“หมอพรทิพย์” ระบุดีเอ็นเอนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมได้ดี แต่มีปัญหาที่คนนำไปใช้ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีดีพอ เก็บวัตถุพยานไม่เป็น ไม่ต่อเนื่อง เห็นปัญหาได้ชัด กรณี “สึนามิ” นักวิทย์เอือมไม่อยากทำงานนิติเวช พร้อมยกย่องนักพยาธิวิทยา มหิดล เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้ดีเอ็นเอ
ประเทศไทยได้ตื่นตัวกับการนำ “ดีเอ็นเอ” มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ปัญหาในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกละเมิดคือความไม่เป็นระบบในการจัดเก็บวัตถุพยานและการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบที่ขาดความต่อเนื่อง ซึ่ง คุณหญิง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้กล่าวไว้หลายครั้ง รวมถึงการอภิปรายเรื่อง “จากดีเอ็นเอสู่ความยุติธรรม” ในการประชุมวิชาการพันธุศาสตร์ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 13 มี.ค.นี้
“หมอพรทิพย์” กล่าวว่าผู้มีส่วนรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมส่วนมากไม่เข้าใจต่อเทคโนโลยีที่สามารถให้เป็นหลักฐานเพื่อระบุตัวบุคคลได้อย่างแม่นยำนี้ แม้ดีเอ็นเอจะประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมแต่ปัญหาอยู่ที่การนำไปใช้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้หลายคนเบื่อหน่ายที่จะเข้าทำงานด้านนิติเวช อีกทั้งประชาชนกลับมีความรู้ที่จะเก็บหลักฐานได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียอีก
“การเก็บดีเอ็นเอทุกวันนี้ คนตรวจบางคนยังมือเปล่าอยู่เลย แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าดีเอ็นเอนั่นของจริง ตรวจแล้วถ่ายรูปไหม ตรวจแล้วเอาไปเก็บไว้ในถุงพลาสติกมันก็ไม่มีประโยชน์ มันต้องเก็บในซองกระดาษ กระบวนการเก็บยังไงก็ไม่รู้ เก็บแล้วก่อนเอาไปตรวจต้องมีการตรวจเบื้องต้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเลือด เป็นอสุจิ เรามีหรือยัง”
นอกจากนี้ “หมอพรทิพย์” ยังได้ยกกรณี “สึนามิ” เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อม และการทำงานที่ไม่เป็นระบบ ที่จะนำ “ดีเอ็นเอ” มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็กล่าวว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้แม้จะไม่มีระบบที่เตรียมพร้อม และเป็นครั้งแรกที่เกิดความเสียหายมากมายอย่างนี้ ก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปได้ถึงจะมีอุปสรรคมากก็ตาม
ทางด้าน รศ.ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้ที่ “หมอพรทิพย์” ยกย่องว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้การทำงานด้านดีเอ็นเอลุล่วงด้วยดี ได้กล่าวว่าในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของวัตถุพยานนั้น ต้องการความละเอียดแม่นยำมากกว่าการพิสูจน์พ่อ-แม่-ลูก อีกทั้งคุณภาพของวัตถุพยานก็มีข้อจำกัดในแง่คุณและปริมาณดีเอ็นเอ การจัดเก็บที่ถูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น
และ รศ.ดร.บุษบายังได้กล่าวอีกว่าในการพิสูจน์ตัวบุคคลนั้นถ้ามีวิธีที่ง่าย ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยและให้ผลดีก็ควรเลือกวิธีนั้นก่อน โดยได้ยกตัวอย่างการระบุร่างผู้เสียชีวิตในกรณี “สึนามิ” ที่มีหลายวิธี เช่น รูปพรรณสัณฐานซึ่งให้ได้ผลในวันแรกๆ เท่านั้น การระบุด้วยประวัติการทำฟันหรือแม้แต่เครื่องประดับ เป็นต้น