xs
xsm
sm
md
lg

บ.ไบโอเทคใจดีตัดต่อ “ข้าวสีทอง” แก้ปัญหาเด็กขาดวิตามินเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/นิวไซแอนติส – นักวิทยาศาสตร์อังกฤษพัฒนา “ข้าวสีทอง” ตัดต่อพันธุกรรมสร้างสายพันธุ์ใหม่ให้มีเบตา-แคโรทีนมากกว่าข้าวทั่วไป โดยหวังให้ประเทศกำลังพัฒนานำไปเพาะปลูก เพื่อลดภาวะ การขาดวิตามินเอ อันเป็นภัยร้ายแก่เด็กกว่า 500,000 คนต่อปี

ร่างกายของมนุษย์เราเปลี่ยนเบตา-แคโรทีนเป็นเป็นวิตามินเอ ซึ่งข้าวสีทองพันธุ์นี้ผลิตเบตา-แคโรทีนได้มากถึง 20 เท่าของข้าวสายพันธุ์อื่นๆ นั่นหมายความว่า หากกินข้าวสีทองชนิดนี้เข้าไปจะช่วยให้ร่างกายมีวิตามินเอเพิ่มมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดวิตามินเอ โดยเฉพาะโรคตาบอดในเด็ก อันเป็นโรคสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา

องค์การอนามัยโลก หรือ “ฮู” (World Health Organisation : WHO) คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีเด็กกว่า 500,000 คนในประเทศกำลังพัฒนาต้องตาบอด เนื่องจากขาดวิตามินเอ

เมื่อข้าวสีทองสายพันธุ์ต้นแบบ ("Golden Rice") ปรากฏขึ้นในห้องทดลองในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 5 ปีก่อน หลายคนเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในไม่ช้า แต่ทว่ายังมีคำถามต่อข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวนี้ว่าเมื่อนำไปหุงจะสามารถผลิตเบตา-แคโรทีนได้มากพอที่จะมั่นใจได้ว่าอยู่ในระดับที่เด็กๆ ควรได้รับในแต่ละวันหรือไม่ อีกทั้งความกังวลต่อการเกษตรที่ใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ยังไม่มีการปลูกข้าวสีทองในแถบเอเชีย

ล่าสุดห้องปฏิบัติการของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอย่าง “ซินเจนตา” (Syngenta) ก็สามารถผลิตข้าวสีทอง ("Golden Rice2") ที่มีเบตา-แคโรทีนมากพอต่อความต้องการ โดยซินเจนตายังใจดีให้ข้าวพันธุ์นี้ฟรีๆ แก่รัฐบาลในประเทศแถบเอเชีย เพื่อนำมาลองเพาะปลูกและตั้งศูนย์ทดลอง

ข้าวสีทองแบบดั้งเดิมนั้นมีเบตา-แคโรทีนอยู่เพียง 1.6 ไมโครกรัมต่อข้าว 1 กรัม นับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าที่ต้องการ และเพื่อพัฒนาข้าวสีทอง 2 ขึ้นมาก็พบว่าในข้าว 1 กรัมนั้นมีปริมาณเบตา-แคโรทีนสูงถึง 37 ไมโครกรัม

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อว่า “ข้าวสีทอง” เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตรและกลุ่มทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าการหาหนทางให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอน่าจะเป็นทางการแก้ปัญหา แต่ว่าจะต้องมีการทดสอบปริมาณเบตา-แคโรทีนที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นวิตามิเอเมื่อรับประทานข้าวสีทองเข้าไป อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร

แต่นี่นับเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนครั้งแรกว่า เทคโนโลยีการตัดต่อทางพันธุกรรมในพืชมีจุดประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาของโลกที่กำลังพัฒนา มากกว่าการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อต้องเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจไบโอเทคของบริษัทในโลกตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น