บีบีซีนิวส์ – เชื่อไหมว่า แค่เพียงดูนิ้วที่อยู่ในมือก็รู้ว่าเจ้าของนิ้วมือมีลักษณะนิสัยอย่างไร ซึ่งลักษณะทางกายภาพที่บ่งชี้ถึงลักษณะทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาและแพทย์พยายามค้นหาตลอดมา โดยล่าสุดนักวิจัยแคนาดาได้พยายามพิสูจน์ว่า คนที่นิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้จะมีความก้าวร้าวมากกว่าคนทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์แคนาดา ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ด (Peter Hurd) จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) เปิดเผยงานวิจัยเรื่องความยาวนิ้วของมนุษย์สามารถบอกถึงสภาพจิตใจได้เลยว่าคนๆ นั้นมีนิสัย “ก้าวร้าวหรือไม่” ผ่านวารสารทางจิตวิทยาชีวภาพที่ชื่อว่า “ไบโอโลจิคอล ไซโคโลจี” (Biological Psychology) โดยเมื่อเปรียบเทียบความยาวระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วนางของแต่ละคน คนที่มีนิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนางมีแนวโน้มเป็นคนเอะอะมะเทิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะไม่ถูกต้องมากนักในแง่การแสดงความก้าวร้าวด้วยวาจาหรือพฤติกรรมที่เป็นศัตรู
ดร.เฮิร์ด ได้ร่วมศึกษาเรื่องดังกล่าวกับแอลลิสัน ไบเลย์ (Allison Bailey) ซึ่งเป็นนักศึกษาของสถาบัน โดยสุ่มตัวอย่างจากนักศึกษาที่กำลังเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยจำนวน 300 คนจนพบว่า นักศึกษาชายที่มีนิ้วชี้สั้นได้คะแนนจากการวัดความก้าวร้าวมากกว่านักศึกษาที่มีนิ้วชี้ยาวกว่า แต่ว่าทั้งคู่ไม่ได้ศึกษาผู้หญิงเข้าไปในการสำรวจครั้งนี้ด้วย
”ความยาวของนิ้วสามารถอธิบายถึงบุคลิกภาพของเจ้าตัวได้ส่วนหนึ่ง แต่บุคลิกภาพส่วนใหญ่ของแต่ละบุคคลนั้นถูกกำหนดลักษณะมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแล้ว” ดร.เฮิร์ดเผย แต่ทว่าเรื่องของความยาวนิ้วที่เขาทำวิจัยอยู่นี้ก็ไม่สามารถด่วนสรุปลักษณะนิสัยของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสมัครเข้าทำงาน ทางผู้วิจัยย้ำว่า “คงไม่มีใครพิจารณาจากความยาวนิ้วเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ แนวโน้มการแสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ นั้นแท้จริงแล้วเกี่ยวข้องกับปริมาณของฮอร์โมน “เทสโทสเตอโรน” (testosterone) ที่ร่างกายได้รับขณะอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าปริมาณเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายที่ทารกได้รับจากท้องแม่มามากน้อยอย่างไรนั้น ดูได้จากความยาวของนิ้วมือ
ในผู้หญิง ซึ่งมีฮอร์โมนชนิดน้อยโดยปกติแล้วนิ้วชี้และนิ้วนางจะยาวเกือบเท่ากัน สามารถวัดได้จากลายนิ้วมือเส้นตรงโคนนิ้วที่ใกล้กับฝ่ามือที่สุดไปสู่ตรงปลายนิ้ว ขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่มีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้ นั่นก็เพราะเป็นตัวบ่งชี้ผ่านนิ้วนางว่ามีฮอร์โมนเพศชายอยู่
นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นอื่นๆ ระบุว่าผู้ชายที่มีนิ้วนางยาวและมือทั้ง 2 มีความสมมาตร คือประกับกันสนิท ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ทางเพศ หรือมีภาวการณ์เจริญพันธุ์ที่แข็งแรง ขณะที่ผู้หญิงหากมีนิ้วชี้ที่ยาวกว่าก็นับได้ว่ามีความแข็งแรงทางด้านการเจริญพันธุ์
อีกทั้งยังมีการศึกษานิ้วมือที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบเด็กผู้ชายจำนวนมากที่มีนิ้วนางสั้นกว่ามีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจก่อนวัยผู้ใหญ่ นั่นก็เพราะเกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกาย
ทางด้าน ศ.จอห์น แมนนิง (John Manning) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล แลงคาเชียร์ (University of Central Lancashire) ซึ่งเป็นนักวิชาการคนแรกที่ออกมาแสดงความมั่นใจว่าฮอร์โมนเพศที่ทารกได้รับขณะอยู่ในครรภ์มารดานั้นมีผลต่อความยาวของนิ้วก็แสดงความเห็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมีความเกี่ยวเนื่องกับความยาวของนิ้ว
”ถ้ามีการแข่งขันวิ่ง ผมจะสามารถคาดเดาได้เลยว่า ผู้ที่ไปถึงเส้นชัยก่อนจะเป็นใคร โดยดูได้จากความยาวของนิ้ว” แมนนิงเผย แต่การคาดเดาจากความยาวนิ้วนี้ไม่รวมไปถึงการบ่งชี้อาการจิตประสาทแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ศ.แมนนิงชี้ว่า การศึกษาของ ดร.เฮิร์ดนั้นมีตรรกะพื้นฐานมาจากเรื่องที่เรารู้กันว่าความยาวของนิ้วสะท้อนถึงการได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและระดับความก้าวร้าว แต่ว่าสิ่งที่ ดร.เฮิร์ดค้นพบจะต้องมีงานวิจัยมายืนยันการค้นพบครั้งนี้