สวทช.จัดประชุมนานาชาติหาแนวร่วมใช้นาโนเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีปลัดกระทรวงวิทย์เป็นประธานเปิดงาน ทางด้าน ผอ.นาโนเทค เผยกันไว้ก่อนจะเกิดปัญหาแบบจีเอ็มโอหรือสเต็มเซลล์ ด้วยการเร่งสร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ เป็นแนวทางที่ถูกต้องในการวิจัย ก่อนผิดพลาดและถูกต่อต้าน
วานนี้ (12 ม.ค.) ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน “การประชุมนานานาชาติการนำนาโนเทคโนโลยีพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษ”หรือ “อิสเนป” (International Symposium on Nanotechnology in Environmental Protection and Pollution: ISNEPP 2005) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-14 ม.ค.นี้
งานนี้จัดขึ้นโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติหรือนาโนเทค และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค หน่วยงานในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช.โดยความร่วมมือของสถาบันเอพีเอ็นเอฟ (Asia Pacific Nanotechnology Forum: APNF) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือเอไอที (AIT) โดยการสนับสนุนของสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งกองทัพอากาศสหรัฐ (US Air Force Office of Scientific Research: AFOSR)
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่ผู้เชี่ยวชาญของไทยจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์เทคโนโลยีด้านนาโน โดยประเด็นสำคัญของวันนี้คือการหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ เนื่องจากในหลายประเทศได้ริเริ่มนำนาโนเทคโนโลยีมาเฝ้าระวังและบำบัดสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานแล้ว
“บทบาทสำคัญของนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมมักจะเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับสารพิษต่างๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำเสียและอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาวัสดุที่มีรูพรุนขนาดนาโน เช่น ซีโอไลต์ (zeolites) นาโนเซรามิก (nanoceramic) หรือแผ่นกรองประสิทธิภาพสูงที่สามารถดักจับสารพิษต่างๆ ก่อนถูกปล่อยออกมาในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการใช้สารเร่งปฏิกิริยาขนาดนาโน (nanolites) ในการลดความเป็นพิษและย่อยสลายสารพิษที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมให้หมดไป
ศ.ดร.ไพรัช ยังกล่าวอีกว่ากระบวนการที่ใช้ในการสังเคราะห์วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตจะเปลี่ยนมาใช้การสังเคราะห์ด้วยนาโนเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีของเสียและบายโปรดักส์ (by-product) เกิดขึ้นน้อยจึงเป็นการลดขยะที่เกิดกระบวนการผลิตลงไปได้มาก
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ การรีไซเคิล (recycle) ขยะให้กลับมาใช้ได้อีก หรือการย่อยสลายขยะให้กลายเป็นอะตอมและโมเลกุลเล็กๆ เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุต่างๆขึ้นมา
ด้าน ศ.ดร. วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าวถึงที่มาในการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ศูนย์นาโนเทคและเอ็มเทคเล็งเห็นถึงประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยี และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอยางกรณีจีเอ็มโอ (GMOs) ของศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติหรือไบโอเทค ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีจนประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ประชาชนไม่ยอมรับหรือเข้าใจผิดว่ามีอันตราย
“นาโนช่วงนี้มาแรง ต้องให้นักวิชาการต่างๆช่วยกันถ่ายทอดความรู้ เพราะอีกหน่อยถ้าประสบความสำเร็จอย่างในต่างชาติอาจเกิดปัญหาอย่างเรื่องจีเอ็มโอหรือสเต็มเซลล์ (stem cell)อย่างในสหรัฐ ที่เอาเซลล์มาเพาะเป็นส่วนต่างๆในร่างกายออกมาเป็นอวัยวะใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกต่อต้านมากถ้าคนไม่เข้าใจถึงความสำคัญ” ศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว
ปัญหาต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นจากการกระเทือนทางด้านจริยธรรม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ผอ.นาโนเทค ให้เหตุผลว่าต้องให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยีในแง่ความปลอดภัย สร้างความตระหนักให้แก่นักวิชาการ ชุมชน เพราะขณะนี้อุตสาหกรรมด้านนี้เกิดขึ้นมากจึงต้องมีมาตรการมาควบคุม ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเป็นที่มาของการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และหาความร่วมมือ
“เทคโนโลยีที่มาใหม่ทุกอย่างที่มาแรงและมีผลตอบสนองสนองมากก็ย่อมจะได้รับความกังวล เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านั้นปลอดภัยจริง และยังมีการไปพูดบิดเบือนเป็นข่าวลือได้ง่าย"
"อย่างนาโนเทคโนโลยีมีคนเขียนหนังสือว่าจะผลิตหุ่นยนต์ตัวเล็กซึ่งเป็นเครื่องจักรมาสามารถขยายการผลิตต่อได้ด้วยตัวเอง ก็เกรงว่าหากนักวิจัยไปผลิตหุ่นยนต์นี้จริงแล้วเกิดหลุดลอดออกมาจะเกิดการเพิ่มจำนวนด้วยตัวมันเองก็จะเป็นอันตรายสูง ทั้งที่ในส่วนนี้ยังเป็นเพียงจินตนาการทางด้านวิทยาศาตร์เท่านั้น”ศ.ดร. วิวัฒน์ กล่าว
“ภาพพจน์ในส่วนดีของนาโนเทคโนโลยีก็มีแต่ต้องดูทั้งสองแง่ ต้องดูผลกระทบ ปัญหาก็คือถ้าไม่มีความรู้หรือนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ยารักษาโรคผิวหนังที่ดีที่สุดแต่เอาไปรับประทานก็เกิดเป็นอันตรายที่สุดได้โดยไม่ได้ตั้งใจ อะไรก็ตามที่มีข้อดีถ้าเราใช้ผิดทางก็เป็นโทษได้ ถึงมีคำกล่าวที่ว่า อะไรก็ตามที่มีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์”ศ.ดร. วิวัฒน์ สรุปท้าย