xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์จุฬาแนะใช้ “จีไอเอส” จัดการหลังคลื่นยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์นักธรรณี จุฬาฯ แนะวิธีบริหารจัดการมาใช้หลังปัญหาคลื่นยักษ์ถล่ม ด้วยระบบของจีไอเอส เน้นย้ำความสำคัญของข้อมูลที่มีจำเป็นสำหรับการนำมาประมวลเพื่อสร้างแบบจำลองเพื่อให้คนเห็นภาพที่ตรงกัน พร้อมชี้แจงถ้าจีไอเอสดีสามารถนำมาประเมินความเสี่ยงก่อนเกิด หาทางป้องกัน และวางแผนการสร้างใหม่แทนของเดิมได้

วานนี้ (20 ม.ค.) ผศ.สมบัติ อยู่เมือง อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สัมมนาในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้จีไอเอส (GIS) และข้อมูลรีโมท เซนซิ่ง (Remote Sensing) เพื่อการประเมินผลกระทบสภาพทางกายภาพและธรณีวิทยาในพื้นที่ประสบธรณีพิบัติภัย จากการเกิดคลื่นยักษ์ (tsunami) บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย” ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อาจารย์ธรณีวิทยาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส (GIS : Geographic Information System) มาใช้ในการจัดการว่า การจัดเก็บข้อมูลข่าวสารไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เหล่านี้สามารถจะแปลความหมายเชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์อื่นๆในพื้นที่ ทำให้สามารถมองเห็นภาพออกมาในรูปของแผนที่หรือเป็นภาพสามมิติได้ชัดเจนขึ้น  และทำให้ทุกคนทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลก่อนเพื่อจะนำมาประมวลก่อนจะนำข้อมูลมาใช้

สำหรับ จีไอเอส คือ กระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ข้อมูลและแผนที่ในจีไอเอสเป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูล และฐานข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้ ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปลและสื่อความหมาย ใช้งานได้ง่าย


“จีไอเอสเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ ช่วยให้เราเห็นภาพข้อมูลที่มีการเปรียบเทียบการวิเคราะห์การสังเคราะห์ การทำทางเลือกในหลายๆแบบที่นำไปสู่การจัดการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่มานั่งเถียงกันบนโต๊ะโดยที่ไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย แล้วมานั่งฟันธงกันโดยไม่มีอะไรมาคุยกัน ใครที่เสียงดังกว่าได้ได้ไปใครเสียงเบากว่าก็เงียบ ซึ่งผมถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แต่เป็นโหราศาสตร์ ผมเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะต้องพูดด้วยข้อมูลและหลักฐาน ทุกอย่างอยู่ที่การประเมินผลในเชิงสถิติและโอกาสของความเป็นไปได้เราได้ศึกษามาแล้วทั้งนั้น”

ผศ. สมบัติ ยังได้เผยถึงความพร้อมในองค์ประกอบหลักทั้ง 5 อย่างที่จะทำให้ประเทศเราพัฒนาในเรื่องจีไอเอสและข้อมูลรีโมท เซนซิ่ง คือ

1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ที่รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการนำเข้าข้อมูล เพื่อการแสดงผล ประมวลผลและผลลัพธ์ของการทำงาน  2. ซอฟ์ทแวร์ (Software)  3. ข้อมูล ที่มีความสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งที่จะถูกจัดเก็บในรูปของฐานข้อมูล 4. บุคลากร เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในระบบจีไอเอสรวมบุคคลทุกฝ่ายตั้งแต่ ผู้นำเข้าข้อมูล ช่างเทคนิค ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ผู้บริหารซึ่งต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

“ถ้าขาดบุคลากร ข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้น ก็จะเป็นเพียงขยะไม่มีคุณค่าใดเลยเพราะไม่ได้ถูกนำไปใช้งานหรือใช้งานไม่เป็น และส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือ 5. วีธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินงาน ที่แต่ละองค์กรจะนำระบบจีไอเอสไปใช้กับการจัดการปัญหาที่แตกต่างกันอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงาน” นักธรณีวิทยา จุฬา กล่าว

“หัวใจของจีไอเอสไม่ได้อยู่ที่แผนที่ แต่อยู่ที่คำอธิบายที่ฐานข้อมูล” ผศ. สมบัติ ย้ำว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำมาทำแผนที่หรือสร้างแบบจำลองขึ้นมา และจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากหลายๆแล่งสามารถบอกแหล่งที่มาได้ก่อนที่จะนำมาประมวลกันเพื่อสร้างแบบจำลองออกมา ไม่ใช่การคิดแล้วไปวาดเอาเองโดยไม่มีข้อมูล

“ปัญหาต่อมาคือถ้ามีข้อมูลแล้วแต่ไม่มีแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นยังไง ซึ่งในส่วนนี้เองที่เรานำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มามาใช้ทำให้คนนึกภาพออกว่าเกิดตรงไหนยังไง สามารถมองจากแบบจำลองแล้วได้คำตอบว่า ทำไมศรีลังกาอยู่ไกลกว่าเราแต่โดนหนักกว่า ทำไมเราโดนก่อนศรีลังกาและทำไมไปถึงทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องให้ให้ประจักษ์อย่างในโมเดล(แบบจำลอง) ซึ่งเป็นข้อมูลในส่วนที่เราต้องให้ความสนใจ”

“แบบจำลองทางคณิตศาสตร์มีการตรวจสอบในหลายทาง อย่างระดับความสูงของคลื่นว่ากี่เมตร ตรงตำแหน่งไหนบริเวณไหน และนำมาพลอตว่าแต่ละบริเวณสูงเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ในการปรับโมเดล และเวลาของการเข้าถึงของคลื่นยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งทำให้ข้อมูลนี้น่าเชื่อถือ” ผศ. สมบัติ กล่าว

“สิ่งที่ทำนี้ทำมาตั้งแต่วันที่ 26 ที่เกิดเหตุสึนามิ ไม่ใช่เพิ่งมาทำ และส่งข้อมูลบางส่วนให้ภาครัฐเอาไปบริหารจัดการต่อที่ภูเก็ต เราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เช่นภาพถ่าย อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นภาพ ถือเป็นการช่วยเหลือทางวิชาการ ตอนนี้มีการประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวปไซต์ก็ได้พยายามรวบรวมข้อมูลมาในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ตั้งแต่เกิดเหตุเพื่อให้ข้อมูลสาธารณะกับ ซึ่งสามารถนำมาช่วยในการประเมินได้แบบที่เห็นรูปร่างหน้าตา เห็นเป็นภาพโดยที่ไม่ต้องใช้จินตนาการ เห็นเป็นแผนที่ทุกคนจะได้เข้าใจได้ตรงกันและร่วมกันวางแผนด้วยกัน” ผศ.สมบัติ กล่าว

ผศ.สมบัติ ยังแนะว่า สิ่งที่ต้องทำคือตั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เอาประสบการณ์ของกรมต่างๆมาใช้ในหลายๆด้าน ซึ่งไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการขาดความเป็นมืออาชีพในเรื่องการบริหารการจัดการอยู่มาก และบุคลลากรจะต้องใช้แบบเป็นเครือข่ายที่มีความสามารถ ข้อมูลสำคัญที่ได้มาต้องใช้ให้เป็นต้องรู้ว่าจะเอามาใช้อะไรเอามาวิเคราะห์อะไรเพื่อจะนำข้อมูลจีไอเอสมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น