เอ็มเทครวมนักวิจัยวัสดุคุยฟุ้งเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคโมเลกุล ทั้งเจ้าของผลงานฟิล์มยืดอายุพืชผักที่ควบคุมกระบวนการหายใจภายในของผลผลิตเกษตรหลังบรรจุห่อได้ หรือเครื่องมือตรวจสอบความบกพร่องในระดับจุลภาค ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลเพื่อพัฒนาวัสดุที่จะไปเสริมเศรษฐกิจ
หากท่านอยากจะทราบว่าเทคโนโลยีด้านวัสดุนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจคงต้องให้นักวิจัยที่มีผลงานมาเล่าให้ฟัง ซึ่งทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ก็ได้เชิญนักวิจัยของศูนย์ มาร่วมถกภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีวัสดุไทยสู่ยุคเศรษฐกิจฐานโมเลกุล” ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2548 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.): NAC2005 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
โดยนักวิจัยของเอ็มเทคที่มาร่วมอภิปรายในหัวดังกล่าวล้วนได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่ ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ดร.รุ้งนภา ทองพูล ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป และดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ได้รับรางวัลในงานบรัสเซลยูเรกา (Brussels Eureka!2004) ที่ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นเวทีแสดงนวัตกรรมระดับโลก
ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง เจ้าของผลงาน “เซรามิกส์จากเถ้าแกลบ” ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองบรัสเซลยูเรกาเล่าถึงว่าเซรามิกส์ที่ได้เป็นผลพวงมาจากของเสียทั้งหมด คือมีส่วนผสมของเถ้าแกลบจากการเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและตะกอนจากน้ำทิ้งในโรงงานอลูมิเนียม โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นเซรามิกส์คุณภาพสูงที่แข็งแรง น้ำหนักเบาและทนความร้อนได้หลายพันองศาเซลเซียส ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจคือเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ไม่เป็นที่ต้องการและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ทางด้าน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล และ ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน “ฟิล์มยืดอายุผัก-ผลไม้เขตร้อน” กล่าวว่าประเทศไทยต้องสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยวสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าที่หายไปกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุ 2 ประการคือ 1.การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 2.การยืดอายุโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม และ ดร.วรรณี ได้ชี้ถึงปัญหาการบรรจุภัณฑ์ของเกษตรกรไทยคือมีอะไรก็ใช้อย่างนั้น ทำให้เก็บผลิตผลได้ไม่นาน
ซึ่งผลงานของนักวิจัยทั้ง 2 ช่วยยืดอายุผลิตผลทางการเกษตรได้ถึง 22 วัน ทั้งที่โดยปกติเก็บได้ประมาณ 6 วัน และต้องรักษาอุณหภูมิภายห้องเย็นส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น ฟิล์มดังกล่าวสามารถยืดอายุผัก-ผลไม้ได้เนื่องจากสามารถควบคุมสภาพบรรยากาศภายในได้ ซึ่งมีผลต่อการหายของผัก-ผลไม้ โดยจะควบคุมให้มีออกซิเจนในระดับต่ำเพื่อลดอัตราการหายใจของผลิตผลทางการเกษตร แต่ยังคงให้มีการหมุนเวียนอยู่สม่ำเสมอ
ดร.อศิรากล่าวว่างานวิจัยดังกล่าวค่อนข้างยากเพราะผักและผลไม้แต่ละชนิดมีอัตราการหายใจที่แตกต่างกัน การจะยืดอายุผลิตผลการเกษตรจึงต้องพัฒนาฟิล์มให้เหมาะกับพฤติกรรมของพืชผลเหล่านั้น และชี้ให้ความสำคัญของเทคโนโลยีฐานโมเลกุลที่มีต่อเศรษฐกิจว่าการปรับโครงสร้างในระดับไมโครหรือนาโนเป็นสิ่งสำคัญที่พัฒนาวัสดุให้ตรงกับความต้องการได้ และฟิล์มนี้ก็เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีในระดับโมเลกุล
และ ดร.รุ้งนภา ทองพูล เจ้าของ “ฟิล์มใสดัดได้” (อ่านข่าว: “ฟิล์มใสกันร้อน” ผลงานนักวิจัยไทยคว้า "ยูเรกา" รางวัลนวัตกรรมระดับโลก) ได้เสริมถึงบทบาทของวัสดุที่มีต่อเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่างผลงานของตนว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน ทั้งด้านเกษตรที่ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตด้วยการสร้างเป็นโรงเรือนเพาะปลูก สามารถใช้เป็นฟิล์มกันร้อนที่ราคาถูกกว่าการนำเข้า และประยุกต์เป็นวัสดุอื่นๆ อีก เช่น หมวก ร่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ ได้เสริมว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะแข่งขันกันในระดับนาโนหรือเล็กกว่านั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณสมบัติวัสดุในระดับเล็กๆ และ ดร.ประเสริฐเองก็ได้พัฒนา “เครื่องมือวิเคราะห์ข้อบกพร่องจุลภาคในวัสดุ โดยใช้วิธีหาอายุขัยโพสิตรอน” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจหาจุดบกพร่องในวัสดุแบบไม่ทำลายหรือเอ็นดีที (Non-Destructive testing: NDT)
โดยเครื่องมือดังกล่าวจะยิงโพสิตรอน (อนุภาคที่มีสมบัติเหมือนอิเล็กตรอนแต่มีประจุเป็นบวก) ลงไปในวัสดุที่ต้องการตรวจสอบ และจากวัดรังสีจากการที่โพสิตรอนไปจะรวมกับอิเล็กตรอนแล้วให้โฟตอนออกมา (ในที่นี้คือรังสีแกมมา) ทำให้สามารถวิเคราะห์หาข้อบกพร่องในวัสดุได้ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจยุคโมเลกุลได้
สำหรับการประชุมประจำปี 2548 ของ สวทช. หรือ NAC2005 จัดขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และจะมีไปจนถึงวันที่ 30 มี.ค.โดยปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจยุคโมเลกุลที่ทั่วโลกกำลังสนใจ และพุ่งเป้าไปที่นักวิชาการ และผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายและสามารถกำหนดเป้าหมายของงานวิจัยที่นำไปสู่เศรษฐกิจได้