บีบีซีนิวส์ – หลังจากที่สมาคมฟิสิกส์อังกฤษออกตัวจัดกิจกรรมจักรยานโลดโผนเพื่อฉลองปีแห่งไอน์สไตน์เป็นรายแรกแล้ว ก็ยังจะเดินหน้าปรับสมการ “E=mc²” ในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ให้กลับกลายมาเป็น “บัลเลต์” ผสานนาฎศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เตรียมแสดงกลางปีนี้ที่โรงละครในลอนดอน
การแสดงบัลเลต์ชุด “คอนสแตนต์ สปีด” (Constant Speed) หรือความเร็วคงที่ กำลังกลายเป็นโปรแกรมการแสดงชุดสำคัญที่สุดในรอบปีของ “แรมเบิร์ต แดนซ์” (Rambert Dance) คณะละครที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ โดยร่วมมือกับสถาบันฟิสิกส์แห่งอังกฤษ (Institute of Physics) ซึ่งกำกับการแสดงโดยมาร์ก บาลด์วิน (Mark Baldwin) พร้อมกับมีศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์มาแนะนำเรื่องทางเทคนิกต่างๆ ให้แก่ผู้กำกับการแสดง
ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักแสดงครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อร่วมสร้างปี 2548 อันเป็นปีที่ 100 แห่งการตีพิมพ์ 3 แนวคิดสำคัญของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ส่งผลให้กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อเรื่องจักรวาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเจอร์รี โควฮิก (Jerry Cowhig) จากสถาบันฟิสิกส์ เปิดเผยว่านี่เป็นความร่วมมือกันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ นับเป็นการแสดงออกถึง “อุดมการณ์อันเป็นนามธรรม เหมือนทฤษฎีของไอน์สไตน์”
ด้วยแรงบันดาลใจจาก “ความเร็วคงที่” บาลด์วินได้มุ่งไปที่ผลงานสำคัญ 2 ชิ้นของไอน์สไตน์ คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (theory of Special Relativity) ซึ่งบรรจุสมการ อี เท่ากับ เอ็มซียกกำลังสอง (E=mc²) เอาไว้ และอีกชิ้นคือปรากฏการณ์บราวเนียน (Brownian Motion) ซึ่งทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ โดยมีกำหนดแสดงรอบปฐมทัศน์ในในวันที่ 24 พ.ค.48 ณ โรงละครแซดเลอร์ส เวลส์ในกรุงลอนดอน
”ผมมีความตื่นเต้นมาที่จะได้ทำงานชิ้นนี้ และเชื่อว่าการแสดงของพวกเรา คงจะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมไม่น้อย” บาล์ดวินเผย และจะต้องร่วมงานกับ ศ.เรย์ ริเวอร์ส นักฟิสิกส์ทฤษฎีจากอิมพีเรียล คอลเลจ (Imperial College) ซึ่งจะช่วยเหลือทางด้านทฤษฎีและเทคนิกที่อ่อนไหวต่างๆ
”ช่างเป็นสิทธิพิเศษและเป็นกียรติทีได้ทำงานกับสถาบันฟิสิกส์ ในงานสำคัญๆ เช่นนี้ ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสอันงดงามที่จะรวมศาสตร์ที่แตกต่างเข้าด้วยกัน และเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ถึงความเป็นไปได้” ผู้กำกับการแสดงบัลเลต์เชิงฟิสิกส์เผย
นอกจากนี้ โควฮิกยังได้อธิบายถึงการแสดงครั้งนี้ว่า การเต้นบัลเลต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนับเป็นสื่อการแสดงออกที่ทำให้เห็นถึงแนวคิดที่เป็นอุดมคติ เหมือนกับทฤษฎีของไอน์ไสตน์ที่กล่าวถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอนุภาคเล็กๆ แต่กลับกลายเป็นพลวัตรขับเคลื่อนทั้งจักรวาล
”ผมชื่นชอบงานของแรมเบิร์ต เพราะมักจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสื่อสารได้อย่างซาบซึ้ง อีกทั้งผมมั่นใจว่าการแสดงรั้งนี้จะทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจฟิสิกส์มากขึ้นในปีแห่งไอน์สไตน์ปีนี้” โควฮิก เล่า
อย่างไรก็ดี เพลงที่จะนำมาใช้ในการแสดงชุด “คอนสแตน สปีด” นั้นจะนำงานที่ประพันธ์ในปี 1905 (2448) ซึ่งเป็นปีที่ไอน์สไตน์นำเสนอผลงานสำคัญ อีกทั้งทีมผู้จัดทำเพลงยังพยายามจะนำเพลงที่เกี่ยวข้องกับไอน์สไตน์มาประกอบในการแสดงครั้งนี้อีกด้วย
ที่สำคัญ ไอน์สไตน์ก็ยังเคยพูดถึงเรื่องระยะทางและการเต้นรำไว้จนเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจในการแสดงครั้งนี้ว่า...
("เหล่ามวลมนุษย์ พืชผลทั้งหลาย หรือแม้แต่เสี้ยวธุลีแห่งจักรวาลอันกว้างใหญ่, เราทั้งหมดต่างกระโดดโลดเต้นไปตามเสียงเพลงลึกลับ ที่ขับขานมาจากระยะทางอันยาวไกล ด้วยฝีมือของนักดนตรีที่ไม่มีตัวตน")