xs
xsm
sm
md
lg

"สกัดโปรตีนจากรังไหม" ผลงานเด็ก ม.3 นักวิจัยอายุน้อยที่สุดในงานวิชาการระดับชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กชาย ม.3 จาก ร.ร. สวนกุหลาบคิดวิธีสกัดโปรตีนจากรังไหม และเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดซึ่งผ่านเกณฑ์การเสนอผลงานวิจัยที่งานประชุมวิชาการ สวทช. หลังจากอ่านพบว่ารังไหมให้โปรตีนที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพ และใช้ทำเครื่องสำอาง คาดว่าจะช่วยเพิ่มคุณค่าน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมไหม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมวิชาการประจำปี 2548 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ซึ่งก็มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานและการนำเสนองานวิชาการของนักวิจัยจากทั่วประเทศ และท่ามกลางการประชุมที่เต็มไปด้วยผลงานนักวิจัยระดับ “ด็อกเตอร์” มากมาย ก็มีหนุ่มน้อยที่ยังไม่ถึงวัยทำบัตรประชาชนได้ร่วมเสนองานวิจัยกับเขาด้วย งานนี้ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปทำความรู้จัก

เขาคนนั้นคือ ด.ช.ชินวิช ศรียืนยง หรือน้องจิมมี่ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ทำงานวิจัย “การสกัดโปรตีนจากรังไหมเพื่อประโยชน์เป็นสารชีวภาพ” (Extraction Protein from Cocoon for Using in Biomaterials) โดยจิมมี่เล่าว่าชอบศึกษาทางด้านชีววิทยา และเคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องแมลง แล้วพบว่าหนอนไหมนั้นสามารถสร้างโปรตีนที่มีประโยชน์ 2 ชนิดคือ ไฟโบรอิน (Fibroin) ซึ่งเป็นใยไหมที่ใช้ทอผ้า และเซริซิน (Sericin) ที่เป็นกาวเคลือบอยู่บนเส้นใยไหม

จากการศึกษาทางอินเทอร์เน็ตทำให้น้องจิมมี่พบว่ามีงานวิจัยของต่างประเทศจำนวนมากที่บ่งว่าโปรตีน 2 ชนิดข้างต้นนั้นมีคุณสมบัติที่ประโยชน์หลายอย่าง เช่น การรักษาความชุ่มชื้น , การอุ้มน้ำ, การป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน และการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต รวมถึงมีการนำไปใช้ในเวชภัณฑ์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ส่วนการสกัดโปรตีนจากรังไหมนั้น น้องจิมมี่จะสกัดโปรตีนไฟโบรอินด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ความเข้มข้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ 15 ครั้ง และใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส ต้มเพื่อสกัดโปรตีนเซริซิน นาน 5 ชั่วโมง โดยรังไหม 1 กิโลกรัม จะสกัดเซริซินได้ประมาณ 200 กรัม และโฟโบรอินได้ประมาณ 700 กรัม ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือ ผศ.ดร.วีรัศักดิ์ สุระเรืองชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในเรื่องคำแนะนำและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

ทางด้านอุปสรรคต่องานวิจัยนั้น น้องจิมมี่กล่าวว่าเนื่องจากใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับสูง ที่ต้องอาศัยความรู้มากจึงค่อนข้างยาก และต้องพัฒนาให้สารสกัดที่ได้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น แม้จะได้สารที่บริสุทธิ์พอสมควรแล้วก็ตาม อีกทั้งจะนำโปรตีนที่ได้ไปใช้ในเครื่องสำอางให้มากขึ้น รวมถึงนำองค์ความรู้ไปใช้ในอุตสาหกรรมไหมที่สกัดเซริซินไปเป็นน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้น้องจิมมี่ยังเป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนหรือ “เจเอสทีพี” (Junior Science Talent Project: JSTP) ซึ่งเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยแต่ละปีจะมีนักเรียนผ่านโครงการนี้ในระยะสั้น (1 ปี) จำนวน 100 คนและต้องนำเสนองานวิจัยอย่างน้อย 1 งาน ให้นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงจากสถาบันต่างๆ คัดเลือกเพื่อเข้าโครงการระยะยาวที่จะได้รับทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก

สำหรับอนาคตน้องจิมมี่ต้องการจะเป็นแพทย์นักวิจัยเพราะต้องการเป็นแพทย์อยู่แล้วและก็ชอบงานวิจัยด้วย ซึ่งที่ได้มาเสนองานวิจัยครั้งนี้เพราะได้รับจดหมายเชิญจาก สวทช.ให้ส่งผลงานเพื่อคัดเลือกงานวิจัยที่จะนำเสนอนี้ ก็ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์จึงได้เป็นผู้มีที่มีอายุน้อยที่สุดในการประชุมวิชาการครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น