xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์มะกัน พยายามหา “เสียงหัวเราะ” ของสัตว์ทั้งหลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ – นักวิจัยชาวสหรัฐฯ พยายามค้นหาคำตอบว่ามนุษย์อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเพียงสิ่งเดียวที่หัวเราะได้ เชื่อสัตว์หลายชนิดก็มีอารมณ์ขันและหัวเราะเป็น แต่ต่างมีรูปแบบการหัวเราะเป็นของตัวเองแตกต่างกันไป

ศ.จาค แพงก์เซปป์ (Jaak Panksepp) จากมหาวิทยาลัยโบวลิง กรีน แห่งรัฐโอไฮโอ (Bowling Green State University in Ohio) เปิดเผยว่า สัตว์อื่นๆ ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น สัตว์ก็สามารถส่งเสียงได้คล้ายคลึงกับเสียงหัวเราะของมนุษย์ รวมถึงเสียงหอบฮักๆ ที่ชิมแปนซีและสุนัข เมื่อพวกสัตว์เหล่านี้ต่างเล่นและส่งเสียงร่าเริง

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความสามารถในการหัวเราะนั้น น่าจะเป็นการตอบสนองทางอารมณ์มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมาในมนุษยชาติ โดยนักวิจัยเชื่อว่าความสามารถในหัวเราะของมนุษย์นั้นน่าจะมาก่อนความสามารถในการพูดจา

ศ.แพงก์เซปป์ อธิบายว่า วงจรของระบบประสาทส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหัวเราะนั้นอยู่ในสมองส่วนที่มีมาแต่เก่าก่อน และสมองส่วนนี้ก็มีในสัตว์หลายชนิดเช่นกัน อย่างเช่นชิมแปนซีตัวน้อยก็ส่งเสียงกรีดร้องแยกเขี้ยวอันดังลั่นเพื่อไล่หรือกลั่นแกล้งชิมป์ตัวอื่นๆ

ส่วนหนูทั้งหลายเมื่อมันเล่นกับพวกก็จะส่งเสียงร้องจี๊ดๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่เป็นเสียงที่บ่งถึงสภาพอารมณ์ในทางบวก โดยนักวิทยาศาสตร์ทางด้านประสาทวิทยาอธิบายผ่านนิตยสารไซน์ว่า เมื่อพวกหนูเกิดนึกสนุกอยากเล่นขึ้นมา พวกมันก็จะออกมาวุ่นวายกับมนุษย์ปรากฏตัวไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อจะหาหนทางในการเล่นสนุก

เสียงร้องแหลมๆ ทั้งเจี๊ยกๆ และจี๊ดๆ ในลิงและหนูนั้นเป็นผลมาจากวงจรประสาทในสมองปลอดปล่อยสิ่งที่เสมือนยากระตุ้นด้วยการส่งผ่านทางประสาท วงจรของตัวกระตุ้นนี้จะจุดให้สมองของมนุษย์เกิดการเพลิดเพลินและขบขัน

"จะต้องมีองค์ความรู้สักอย่างที่ช่วยเราเปิดเผยว่าสมองส่วนไหนของมนุษย์ที่สั่งการให้เกิดการหัวเราะ" แพงก์เซปป์ตั้งคำถามลงในขอเขียนของเขาพร้อมทั้งชี้ว่า แม้จะยังไม่มีใครศึกษาถึงความเป็นไปได้ในอารมณ์ขันของหนู แต่เขาเชื่อว่ามันมีอยู่จริง และเหมือนกับว่าบางครั้งพวกหนูกำลังสนุกสนานกันอย่างหนักราวกับว่ามีการเล่นตลกกันอยู่ก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น