อาจารย์นักธรณีจากรั้วจามจุรี ข้ามรั้วไปแนะการใช้ข้อมูลจีไอเอสถึงเกษตร เน้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงาอย่างมีหลักการและข้อมูลที่ชัดเจน อย่าใส่อารมณ์และความรู้สึก เพราะอาจสร้างความตื่นตระหนกจนเกิดเหตุ ยกกรณีข่าวด้ามขวานเลื่อนไปไกล 15 ซ.ม. เป็นการแปลข้อมูลเกินข้อมูล แนะนักวิชาการจะให้ความรู้แก่สาธารณชน ต้องรู้ระดับการสื่อสารและใช้คำให้เข้าใจง่าย
วันนี้ (20 ม.ค.) เวลา 13.00 น. ผศ.สมบัติ อยู่เมือง อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สัมมนาในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้จีไอเอส (GIS) และข้อมูลรีโมท เซนซิ่ง (Remote Sensing) เพื่อการประเมินผลกระทบสภาพทางกายภาพและธรณีวิทยาในพื้นที่ประสบธรณีพิบัติภัย จากการเกิดคลื่นยักษ์ (tsunami) บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีอาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 80 คน
ผศ.สมบัติกล่าวว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภูมิศาสตร์น้อย สังเกตได้จากการกรณีของคลื่นยักษ์สึนามิที่สร้างความเสียหายให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล) ในฝั่งอันดามันของไทย และมีหลายคนกังวลว่าจะเกิดภัยพิบัติดังกล่าวในฝั่งอ่าวไทย อีกทั้งการฟังเพียงข้อมูลว่าเกิดเหตุที่จังหวัดใดบ้าง ทำให้ไม่เห็นภาพและไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ดังนั้นข้อมูลจากระบบภูมิสารสนเทศหรือจีไอเอส จึงมีความสำคัญช่วยให้ง่ายต่อการบริหารและจัดการ
“จีไอเอสเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพ เป็นระบบข้อมูลที่นำมาประมวลผลโดยคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ต่อการตัดสินใจที่ดีหลายๆ ทาง เพราะฟังแต่ตัวเลข ทำให้แต่ละคนมองภาพไม่เหมือนกัน การเห็นภาพที่ชัดเจนจะช่วยให้เราเห็นความเสียหายว่าเกิดตรงไหนบ้าง นำไปสู่การสังเคราะห์เพื่อการจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ธรณีวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นต้องพูดกันด้วยข้อมูลและหลักฐาน จะไปแก้ไขหรือฟื้นฟูต้องมีข้อมูลวิชาการที่ชัดเจน” อาจารย์ภาควิชาธรณีกล่าว
นอกจากนี้ ผศ.สมบัติยังได้กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนลงข่าวโดยอ้างถึงคณะนักวิชาการจากรั้วเดียวกันว่าแผนที่ประเทศไทยในส่วนของด้ามขวาน (ภาคใต้) ได้เลื่อนจากแนวเดิมถึง 15 เซนติเมตร เป็นการแปลข้อมูลที่เกินจริงและสร้างความตระหนกเกินกว่าเหตุ
"เพราะจริงๆ แล้วมีการวัดเพียงไม่กี่จุดใน จ.ภูเก็ต ซึ่งสื่อนำไปตีความว่าพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดเลื่อนออกไปจึงเป็นการแปลข้อมูลเกินข้อมูล ส่วนในการนำเสนอนั้นไม่มีใครทำภาพแผ่นดินเลื่อนขึ้นมา แต่ทางสื่อคงฟังตัวเลขแล้วเอาไปสร้างกราฟิกเอง ซึ่งถ้าเป็นการนำข้อมูลจากหลายๆ ที่มาอ้างอิงรวมกันก็ยังพอเข้าใจได้ แต่การฟังมาจากแหล่งเดียวแล้วสรุปด้วยความคิดของตัวเอง นับเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง " ผศ.สมบัติย้ำ โดยอาจารย์นักธรณีได้กล่าวว่าผลจากการเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการมุดตัวทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินก็จริง แต่การนำเสนอข่าวไม่ควรตีความไปเอง
“ปกติถ้าอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะทำให้เกิดการเลื่อนออกไปไกลมาก แต่พื้นที่ซึ่งอยู่ไกลออกไปก็จะเกิดการเลื่อนของแผ่นดินในอัตราที่น้อยลง อย่างสุมาตราอยู่ใกล้ก็เลื่อนไป 5 เมตร ภูเก็ตไกลออกมาก็เลื่อน 15 เซนติเมตร ขณะที่พังงา ระนองซึ่งอยู่ไกลออกมาจากจุดเกิดเหตุอีก ก็อาจจะเลื่อนออกไปเพียงแค่ 2-3 เซ็นติเมตร"
"การออกมาให้ข้อมูลต้องดูด้วยว่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือที่ใช้วัดมีเท่าไหร่ จะบอกแค่เพียงตัวเลขโดยไม่บอกความคลาดเคลื่อนว่ามีกี่เซนติเมตรอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องทำงานให้เป็นวิทยาศาสตร์ อย่าใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป เพราะอย่างนั้นจะเป็นไสยศาสตร์” ผศ.สมบัติกล่าว
อย่างไรก็ดี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยากล่าวว่าเราไม่ควรสร้างความตระหนกให้แก่ประชาชน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายอย่างประเทศชิลี ที่สร้างภาพให้คนตื่นกลัวจนเกิดเรื่องเศร้าสลด ประชาชนหนีตายเนื่องจากข่าวลือเกี่ยวกับสึนามิแล้วเหยียบกันตาย อีกทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทยก็ไม่ได้รุนแรงเท่าแถบเกาะสุมาตราและประเทศญี่ปุ่น เราควรสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นมากกว่า
ท้ายที่สุด ผศ.สมบัติยังได้กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดการสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Science communication) นับว่าเป็นปัญหา ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่นักวิทยาศาสตร์ต้องมีความเข้าใจในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่สาธารณชน และต้องรู้ระดับในการถ่ายทอดความรู้ เช่น นักวิชาการด้วยกันควรสื่อสารอย่างไร หรือให้ความรู้กับประชาชนควรอธิบายอย่างไร ควรใช้คำที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น