เนเจอร์/เรดโนวานิวส์ – ภาวะ “อกหัก” รักคุดใช่ว่าจะเป็นเพียงแค่อาการทางจิตประสาทเพียงอย่างเดียว แต่ว่าการสูญเสียคนรักแบบไม่ทันตั้งตัว หรือเผชิญกับเรื่องที่ตกใจและกดดันเกินกว่าหัวใจดวงน้อยๆ จะรับไหวนั้นอาจส่งผลให้หัวใจหยุดทำงานไปชั่วขณะ อาการแบบนี้แพทย์ตั้งชื่อให้ว่า “กลุ่มอาการหัวใจสลาย” หรือ “โบรกเคน ฮาร์ท ซินโดรม”
ฮันเตอร์ แชมเปียน (Hunter Champion) จากโรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในบัลติมอร์ (Johns Hopkins Hospital in Baltimore) รัฐแมรีแลนด์ เปิดเผยงานวิจัยผ่านวารสารทางการแพทย์ “นิวอิงแลนด์ จอร์นัล ออฟ เมดิซิน” (New England Journal of Medicine) ออนไลน์ฉบับล่าสุดว่า ความเศร้าโศกเสียใจ หรืออาการช็อกจากความสูญเสียส่งผลกระทบให้หัวใจให้หยุดทำงานได้ และยังแสดงอาการคล้ายกับหัวใจวาย คือ เจ็บหน้าอก มีของเหลวในปอด หายใจสั้นถี่ และหัวใจล้มเหลวไปในที่สุด
แต่อาการดังกล่าวเรียกว่า “กลุ่มอาการหัวใจสลาย” หรือ “โบรกเคน ฮาร์ท ซินโดรม” (Broken Heart Syndrome) เหมือนหัวใจถูกทุบและพังลงอย่างฉับพลัน ส่วนที่ไม่เหมือนหัวใจวายปกตินั่นก็เพราะสามารถกู้อาการโบรกเคน ฮาร์ทให้หัวใจกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้รวดเร็วกว่า ขณะที่อาการหัวใจวายทั่วไปจะต้องนำส่งโรงพยาบาลและใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะฟื้นคืนปกติ และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากอาการอกหักก็ไม่ได้ทำลายเนื้อเยื่อหัวใจไปอย่างถาวร
”แม้ว่าสมรรถภาพการเต้นของหัวใจจะลดลงและกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง แต่ก็ไม่เป็นอันตรายกับร่างกายหรือถึงแก่ชีวิต” แชมเปียน หัวหน้าคณะวิจัยเผย พร้อมทั้งดำเนินการศึกษาหาความแตกต่างและรายละเอียดระหว่างกลุ่มอาการดังกล่าวกับโรคหัวใจทั่วไป
เป็นเวลากว่าหลายศตวรรษที่เหล่าแพทย์รู้กันดีว่าถ้าคนไข้อยู่ในอาการช็อกจะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและสิ้นใจฉับพลัน ซึ่ง “กลุ่มอาการหัวใจสลาย” นี้ในทางเทคนิกแล้ว แพทย์รู้จักดีในนาม “โรคกล้ามเนื้อหัวใจเครียด” (stress cardiomyopath) นับเป็นอุบัติการณ์ที่ต่างออกไปจากโรคหัวใจปกติ
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยของแชมเปียนซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และนักหทัยวิทยา (ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ) จากสถาบันเดียวกันพยายามหาปริมาณของอะดรีนาลีน และฮอร์โมนอันเนื่องมาจากความเครียดตัวอื่นๆ ในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนเหล่านั้นกับประสิทธิภาพในการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ
ทั้งนี้ ระหว่างเดือนธันวาคม 1999 จนถึงเดือนกันยายน 2003 แชมเปียนและคณะได้สังเกตและบันทึกภาพคลื่นสมองของคนไข้ในห้องฉุกเฉิน 19 รายที่ได้รับความเจ็บปวดจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจเครียด โดยพบว่าคนไข้เหล่านี้ประสบภาวะเส้นเลือดแดงหล่อเลี้ยงหัวใจขาดเลือด และสามารถแก้ไขกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และนำมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วย 7 รายที่มีอาการหัวใจวายแบบปกติ ทำให้นักวิจัยพบปริมาณฮอร์โมนที่ชื่อว่า “แคตทิโคลาไมนส์” (catecholamines) ในผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจสลายว่า มีระดับสูงกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วไป 2-3 เท่า และมีฮอร์โมนดังกล่าวมากกว่าคนสุขภาพดี 7-34 เท่า
