xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายไทยวิพากษ์ "ควร" หรือ "ไม่" ก.ม.ผสมเทียมมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักกฎหมายแสดงความเป็นห่วง 4 ประเด็น กรณีมีการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการผสมเทียม โดยเฉพาะควรทำหรือไม่ควร เป็นการละเมิดการก่อเกิดโดยธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่ ควรมีขอบเขตแค่ไหนในการผสมเทียม ความปลอดภัยอยู่ในระดับใด การเตรียมพร้อมรับมือกับวิทยาการสมัยใหม่ของมวลมนุษยชาติ

รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการผสมเทียมมนุษย์ไว้ 4 ประเด็นคือ 1.ควรทำหรือไม่ โดยคนส่วนใหญ่ในโลกเชื่อว่ากำเนิดมนุษย์อาจเกิดอิทธิพลของสิ่งที่มีอำนาจควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

"การที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวว่า นักวิทยาศาสตร์ ได้สั่งสมความรู้และเทคโนโลยีมากพอที่จะผสมเซลล์ให้กำเนิดของเพศชายหญิงให้กลายเป็นตัวอ่อน และพัฒนาสู่ทารกที่มีชีวิต และใช้ความรู้นี้ไปเพื่อสนองตอบความต้องการของตนเองได้สั่นสะเทือนโลกทัศน์ว่าด้วยจักรวาลมนุษย์ และสิ่งรอบตัวของมนุษยชาติในทุกสังคม และนำมาสู่คำถาม และทัศนะที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวาง และยังไร้จุดร่วม นอกเสียจากข้อสรุปใน 2 ทาง คือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยที่ฝ่ายหลังมิได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะกลุ่มที่มองผ่านจุดยืนความเชื่อทางศาสนา แต่ยังรวมถึงผู้ที่ยอมรับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หากแต่เห็นว่าควรมีเส้นแบ่งระหว่างที่ “ทำได้” และสิ่งที่ “ควรทำ” ออกจากกัน โดยมีฐานความคิดว่า มนุษย์มีศักยภาพทางปัญญาเพื่อคอยกำกับให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ไม่ควรทำในทุกสิ่งที่ตนเองทำได้ เพื่อระมัดระวังไม่ให้การพัฒนาองค์ความรู้ก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมตามมา" รศ.แสวง กล่าว

ประเด็นที่ 2 ควรมีขอบเขตแค่ไหนในการผสมเทียม แม้มีการระบุถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องนำวิธีการปฏิสนธิเทียมหรือการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มาใช้ในทางการแพทย์ว่าเป็นไปเพื่อ 2 เป้าหมาย คือ บำบัดรักษาให้แก่คู่สามีภรรยาที่มีความบกพร่องทางกายภาพจนมีบุตรได้ยาก และเพื่อต้องการพัฒนาการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ให้ก้าวหน้าต่อไป แต่ก็มีความเสี่ยงก่อผลกระทบอย่างยิ่งหากเดินหน้าไปโดยอิสระ มีปัญหาที่ซับซ้อนในเรื่องของการอนุญาตให้มีการอุ้มบุญ ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้การให้กำเนิดทารกกลายเป็นสินค้า การอุ้มท้องที่เคยมีคุณค่าสูงและก่อสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างแม่ลูกกลับกลายเป็นการให้บริการ รวมไปถึงการที่ทารกที่เกิดมาอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม มีผลกระทบหากชายหรือหญิงที่ต้องการมีบุตรแต่ผู้เดียวโดยไม่ประสงค์จะมีคู่

ประเด็นที่ 3 ความปลอดภัยอยู่ในระดับใด เป็นประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงกว้างขวางมากนัก แต่เป็นเรื่องที่ก่อผลระยะยาวไปจนตลอดชีวิต และไม่อาจประเมินความเสี่ยงได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมาเคยมีรายการทางการแพทย์ที่กล่าวถึงความเสี่ยงของการผสมเทียมในหลอดแก้ว ว่า พบความผิดปกติเมื่อคลอดออกมา หรือมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติหรือเกิดโรคบางอย่างในอัตรา ร้อยละ 9

ประเด็นที่ 4 สังคมจะรับมือกับวิทยาการนี้อย่างไร ความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานับแต่เกิดการลงมือทดลองและปฏิบัติการผสมเทียมมนุษย์ได้ก่อแรงสั่นสะเทือนต่อทัศนคติ และระบบความสัมพันธ์ในสังคม นับตั้งแต่ระดับปัจเจกชน จนถึงระดับความสัมพันธ์ในครอบครัว เครือญาติ ชุมชน และสังคมโดยรวม ซึ่งหลายประเด็นมีแง่มุมที่ท้าทายหลักศีลธรรมและจริยธรรมสากล และอีกหลายประเด็นยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ เช่น การนำเชื้อพันธุ์ของสามีหรือภรรยา ผสมให้เกิดตัวอ่อนนอกร่างกายกับเชื้อพันธุ์ที่ได้รับบริจาคจากบุคคลอื่น ชีวิตที่กำเนิดขึ้นจะเป็นลูกของใคร หรือการ “อุ้มบุญ” ที่มีหญิงอื่นมารับบทบาทอุ้มครรภ์แทนจะถือว่าใครเป็นพ่อแม่ตัวจริง และพัวพันไปถึงสิทธิในการอ้างสิทธิ์ในการรับมรดก หรือกรณีการผสมเทียมเกิดจากความประสงค์ของชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากบุคคลนั้นมีอันเป็นไปกระทันหันทารกจะมีชะตากรรมอย่างไร

นอกจากนี้ รศ.แสวง กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแลในเรื่องของการผสมเทียมมนุษย์ สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในรูปของประกาศแพทยสภาฉบับที่ 1/2540 และ 21/2545 โดยประกาศฉบับแรกมีสาระสำคัญว่าด้วยกระบวนการมาตรฐานการให้บริการการแพทย์แขนงนี้ ส่วนฉบับหลังระบุถึงการยอมรับการบริจาคเชื้ออสุจิ ไข่ รวมทั้งตัวอ่อนเพื่อใช้ในการผสมเทียมมนุษย์ แต่ให้เก็บข้อมูลเป็นความลับ ในส่วนของร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาขณะนี้ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ที่เสนอโดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ และ ร่าง พ.ร.บ. อนามัยเจริญพันธุ์ เฉพาะหมวดที่ 6 ที่เสนอโดยรัฐสภา

การใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์และสังคมต้องอยู่ในกรอบของความสมเหตุสมผลและขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคม การปรับปรุงกฎหมาย หรือการยกร่างกฎหมายเฉพาะการให้การรับรองหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลายศาสตร์หลายสาขาเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาสามารถปฏิบัติได้ ข้อที่ควรตระหนัก คือ การก้าวไปข้างหน้าด้วยความไม่รู้ ทำให้ไม่กลัว ซึ่งเป็นการก้าวไปที่อันตรายอย่างยิ่ง” รศ.แสวง กล่าว

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้ให้ทางเลือกใหม่ด้วยการผสมเทียมมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF : in vitro fertilization) การทำกิฟท์ (GIFT : Gamete intra fallopian transfer) รวมทั้ง ซิฟท์ (ZIFT : Zygote intra fallopian transfer) ไอซีเอสไอ (ICSI : Intra cytoplasmic sperm injection) และการตั้งครรภ์แทน หรือ “อุ้มบุญ” เป็นต้น ซึ่งสนองตอบความปรารถนาของคู่สมรส หรือผู้ต้องการมีบุตรได้แน่นอนและตรงใจกว่าการพึ่งไสยศาสตร์ เพราะเป็นปฏิบัติการที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ลงมือเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น