Hugh Montgomery) ในปี 2541 โดยยีนดังกล่าวมาเป็นคู่และมี 2 แบบ

แบบที่ 1 (I version) นั้นเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านความทนทาน และดร.มองโกเมอรีเชื่อว่ายีนชนิดนี้มี 2 ชุด ซึ่งช่วยรักษาให้เจ้าของร่างกายรอดชีวิตอยู่ต่อไปเมื่ออยู่ในสภาพที่มีออกซิเจนอยู่ในระดับต่ำ เขาต้องการที่สืบต่อไปว่ายีนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการหายใจเมื่ออยู่บริเวณที่สูงอย่างไร อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพอย่างมากในการเผาผลาญออกซิเจน

อย่างไรก็ดี ทางทีมงานได้วางแผนวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเหล่านักปีนเขาทั้งหลายที่เคยพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เท่าที่จะเป็นไปได้ และการวิจัยต่อไปคือการเสาะหาดีเอ็นเอของชาวทิเบตซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณหลังคาโลก หรือที่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ข้อสันนิษฐานของทีมวิจัยเชื่อว่าทั้งผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์และผู้ที่อาศัยอยุ่บนที่สูงน่าจะมียีนที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือร่างกายยามออกซิเจนอยู่ในระดับที่ต่ำ

”พวกเราต้องการเห็นว่าพวกเขาที่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนที่สูงได้นั้นมีอะไรเป็นพิเศษ ถ้าพวกเราสามารถค้นหายีนที่ช่วยให้รอดชีวิตได้ พวกเราจะสามารถผลิตยาขึ้นมารักษาผู้ป่วยที่ตกอยู่ในภาวะระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติได้” ดร มองโกเมอรี อธิบาย และการปีนเขาเอเวอเรสต์คงไม่เหมาะสำหรับพวกใจไม่ถึงจริง เพราะเมือไม่นานมานี้ก็มีธุรกิจปีนเขาโดยเปิดโอกาสให้นักปีนเขามือใหม่ โดยมีไกด์และชาวเชอร์พะ (Sherpa) ซึ่งเป็นชาวเขาแถบหิมาลัยคอยให้การดูแลและนำทาง

ส่วนกรอค็อตต์ ผู้นำการวิจัยที่สุดโหดครั้งนี้ เห็นด้วยว่าการไต่สู่ยอดเอเวอเรสต์นั้นเป็นความพยายามที่แสนจะเสี่ยง แต่ว่าพวกเขาก็ยืนกรานที่จะเดินทางตามแผน โดยคำนึงถึงความสำเร็จของการเดินทางเป็นอันดับแรกและให้ทุกคนได้กลับถึงบ้านโดยปลอดภัย และถัดมาหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ดั่งที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่นั้นสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.xtreme-everest.co.uk
กำลังโหลดความคิดเห็น