xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมบ่อกุ้งใหม่ ผนึกกำลังไคโตซานและโอโซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักงานนวัตกรรมร่วมมือเจ้าของบ่อกุ้ง สร้างนวัตกรรมใหม่ รวบระบบไคโตซานที่ใช้กำจัดของเสียที่ตกค้างจากอาหารสัตว์และระบบโอโซนสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 เทคโนโลยีระบบบำบัดลงบ่อกุ้ง อีกทั้งใช้พลาสติกคลุมดินลดปัจจัยแหล่งหมักหมมเชื้อโรค คาดเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นได้ผลผลิตคืนทุนแน่

อุตสาหกรรมกุ้งในอดีตที่ผ่านมา ช่วงปี พ.ศ.2528-2544 สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ระบบการเลี้ยงที่ทำให้กุ้งเสี่ยงต่อการติดโรค ทำให้เกษตรกรจำนวนมากนิยมใช้สารเคมีจำพวกยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันและรักษาโรคในกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเวลาต่อมา จากการตรวจสอบพวกสารเคมีตกค้างในกุ้งทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงในปี พ.ศ.2547 เหลือเพียง 30,000 ล้านบาท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับบริษัท อีแลนด์ คอร์ปอเรชัน จำกัด และหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมระบบการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่ และพบว่าควรหานวัตกรรมในการจัดการบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยก่อนหน้านี้มีระบบการจัดการบ่อกุ้งที่ประสบผลสำเร็จ 2 วิธี คือ การใช้โอโซนฆ่าเชื้อและการใช้ไคโตซานจำกัดของเสีย

ดร.สรวิศ เผ่าทองสุข นักวิจัยจากไบโอเทค กล่าวว่าระบบการเลี้ยงกุ้งแบบเดิมที่เป็นบ่อดิน ทำให้กุ้งเสียงต่อการเป็นโรคได้ง่าย เพราะดินเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาคือตัดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวด้วยการสร้างบ่อซีเมนหรือใช้พลาสติกคลุมบ่อดิน


ทางด้านนายพล พลเสน เจ้าของบ่อนวัตกรรมใหม่ จากบริษัท อีแลนด์ คอร์ปอเรชัน จำกัด กล่าวว่าการเลี้ยงกุ้งมีปัญหาสำคัญคือการบำบัดบ่อเลี้ยง ซึ่งหากทำไม่ดีแล้วจะให้บ่อกุ้งกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อได้ อีกทั้งการเลี้ยงแบบหนาแน่นสูง (super-intensive) 400 ตัว/ตร.ม. (โดยทั่วไป 100-200 ตัว/ตร.ม.) ทำให้การบำบัดได้ยากขึ้น ทางบริษัทจึงนำระบบการบำบัดด้วยไคโตซานและโอโซนมาใช้ และเป็นครั้งแรกที่นำ 2 ระบบมาใช้ร่วมกันในบ่อเดียว เรียกว่าระบบ ไคโต-โอโซน

ดร.สรวิศอธิบายถึงหลักการทำงานของบ่อกุ้งนวัตกรรมใหม่นี้คือ เลี้ยงกุ้งในระบบปิดและผสมผสานระหว่างการใช้ไคโตซานในการกำจัดของเสียที่เกิดจากอาหารจำพวกโปรตีนที่ให้แก่กุ้ง โดยไคโตซานจะเปลี่ยนสารประกอบไนโตรเจนจากแอมโมเนีย (NH3) ที่มีความเป็นพิษสูงให้กลายเป็นไนเตรท (NO3) ซึ่งไม่อันตราย และการใช้โอโซนซึ่งเป็นตัวออกซิไดซ์ (oxidizing agent) ชนิดรุนแรงฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ใช้ในความเข้มข้นที่ไม่เป็นอันตรายต่อกุ้ง

“ระบบใหม่ที่เราคิดค้นนี้ใช้สารธรรมชาติ (biopolymer) ติดตามไนโตรเจน (N) ซึ่งเกิดจากโปรตีนที่ให้เป็นอาหารกุ้ง คือติดตามโปรตีนที่ตกค้างและนำสารซึ่งเกิดจากการตกตะกอนนี้ไปให้ปลากิน และใช้โอโซนควบคุมเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงใช้ประโยชน์จากแสงแดดที่ฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคอยู่แล้วช่วยกำจัดสาหร่ายและแพลงค์ตอนพืช” นายพลกล่าว

และนายพลยังได้บอกถึงข้อดีของการเลี้ยงกุ้งด้วยระบบนี้ว่าแม้ต้นทุนจะสูงแต่ดูแลง่าย ได้ผลมากกว่าวิธีธรรมชาติและคาดว่าจะได้ผลผลิตที่ชดเชยต้นทุนได้คือ 8,000 กก./ไร่ และมีขนาดกุ้ง 60 ตัว/กก. อีกทั้งการเลี้ยงกุ้งด้วยระบบใหม่นี้ยังไม่ต้องใช้สารเคมีเพราะได้ตัดดินซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแล้ว

นอกจากนี้ ดร.สรวิศได้กล่าวว่าการเลี้ยงกุ้งด้วยนวัตกรรมใหม่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น จึงยังต้องรอดูผลว่านวัตกรรมนี้จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด โดยทางสำนักงานนวัตกรรมฯและไบโอเทคจะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการรวมถึงให้ทุนช่วยเหลือในการพัฒนาระบบบำบัดบ่อกุ้งบางส่วน และประเมินด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทาง ดร.สรวิศกล่าวว่าต้องดูประสิทธิภาพการทำงานของชุดบำบัดทั้ง 2 ว่าให้ช่วยปรับปรุงน้ำและให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น