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่เกิดอาการโบรกเคน ฮาร์ท ซินโดรม ส่วนมากเป็นผู้หญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจเครียดจนกระทั่งหยุดทำงานอย่างกะทันหันนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เธอเหล่านั้นต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียด เช่น การสูญเสียคนรักไม่ว่าจะเป็นสามีหรือลูก ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถูกปล้นจี้ ร่วมสถานการณ์การต่อสู้ถกเถียง การเผชิญหน้าบนศาล หรือแม้แต่การจัดปาร์ตี้เซอร์ไพรซ์เจ้าตัว และการพูดในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี โรคกล้ามเนื้อหัวใจเครียดเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วในญี่ปุ่น ซึ่งเรียกกันว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจ “ตาโกะสึโบะ” (takotsubo cardiomyopathy) ซึ่งเป็นอาการหัวใจหยุดทำงานลงอย่างเฉียบพลัน แต่ทว่าโรคดังกล่าวไม่เป็นที่คุ้นเคยในซีกโลกตะวันตก และที่น่าประหลาดใจคือคนไข้กลุ่มนี้เมื่อวัดภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram : EGC) อัลตราซาวนด์ หรือเครื่องเอ็มอาร์ไอ กลับไม่พบว่ามีอาการโรคหัวใจแต่อย่างใด
ทางด้าน ดร.ดาเนียล ชินด์เลอร์ (Dr.Daniel Shindler) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการการบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) สถาบันแพทย์โรเบิร์ต วูด จอห์นสัน (Robert Wood Johnson Medical School) ในนิว บรันส์วิก เปิดเผยว่า อาการโบรกเคน ฮาร์ท ซินโดรมนี้เพิ่งเกิดกับภรรยาของเขาไปหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ต้องสูญเสียลูกสาว และแม้ว่าภรรยาของชินด์เลอร์จะเป็นหมอก็ตาม
ภรรยาของชินด์เลอร์เกิดอาการประสาทในหัวใจผิดปกติหลังจากลูกสาวเสียชีวิตลง ซึ่งเมื่อลองตรวจสอบดูแล้วก็ปรากฏว่าหัวใจของเธอเต้นในจังหวะที่ผิดปกติ แต่ว่าเธอก็ไม่ได้เป็นโรคอะไรแต่อย่างใด ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ชินด์เลอร์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะการทำงานของหัวใจและสมองมีความสัมพันธ์กัน ถ้าหากคนไข้ได้รับแรงกระทบเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง สามารถส่งผลต่อกระแสไฟฟ้าอันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของหัวใจได้ และถ้าได้ยินเสียงดังมากๆ พุ่งขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ก็ทำให้ปริมาณอะดรีนาลีนในร่างกายพุ่งสูง และในบางรายที่มีภาวะผิดปกติบางอย่างอยู่แล้วอาจถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้แพทย์เวรประจำห้องฉุกเฉินและแพทย์ทางด้านโรคหัวใจนำกลุ่มอาการโบรกเคน ฮาร์ท ซินโดรมไปร่วมพิจารณาด้วยหากรับคนไข้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนกับหัวใจวายเข้ามารักษา ถึงแม้อาการของโรคจะคล้ายกัน แต่การรักษาดูแลอาการนั้นแตกต่างกัน