สอวน. ทำตำราวิทย์-คณิตมาตรฐานยกระดับการเรียนวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย หลังพบปัญหาทั้งครูผู้สอนมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่ำ ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์จัดอันดับความรู้ให้เกือบบ๊วย อยู่ที่ 55 จาก 60 ประเทศ ระดมอาจารย์มากประสบการณ์ในการอบรมเด็กโอลิมปิกจัดทำตำรา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คอมและเลข ส่งฟรีแก่โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อเป็นตำรามาตรฐาน
วานนี้ (25 ม.ค.) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา หรือ สอวน. แถลงข่าวโครงการตำราวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อแจกจ่ายแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐทั่วประเทศ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ณ โรงแรมฟอร์จูน
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ สอวน. เปิดเผยว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการศึกษาไทยอยู่ในวงจำกัดส่วนหนึ่งมาจากตำรา และครูผู้สอนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมาก ซึ่งจากการศึกษาโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน จำนวน 19,000 แห่ง พบว่าอาจารย์เพียงคนเดียวแต่สอนในหลายๆ แขนงวิชา และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงหนึ่งแขนงใด ทำให้ความรู้ที่สอนให้กับนักเรียนในชั้นเรียนไม่อยู่ในระดับมาตรฐาน จึงต้องจัดทำตำราเรียนที่มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถใช้ตำราในระดับเดียวกันได้
นายสุนทร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำตำราวิทยาศาสตร์ฯ ว่า เนื่องมาจากองค์ประธานมูลนิธิ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา จึงเป็นโอกาสอันดีของนักเรียนชั้น ม. ปลาย ที่จะมีตำราเรียนที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นการฉลองวโรกาสสำคัญนี้และเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจว่า นักเรียนของเราจะได้รับความรู้ในกรอบเดียวกันหมดในฐานะที่วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ
ทางด้าน ศ. ศักดา ศิริพันธ์ เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. เผยถึงวัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ ส่งเสริมนักเรียนเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ จากประสบการณ์ที่มี สมเด็จพระพี่นางเธอฯ จึงทรงมีพระราชดำริว่า น่าจะเอาประสบการณ์ที่ได้มาเผยแพร่ไปสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ และเป็นที่มาของความคิดการทำตำราเหล่านี้ขึ้น เลขาฯ มูลนิธิกล่าวต่อว่าการส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกสัมฤทธิ์ผลพอสมควร ทำให้คิดต่อว่าควรจะเผยแพร่ความรู้จากประสบการณ์การแข่งโอลิมปิกเพื่อพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก
“อาจจะทราบกันมาว่าการจัดอันดับทางวิทยาศาสตร์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตอนนี้เราอยู่ที่ 55 จากการจัดอันดับ 60 ประเทศ เป็นเวลาอย่างนี้มาหลายปีแล้วไม่กระเตื้องขึ้นเลย การจะพัฒนาการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้น กุญแจสำคัญอยู่ที่การอบรมครูให้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์ได้มีการจัดอบรมครูมาทั้งสิ้น 5 ปี ครูได้ผลการทดสอบก่อนเรียนเพียงแค่ 30% จะเห็นว่าพื้นความรู้ครูไม่แน่นเลย นี่คือครูที่สอนลูกหลานเราอยู่” ศ.ศักดา กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่าความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาก็คือการพัฒนาครู แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ซึ่งเกินกำลังของมูลนิธิเล็กๆ ที่เป็นองค์กรอิสระและงบประมาณไม่มากอย่าง สอวน. จึงใช้วิธีการผลิตตำราขึ้นแทน ด้านความพิเศษของตำราชุดนี้ มีความแตกต่างกับตำราทั่วไปตามท้องตลาดที่ตำราส่วนใหญ่เป็นแนวการกวดวิชาที่อาจขาดความลึกซึ้ง ความถูกต้อง และความซับซ้อน เพราะเน้นการทำข้อสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก
“ตำรานี้ยังได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์มาก ในการควบคุมนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิก โดยเนื้อหาตำราครอบคลุมระดับ ม.4-6 และปี 1 ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย ตำราชุดนี้เป็นแบบภาพ 4 สีทำให้มีความน่าสนใจและมีมาตรฐานสากล มีเนื้อหา มีรูปสี และพิมพ์ในกระดาษอาร์ต อีกส่วนจะพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์เพื่อจำหน่ายต่อไป” ศ.ศักดากล่าว และพูดถึงประโยชน์ของตำราว่านำไปใช้สอนนักเรียนในค่ายโอลิมปิก นักเรียนทั่วไปก็ใช้เป็นคู่มือในการเรียนตามหลักสูตรได้ ส่วนครูอาจารย์ก็สามารถใช้เป็นตำราอ้างอิง
ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ อดีตอาจารย์ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เขียนตำราฟิสิกส์ กล่าวว่าฟิสิกส์เล่มนี้นั้นยากเพราะตั้งใจเขียนสำหรับเด็กโอลิมปิก และคณิตศาสตร์ที่ใช้เป็นแคลคูลัสไม่ใช่พีชคณิต ซึ่งจะยากสำหรับเด็กทั่วไป แต่เด็กทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นสิ่งท้าทาย ถ้าเด็กที่มีความพิเศษหรือเด็กที่มีความสนใจหรือแม้แต่ครูที่สอนเองบอกว่าหนังสือของมูลนิธินั้นยาก ก็อาจจะอยากพิสูจน์ว่าหนังสือดังกล่าว มีความยากง่ายสักแค่ไหน
“หนังสือฟิสิกส์เล่มนี้ที่ขึ้นต้นด้วยแคลคูลัสก็หมายความว่าคนอ่านต้องเรียนแคลคูลัสที่อยู่ในบทแรกๆ ให้รู้เรื่องพอสมควรก่อนจะอ่าน เพราะถ้าไม่รู้แคลคูลัสก็ไม่สามารถจะอ่านตอนหลังได้ การใช้แคลคูลัสแม้จะยากกว่าใช้พีชคณิตแต่ก็จะทำให้เราเห็นอะไรได้กว้างกว่า เหมือนเราจะไปยังจุดหมายสักที่ ถ้าเราปีนภูเขาเพื่อจะไปยังจุดหมายนั้นแทนการเดินอ้อมก็จะทำให้เราเห็นภาพที่กว้างกว่า ” ดร.วุทธิพันธุ์กล่าว
สำหรับชุดหนังสือที่มูลนิธิจัดทำขึ้นนี้มีทั้งหมด 21 เล่มใน 5 สาขาวิชาได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ซึ่งในแต่ละวิชาจะมีจำนวนเล่มไม่เท่ากัน ขณะนี้ได้พิมพ์ออกมาแล้วจำนวน 11 เล่มด้วยระบบภาพ 4 สีใช้กระดาษอาร์ตในการจัดพิมพ์ และได้จัดส่งให้กับโรงเรียนต่างๆไปแล้วกว่า 2,700 แห่ง นอกจากนี้ได้จัดพิมพ์อีกส่วนหนึ่งสำหรับจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปด้วยกระดาษปอนด์ โดยมีศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย